×

ปิยบุตรชี้ สสร. ร่างใหม่ทั้งฉบับกับแก้รายมาตราทำพร้อมกันได้ ลั่นหากรัฐประหาร พร้อมต้านถึงที่สุด

โดย THE STANDARD TEAM
10.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (10 กันยายน) ที่อาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมนำเสนอรายงานการศึกษาของกรรมาธิการต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่าสำหรับในส่วนของตนเองนั้นได้ทำความเห็นส่วนตัวโดยสังเขปไว้ 25 หน้า ซึ่งมีอยู่หลายประเด็น โดยบางประเด็นเห็นตรงกันกับกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ ขณะที่บางประเด็นก็เห็นค้าน ซึ่งในหลายๆ ประเด็นเหล่านี้ เช่น หมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าสามารถแก้ไขได้ ไม่ได้ต้องห้าม บางกรณีในอดีตก็มีการแก้ไขมาแล้ว และถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยก็ต้องแก้ได้ ทั้งนี้ภายใต้กรอบระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

ประเด็นต่อมาคือเรื่องสภาเดี่ยว ตนสนับสนุนให้ต่อไปนี้ประเทศไทยควรมีสภาเดี่ยวได้แล้ว ประเด็นเรื่องเพิ่มเติมบทบัญญัติการลบล้างผลพวงรัฐประหารเข้าไปในรัฐธรรมนูญ เรื่องการแก้ไขที่มาขององค์กรอิสระและองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการแก้ไขระบบกระบวนการนิติบัญญัติที่จะเพิ่มอำนาจให้กับสภามากขึ้น เพิ่มบทบาทให้กับฝ่ายค้านมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการสร้างหน่วยงานใหม่ๆ เช่น ผู้ตรวจการกองทัพ ผู้ตรวจการศาล ความเห็นเหล่านี้อยู่ในความเห็นส่วนตน และถ้าหากมีโอกาสก็จะขออภิปรายในประเด็นเหล่านี้

 

“การแก้ไขแบบยกร่างใหม่ทั้งฉบับและแบบรายมาตรานั้นสามารถทำพร้อมๆ กันได้ทั้งสองแบบ เช่น คาดว่าอีก 2 สัปดาห์ร่างแก้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะเข้าสภา ก็ต้องถกเถียงกันว่าจะเอารูปแบบที่พรรคฝ่ายรัฐบาลหรือแบบที่พรรคฝ่ายค้านเสนอ แต่กว่าจะมีประชามติให้มี สสร. กว่าจะเลือกตั้ง สสร. กว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กว่าจะผ่านสภาพิจารณา กว่าจะผ่านประชามติ กว่าจะออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญต่างๆ กว่าจะมีรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบ คิดว่ารัฐบาลชุดนี้คงอยู่ครบ 4 ปีไปแล้ว ดังนั้นระหว่างทางก่อนไปถึงวันนั้นเราสามารถแก้ไขรายมาตราได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตราที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 279 ที่รับรองประกาศคำสั่ง คสช. ให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตลอดกาล มาตรา 269-272 ต้องยกเลิกเรื่อง ส.ว. 250 คน แล้วกลับไปใช้ระบบปกติ ให้ ส.ว. มีอำนาจตามระบบปกติ ไม่ต้องมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องมีอำนาจเกี่ยวกับกฎหมายการปฏิรูปประเทศ หรือไม่ว่าเรื่องเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง ระบบพรรคการเมืองต่างๆ และที่ไปไกลกว่านั้นก็ควรปรับปรุงแก้ไขการได้มาซึ่งองค์กรอิสระด้วย ดังนั้นระหว่างทางการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราสามารถทำการแก้ไขรายมาตราในสิ่งที่จำเป็นได้ เพื่อให้บรรยากาศทางการเมืองไทยดีขึ้นและทยอยกลับเข้าสู่ระบอบปกติ” ปิยบุตรกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข้อเสนอนักเรียนนักศึกษาว่าควรมีการพูดถึงในสภาด้วยหรือไม่ ปิยบุตรกล่าวว่าหน้าที่หลักของสภานั้นเป็นตัวแทนประชาชน เราปฏิเสธไม่ได้ว่านักเรียน นิสิตนักศึกษา และพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ชุมนุมกันทั่วประเทศ และจะมากขึ้นอีกในวันที่ 19 กันยายนและเดือนถัดๆ ไปนั้น ประเด็นหนึ่งที่เขาพูดกันคือเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เมื่อนอกสภาพูดแล้ว ในสภา ในฐานะผู้แทนประชาชนก็เป็นสิทธิ และตนเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จำเป็นจะต้องพูดด้วย ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใดๆ ยังอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข่าวลือรัฐประหาร ปิยบุตรกล่าวว่าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เขาได้เอาอำนาจประชาชนไป แล้วพอประชาชนเริ่มจะได้อำนาจกลับคืนก็มาเอาไปอีก ผ่านกระบวนการตุลาการภิวัตน์ ผ่านการยุบพรรคการเมือง ผ่านการรัฐประหารซ้ำในปี 2557 ผ่านการสลายการชุมนุมต่างๆ ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้เริ่มต้นติดกระดุมเม็ดแรกผิดตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ดังนั้นถ้าหากวันนี้จะหาทางออกจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยการรัฐประหารอีกรอบ คิดว่าจะเป็นการทำผิดซ้ำไปกันใหญ่ ซึ่งจริงๆ วิธีการแก้ปัญหาง่ายมากคือทำรัฐธรรมนูญให้เป็นปกติ

