งานวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่า โรคระบาดใหญ่ที่โลกของเราอาจต้องเผชิญรอบใหม่ อาจไม่ได้มาจากค้างคาวหรือสัตว์ปีก แต่อาจมาจากเหตุธารน้ำแข็งละลาย หลังนักวิทยาศาสตร์ได้นำดินและตะกอนในทะเลสาบฮาเซน ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดอาร์กติกที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาทำการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม และพบความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสที่เคยฝังตัวอยู่ในน้ำแข็งจะแพร่กระจายไปยังโฮสต์ชนิดใหม่ที่เป็นสัตว์หรือมนุษย์มากขึ้น
ผลการวิจัยบ่งชี้ว่า เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ฝังตัวอยู่ในธารน้ำแข็งและชั้นดินเยือกแข็งคงตัว (Permafrost) อาจละลายตัวปนเปื้อนมากับน้ำ และส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในสัตว์ป่าในท้องถิ่นมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2016 การระบาดของโรคแอนแทรกซ์ทางตอนเหนือของไซบีเรียที่คร่าชีวิตเด็ก 1 คน และมีการติดเชื้ออย่างน้อย 7 คน ก็เป็นผลมาจากคลื่นความร้อนที่ทำให้ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวละลาย และทำให้ซากกวางเรนเดียร์ที่มีเชื้อแอนแทรกซ์ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกฝังอยู่ในน้ำแข็งโผล่ขึ้นมา เชื้อดังกล่าวจึงถูกปลดปล่อยออกมาอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้การระบาดครั้งสุดท้ายที่พบในภูมิภาคคือปี 1941
เพื่อทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงที่เกิดจากไวรัสแช่แข็งให้ดียิ่งขึ้น สเตฟาน แอริส-โบรซู และเพื่อนร่วมงานของเธอจากมหาวิทยาลัยออตตาวาในแคนาดา ได้เก็บตัวอย่างดินและตะกอนจากทะเลสาบฮาเซน ในบริเวณที่มีน้ำซึ่งเกิดจากการละลายตัวของธารน้ำแข็งในท้องถิ่นไหลเข้ามา และทำการวิเคราะห์ลำดับ RNA และ DNA ในตัวอย่างเหล่านั้นเพื่อดูว่าตรงกับเชื้อไวรัสที่เราเคยรู้จักมาก่อนหรือไม่ รวมถึงสัตว์และพืชที่อาจเป็นโฮสต์ของเชื้อไวรัส พร้อมใช้อัลกอริทึมเพื่อประเมินโอกาสที่เชื้อไวรัสเหล่านี้จะแพร่เชื้อไปยังกลุ่มสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
โดยการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B พบว่า ความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายตัวไปยังโฮสต์ชนิดใหม่นั้นสูงขึ้นในสถานที่ที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำแข็งละลาย และยิ่งโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การวิจัยในครั้งนี้ไม่ได้ระบุถึงตัวเลขที่ชัดเจนว่า พวกเขาพบไวรัสที่โลกไม่เคยรู้จักมากน้อยแค่ไหน และไม่มีการระบุว่าไวรัสเหล่านั้นสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้หรือไม่ แต่ในอดีตที่ผ่านมา มีงานวิจัยอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่า เชื้อไวรัสที่เราไม่เคยรู้จักนั้นสามารถคงสภาพอยู่ในธารน้ำแข็งได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีที่ผ่านมา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอในสหรัฐฯ ประกาศว่า พบสารพันธุกรรมจากไวรัส 33 ชนิดในตัวอย่างน้ำแข็งที่นำมาจากที่ราบสูงทิเบตในประเทศจีน โดย 28 ตัวเป็นไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งหากประเมินจากที่ตั้งแล้ว ก็เชื่อได้ว่าไวรัสดังกล่าวเป็นเชื้อโบราณที่มีอายุประมาณ 15,000 ปี
รายงานล่าสุดนี้จึงเป็นอีกครั้งที่ตอกย้ำให้เราเห็นชัดเจนว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่ส่งผลเสียในด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีแนวโน้มก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านสาธารณสุขอีกด้วย
ภาพ: Nicolas Economou / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: