ธนาคารโลกแต่งตั้ง เมลินดา กู๊ด ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและประเทศเมียนมาคนใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567
การแต่งตั้งดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญของทั้งสองประเทศ โดยประเทศไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี พ.ศ. 2569 ของกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ กรุงเทพมหานคร อีกทั้งปีนี้ยังเป็นปีที่ธนาคารโลกฉลองการครบรอบ 75 ปีที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของธนาคารโลก ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ยาวนานถึง 7 ทศวรรษในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ
ขณะที่การพัฒนาของประเทศเมียนมามีความซับซ้อนและพลิกผันเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการเกิดวิกฤตการณ์หลายอย่างที่ทับซ้อนกัน
หน้าที่หลักของกู๊ดในการรับตำแหน่งครั้งนี้คือ การกำกับดูแลโครงการต่างๆ ของธนาคารโลกในประเทศไทยและประเทศเมียนมา รวมทั้งดำเนินการเจรจาเชิงนโยบายของธนาคารโลกกับภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และพันธมิตรอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทย กู๊ดจะมุ่งเน้นไปที่การดำเนินการตามกรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Country Partnership Framework: CPF) ฉบับใหม่สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2572 ซึ่งธนาคารโลกจะใช้เป็นพิมพ์เขียวในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงอย่างยั่งยืน กรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศจะสอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มธนาคารโลกในการยุติความยากจนขั้นรุนแรง และเพิ่มความมั่งคั่งบนโลกที่น่าอยู่ร่วมกัน
ในส่วนของประเทศเมียนมา ธนาคารโลกยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนประเทศและประชาชนเมียนมาตามยุทธศาสตร์ความเปราะบาง ความขัดแย้ง และความรุนแรง (Fragility, Conflict, and Violence: FCV) ของธนาคารโลก ภายใต้การนำของกู๊ด การทำงานจะมุ่งเน้นที่การให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์ที่ครอบคลุมและคำแนะนำเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง
“ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับตำแหน่งใหม่ในฐานะผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทยและประเทศเมียนมา และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนประชาชนของทั้งสองประเทศในการรับมือกับสภาพแวดล้อมของโลกที่ซับซ้อนหลังการระบาดใหญ่ของโควิด” กู๊ดกล่าว
เมลินดา กู๊ด เป็นชาวอเมริกัน เริ่มทำงานกับธนาคารโลกในปี 2548 และมีประสบการณ์ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารหลายครั้ง รวมถึงในเอเชียใต้ที่เธอเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศอัฟกานิสถาน และผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการในประเทศปากีสถาน ก่อนที่จะร่วมงานกับธนาคารโลกกู๊ดเคยร่วมงานกับธนาคารพัฒนาเอเชียในประเทศฟิลิปปินส์และ Millennium Challenge Corporation ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เธอเริ่มต้นอาชีพของเธอในฐานะทนายความของบริษัทเอกชนในนครนิวยอร์กและประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้เธอยังเคยทำงานในเอเชียใต้, เอเชียตะวันออก, เอเชียกลาง, หมู่เกาะแปซิฟิก และอเมริกาเหนือ
ความร่วมมือที่มุ่งเน้นไปด้านความรู้ระหว่างธนาคารโลกกับประเทศไทย ได้รวมเอาระบบวิเคราะห์ที่ล้ำหน้าและการบริการให้คำปรึกษา เพื่อสนับสนุนแนวทางการพัฒนาของประเทศ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารโลกในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ, การบริหารการคลังและเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ดังนั้นความร่วมมือนี้จึงมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยอีกด้วย
ปัจจุบันธนาคารโลกร่วมมือกับหน่วยงานรัฐของไทยหลายหน่วยงาน เพื่อประเมินนโยบายด้านนวัตกรรมของประเทศ ปรับปรุงคุณภาพการศึกษา และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองรองต่างๆ ให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง
ในประเทศเมียนมา ธนาคารโลกได้ดำเนินงานศึกษาแบบวิเคราะห์เชิงลึก พัฒนาความรู้ในพื้นที่ และเผยแพร่ข้อมูลเหล่านั้นในวงกว้างผ่าน World Bank Myanmar Monitoring Platform นอกจากนี้ธนาคารโลกยังให้ความช่วยเหลือชุมชนเปราะบางของเมียนมาผ่านโครงการ Myanmar Community Support Project (MCSP) ซึ่งมีเป้าหมายในการเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต โดยโครงการดังกล่าวดำเนินการโดยโครงการอาหารโลก (World Food Programme) และคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (International Committee of the Red Cross)
ภาพ: NurPhoto / Contributor / Getty Images