 

“บทเรียนที่ผ่านมาเรามีแล้ว คือกว่าที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 จะปรับเป็นประชาธิปไตยได้ เราต้องเสียเลือดเนื้อจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ในเมื่อบทเรียนมีอยู่แล้ว ทำไมยังเดินหน้าไปสู่การเสียเลือดเสียเนื้อ ทำไมยังจะเดินหน้าไปสู่การรัฐประหาร ทำไมจึงไม่แก้กันในกติกา คิดว่าวันนี้ ส.ว. หลายท่านก็ส่งสัญญาณมาแล้วว่าพร้อมจะแก้ไข อยากให้หันมาให้ความสำคัญกับการแก้รัฐธรรมนูญ อย่าใช้อำนาจนอกระบบ และถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้นเมื่อไร ขอยืนยันตรงนี้ว่าตนและ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะออกไปต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างถึงที่สุดแน่นอน” ปิยบุตรกล่าว

 

นอกจากนั้นปิยบุตรยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่าตนจะไปเป็นแกนนำการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน โดยระบุว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่งก็เอาใจช่วยผู้ชุมนุม เราต้องพยายามมองนิสิตนักศึกษาและเยาวชนว่าเขาเป็นตัวของเขาเอง เขามีความรู้ความสามารถ เขามีเสรีภาพในการเลือกที่จะแสดงออกแบบใด อย่าคิดว่ามีใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลัง ถ้าตนเป็นนิสิตนักศึกษาก็คงเสียใจที่คนมักจะมองว่ามีใครอยู่เบื้องหลังตลอด ทั้งๆ ที่เขามีวิจารณญาณ สามารถครุ่นคิดของเขาได้เอง ตนเองก็รอดูอยู่ ถ้าวันนั้นไม่มีอะไรก็เป็นพลเมืองไทยที่จะไปร่วมชุมนุมด้วยคนหนึ่ง

 

“ส่วนกรณีที่มีความเป็นห่วงเรื่องมือที่สามในการชุมนุมนั้น เราต้องคิดใหม่ว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรง มีมือที่สาม มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุม แทนที่จะชี้นิ้วไปที่ผู้ชุมนุม มันต้องชี้นิ้วกลับไปที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะว่าการชุมนุมเป็นไปตามหลักเสรีภาพอยู่แล้ว ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรงจากมือที่สามเกิดขึ้น ไม่ใช่หน้าที่ประชาชนที่จะต้องบอกว่าถ้าไม่อยากเจอมือที่สาม ไม่อยากให้เกิดความรุนแรง ก็กลับไปอยู่บ้านเฉยๆ อย่างนี้ไม่ถูก หลักที่ถูกต้องคือเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต้องควบคุม ตนคิดว่าไม่น่าจะมีบรรยากาศอะไรแบบนั้น สำหรับมือที่สาม รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ อยากให้มองเข้าไปว่าทุกคนเป็นลูกหลาน เป็นอนาคตของชาติ อย่าสร้างสถานการณ์จนบานปลายไปสู่จุดที่เราควบคุมไม่ได้” ปิยบุตรกล่าวในที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising