×

รายจ่ายรัฐบาลไทยด้านสวัสดิการผู้สูงอายุแทบรั้งท้ายโลก ด้าน Mercer ให้คะแนนระบบบำนาญไทย ‘ต่ำสุด’ ในดัชนี

17.08.2023
  • LOADING...
สวัสดิการผู้สูงอายุ

รัฐบาลไทยอ้างว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราทำไปเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว และเป็นการหันมาใช้นโยบายการคลังแบบพุ่งเป้า (Targeted) อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลจาก ILO ชี้ให้เห็นว่า รายจ่ายของรัฐบาลไทยสำหรับสวัสดิการผู้สูงอายุคิดเป็น 1.5% ต่อ GDP เท่านั้น ถือว่าน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และน้อยกว่าประเทศที่เผชิญการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางประชากรใกล้เคียงกัน 

 

ขณะที่ข้อมูลจากดัชนี Mercer CFA Institute Global Pension Index (MCGPI) ประจำปี 2022 ซึ่งจัดทำโดย Mercer CFA Institute แสดงให้เห็นว่า ไทยได้คะแนนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับ 44 ประเทศในดัชนี สะท้อนให้เห็นว่าระบบบำนาญของไทยยังไม่แข็งแรง หมายความว่า ผู้สูงอายุชาวไทยทั้งปัจจุบันและในอนาคตแทบไม่มีหลักประกันเพียงพอ 

 

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา โดยมีสาระเพิ่มเติมคือ “ผู้มีสิทธิที่จะได้รับเบี้ยคนชราต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ” หมายความว่า ต่อไปนี้ผู้ที่กำลังก้าวสู่วัยเกษียณจะต้อง ‘พิสูจน์ความจน’ เพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว

 

ตามที่ รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า “การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยทำให้งบประมาณดูแลผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯ แก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า เป็นการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว”

 

สอดคล้องกับ กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ก่อนหน้านี้เปิดเผยว่า หนึ่งในแผนการตัดรายจ่ายเพื่อสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาวคือ การตัดงบผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ซึ่งถือเป็นการใช้นโยบายการคลังแบบพุ่งเป้า (Targeted)

 

ตามข้อมูลจากกรมกิจการด้านผู้สูงอายุ (Department of Older Persons) แสดงให้เห็นว่า งบสวัสดิการด้านผู้สูงอายุภาพรวมในปี 2566 อยู่ที่ 90,583 ล้านบาท จากจำนวนนี้ 87,580 ล้านบาทเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นอกจากนี้ เมื่อย้อนหลังกลับไปจะเห็นได้ว่า งบประมาณส่วนนี้เพิ่มขึ้นทุกปีตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2563-2566 แสดงให้เห็นว่า รายจ่ายของรัฐบาล (Public Expenditure) สำหรับสวัสดิการผู้สูงอายุ (Old Age Benefits) ของไทย คิดเป็น 1.5% ต่อ GDP เท่านั้น ถือว่าน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น จีน, มาเลเซีย, เวียดนาม, เกาหลีใต้, ศรีลังกา และปากีสถาน และน้อยกว่าประเทศที่เผชิญการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางประชากรใกล้เคียงกัน

 

อ้างอิง: Allianz Global Pension Report 2023, ILO

 

โดยรายจ่ายสำหรับสวัสดิการผู้สูงอายุที่แตกต่างกันของประเทศต่างๆ นี้ล้วนมาจากปัจจัยหลายด้าน เช่น โครงสร้างอายุประชากร ความครอบคลุมของระบบบำเหน็จบำนาญ และการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยจะเห็นได้ว่า รายจ่ายของรัฐบาลทั่วโลกสำหรับสวัสดิการผู้สูงอายุเริ่มตั้งแต่ 0.1% ในเปรู ไปจนถึง 16% ในอิตาลี

 

ระบบบำนาญไทยรั้งท้ายโลก

นอกจากนี้ จากตามดัชนีบำนาญ (Global Pension Index) ประจำปี 2022 ซึ่งจัดทำโดย Mercer CFA Institute สถาบันที่ปรึกษาระดับโลก แสดงให้เห็นว่า ไทยได้คะแนนเพียง 41.7 ถือว่าเป็นประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุดจาก 44 ประเทศในดัชนี

 

สำหรับเกณฑ์ที่ Mercer ใช้ประเมิน ได้แก่ ความเพียงพอ (Adequacy), ความยั่งยืน (Sustainability) และความครบถ้วน (Integrity)

 

โดยเมื่อดูตามเกณฑ์ดังกล่าวพบว่า ประเทศไทยได้คะแนนความเพียงพอ (Adequacy) อยู่ที่ 41.3 คะแนน อันดับ 40 ของโลก, ได้คะแนนความยั่งยืน (Sustainability) อยู่ที่ 36.4 คะแนน อันดับ 37 ของโลก และได้คะแนนความครบถ้วน (Integrity) อยู่ที่ 50 คะแนน อันดับ 41 ของโลก

 

Mercer ยังแนะว่า เพื่อให้ค่าดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้น ไทยควรทำให้พนักงานเข้าร่วมโครงการบำเหน็จบำนาญมากขึ้น รัฐบาลไทยควรเพิ่มการสนับสนุนขั้นต่ำสำหรับผู้สูงอายุที่ยากจน และปรับปรุงข้อกำหนดการกำกับดูแลสำหรับระบบบำเหน็จบำนาญเอกชน เป็นต้น

 

จากข้อมูลทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าระบบบำนาญของไทยยังไม่แข็งแรงและรั้งท้ายโลก หมายความว่าผู้สูงอายุชาวไทยทั้งปัจจุบันและในอนาคตแทบไม่มีหลักประกันเพียงพอ แต่กระนั้นรัฐไทยกลับพยายามจะคัดกรองให้ผู้สูงอายุที่ได้รับสวัสดิการเบี้ยฯ ในปัจจุบันลดน้อยลงไปอีก โดยใช้เกณฑ์ ‘พิสูจน์ความจน’ เพื่อพยายามบรรลุความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว

 

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising