×

ฝ่าคลื่นลมการลงทุนเมกะเทรนด์ ใจต้องแกร่ง มองให้ไกล

19.06.2023
  • LOADING...
การลงทุน

ในที่สุดเราก็ก้าวเข้าสู่กลางปี 2566 กันแล้ว เชื่อว่าเวลานี้มีแต่คนอยากทิ้งตัวแรงๆ (บนฟูก) แล้วลืมตาขึ้นมาเจอตลาดหุ้นเขียวสดใสบ้าง

 

แต่ในโลกความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ไม่มีใครเคยคาดเดาเรื่องต่างๆ ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ยิ่งโลกยุคดิจิทัลที่หมุนเร็วมากๆ ความเสี่ยงต่างๆ ก็จะพัดผ่านตามเข้ามาเร็วเช่นเดียวกับโอกาสด้วย

 

และปีนี้เป็นอีกปีที่ทั่วโลกเผชิญกับความผันผวนสูง นักลงทุนโดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนต่างเหน็ดเหนื่อย เคร่งเครียดกับการบริหารความเสี่ยงที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน สินทรัพย์ต่างๆ ยังไม่ทันจะฟื้นตัวขึ้นมาได้เต็มที่หลังวิกฤตโควิด ก็ต้องมาต่อด้วยพิษดอกเบี้ยขาขึ้นจากสหรัฐฯ ที่เบนเข็มทิศนโยบายการเงิน ทั้งปรับขึ้นดอกเบี้ยแรง เร็ว และถี่ พร้อมๆ กับการดึงสภาพคล่องกลับ เพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อพุ่งกระฉูดรอบ 40 ปี และเศรษฐกิจร้อนแรงตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำเอาสินทรัพย์ต่างๆ ที่ยังไม่ทันได้ฟื้นตัวดีนักก็ร่วงระเนระนาดไปกันคนละทิศทาง ทั้งสินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ กองทุนรวม ไล่เรียงไปจนถึงสินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างหุ้น ที่ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มธีมเมกะเทรนด์ต่างๆ ที่ถูกยกให้เป็นธุรกิจที่เติบโตยาวๆ 10-20 ปีในวัฏจักรโลกอนาคต

 

คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกปลอดภัยเมื่อลงทุนผ่านกองทุนรวม เพราะมีมืออาชีพและผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในการบริหารเงินลงทุนเข้ามาช่วยดูแลพอร์ตลงทุนให้เรา เราเคยเห็นผลตอบแทนสวยๆ แต่วันนี้ผ่านมาเป็นปี ทำไมผลดำเนินงานกองทุนรวมต่างๆ จำนวนไม่น้อยต้องเจอตัวเลขติดลบไม่ต่างกันกับลงทุนเอง แต่ไม่ว่าคุณจะเจออะไรที่รู้สึกไม่แฮปปี้ โปรดจงรู้ไว้ว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียว คุณมีเพื่อนนักลงทุนทั่วโลกที่ต่างก็ตกอยู่ในภาวะเดียวกับคุณอยู่ทุกวันนี้ จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการกระจายความเสี่ยงของแต่ละคน

 

มืออาชีพการลงทุนแค่ไหนก็ผลงานร่วงได้ เมื่อเจอปัจจัยโลกรุมเร้า

เชื่อว่านักลงทุนทุกคนไม่ได้ลงทุนเพียงแค่สินทรัพย์เดียวในพอร์ตเท่านั้น คุณจะต้องมีการกระจายความเสี่ยงบ้างแน่นอน แม้แต่ตัวผมเองก็กระจายความเสี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ด้วยน้ำหนักที่แตกต่างกันไป และยึดหลักการลงทุนสาย VI มาตลอด ซึ่งแน่นอนว่า VI มีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว ซึ่งก็ยอมรับว่าในพอร์ตมีสินทรัพย์บางส่วนที่ติดลบบ้าง บางส่วนก็ยังเป็นบวก และบ้างก็ปริ่มๆ น้ำ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นความผันผวนที่ผ่านเข้ามาในระยะสั้น ตามกระแสข่าวต่างๆ ที่มากระทบการลงทุน แต่เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป และสินทรัพย์ที่ลงทุนไปก็จะฟื้นตัวกลับมาเร็วและเติบโตต่อไปตามเป้าหมายระยะยาว

 

นี่คือ Mindset ที่ผมยึดมั่นในหลักการลงทุนวิถี VI มาตลอดชีวิตนักลงทุนของผม นอกจากมีผมเป็นเพื่อนแล้ว ยังมีนักลงทุนมืออาชีพระดับโลกอีกจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในภาวะเดียวกับพวกเรา และหนึ่งในคนที่โลกโฟกัสทิศทางการลงทุนมาตลอดก็คือ ผู้จัดการกองทุนเทคยักษ์ใหญ่ชื่อดังของโลกอย่าง ‘เคธี วูด’ ซีอีโอหญิงแกร่งของ ARK Investment Management ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารมูลค่าระดับหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เน้นบริหารกองทุนรูปแบบ ‘Active ETF’ เน้นการลงทุนเชิงรุกในเทคโนโลยีและนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ได้แก่ AI, Blockchain, DNA Sequencing, Energy Storage หรือ Robotics 

 

แม้บ้างธุรกิจอาจมีขนาดเล็ก ยังไม่ทำกำไรหรือขาดสภาพคล่อง แต่เธอก็เชื่อว่าเทรนด์การลงทุนในเทคโนโลยีมีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการเปลี่ยนแปลงของ Digital Transformation รอบชีวิตของมนุษย์ เพราะเธอเชื่อว่า ‘นวัตกรรมคือหัวใจสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของโลกในอนาคต’ นี่คือที่มาที่ทำให้หุ้นเทคฯ บูม และในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเธอสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า 100% ทุกกองทุน เป็นกลุ่มกองทุนที่มีความโดดเด่นที่สุดในตลาด จนโลกต้องจับตามองทิศทางการลงทุนของเธอ และเป็นกองทุนใหญ่ที่บริหารพอร์ต Thematic มีกองทุนเมกะเทรนด์ต่างๆ ให้ลงทุนมากมาย 

 

ในปี 2563 ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดที่ก่อให้เกิดกระแส New Normal ชีวิตขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล หลายประเทศอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นี่คือจุดพีคของธุรกิจเทคโนโลยีที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ เม็ดเงินไหลเข้าหาหุ้นเทคฯ จนราคาทำนิวไฮกันอย่างรวดเร็ว เพื่อรับกับผลดำเนินงานที่เติบโตพุ่งแรง กองทุน ARK ที่เติบโตมากับสายนี้แต่แรกจึงวิ่งราวรถไฟเหาะ

 

ตัดภาพมาที่ปี 2564-2565 จีนคุมเข้มธุรกิจเทคโนโลยี ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว หุ้นทั่วโลกร่วงระเนระนาดไปตามๆ กัน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ที่ได้รับผลกระทบหนัก ส่งผลกระทบต่อมูลค่าพอร์ตของกองทุน ARK ร่วงลงหนักตามตลาดไปด้วย 

 

ขอยกตัวอย่างกองทุน ARK ที่คนไทยน่าจะรู้จัก เช่น กองทุน ARK Innovation ETF (ARKK), กองทุน ARK Fintech Innovation ETF (ARKF), กองทุน ARK Genomic Revolution ETF (ARKG), กองทุน ARK Autonomous Technology & Robotics ETF (ARKQ), กองทุน ARK Next Generation Internet ETF (ARKW) และ Nikko AM ARK ซึ่งผลดำเนินงานของกองทุนเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบจากความผันผวนในระยะสั้นที่เกิดจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แม้ว่าวันนี้จีนจะผ่อนคลายการควบคุมธุรกิจเทคโนโลยี หุ้นเทคฯ ทั่วโลกเริ่มกลับมาพลิกฟื้นกันคึกคัก แต่ก็อาจจะเห็นบางส่วนที่ยังไม่กลับมาเท่าเดิมได้

 

เช่นเดียวกับบรรดาธีมเมกะเทรนด์ ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแห่งอนาคตวันนี้ก็ยังไม่ได้พลิกฟื้นกลับมาสดใสเท่าที่ควร เพราะยังมีความไม่แน่นอนของภาพเศรษฐกิจใหญ่อย่างสหรัฐฯ ว่าจะชะลอตัวหรือเกิดภาวะถดถอยในช่วงปลายปีนี้กันแน่ หรือปัจจัยดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวระดับสูง และ Fed ก็ยังไม่ปิดตายประตูการขึ้นดอกเบี้ย จึงกลายเป็นภาพความผันผวนที่ยังเข้ามาวนเวียนในตลาดเป็นระยะๆ นี่คือภาพระยะสั้นที่ยังไม่ชัดเจน และภาพเศรษฐกิจในระยะยาวก็ไม่ชัดเจนตามไปด้วย ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกซบเซาอย่างที่เห็น

 

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้จะเห็นว่า ในเส้นทางของการลงทุนระยะยาวไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงความผันผวนที่เกิดขึ้นระหว่างทางจากปัจจัยแวดล้อมที่เราไม่สามารถควบคุมได้

 

จริงๆ แล้วปี 2565 เป็นปีที่ตลาดหุ้นใหญ่ๆ พลิกเป็นขาลงครั้งแรก หลังจากอยู่ในขาขึ้นติดต่อกันนานกว่า 13 ปี ถือเป็นสถิติตลาดหุ้นขาขึ้นที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์เหมือนกัน

 

แน่นอนว่าอะไรที่เคยพุ่งขึ้นต่อเนื่องนานๆ เมื่อถึงเวลา ‘ลง’ แรงกระแทกก็จะรุนแรง สร้างความเสียหายมากเป็นพิเศษอย่างที่เห็นในปีที่แล้ว และต่อเนื่องมาถึงปีนี้ พอร์ตการลงทุนเสียหายกันถ้วนหน้า อาจจะมากหรือน้อยต่างกันไปตามหลักการลงทุน ผมไม่เถียงว่าใครที่ลงทุนธีมเมกะเทรนด์ หากดูในระยะสั้นก็เสียหายเหมือนกัน แต่หากดูผลตอบแทนระยะยาวผมเองก็ยังใจชื้น เพราะเชื่อมั่นในหลักการลงทุน VI ของผม ที่สำคัญผมขอย้ำนะ หุ้นขึ้นมาติดต่อกันถึง 13 ปี แล้วคุณเพิ่งจะเจอหุ้นลงใน 1-2 ปีนี้เอง

 

ยาบรรเทาใจนักลงทุนระยะยาว 

กระแสการลงทุนใน Thematic ที่เคยฮอตฮิต เวลานี้นักลงทุนมีคำถามค้างคาใจเข้ามามาก ผมเองก็เข้าใจอารมณ์นักลงทุนที่เผชิญสถานการณ์ระยะสั้นกับกระแสขึ้น-ลงเป็นรถไฟเหาะ หากเห็นมูลค่าเงินลงทุนที่ลดลงย่อมมีอารมณ์ความรู้สึกหวั่นไหวบ้าง แต่เราต้องมีจิตใจที่แข็งแกร่ง ยึดหลักการลงทุนระยะยาว และหมั่นหาข้อมูลอยู่เสมอ ซึ่งผมจะพยายามหาคำตอบมาช่วยคลายข้อสงสัยของเพื่อนๆ นักลงทุน

 

ขอเริ่มที่เรื่องของ Mindset การลงทุนเพื่อรับมือตลาดหุ้นผันผวนที่นักลงทุนหลายท่านขอคำแนะนำมา เพื่อให้นักลงทุนมีความเข้าใจธรรมชาติของตลาดและวัฏจักรเศรษฐกิจมากขึ้น ผมขอให้ข้อมูลสถิติย้อนหลังที่ทีมงาน Jitta Wealth ได้รวบรวมมา เราพบว่าในช่วง 94 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2471-2565 ดัชนี S&P 500 มีปีที่ผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ที่ 62 ปี และปีที่ผลตอบแทนเป็นลบอยู่ที่ 31 ปี และปีที่ตลาดหุ้นไม่ไปไหนอีก 1 ปี นั่นหมายความว่าถ้าเราลงทุนในรอบเกือบ 100 ปี เราจะเจอช่วงตลาดหุ้นเป็นบวกมากกว่าตลาดหุ้นเป็นลบ

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ก่อตั้งตลาดในปี 2518 มีปีที่ผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ที่ 27 ปี และผลตอบแทนเป็นลบอยู่ที่ 20 ปี ในขณะที่ช่วง 20 ปีล่าสุดมีปีที่ผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ที่ 12 ปี และผลตอบแทนเป็นลบอยู่ที่ 8 ปี

 

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) หรือตลาดหุ้นไทย (SET Index) จะมีปีที่ผลตอบแทนเป็นบวกมากกว่าผลตอบแทนเป็นลบ ซึ่งหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรเศรษฐกิจ ดังนั้น หากเรามีความตั้งใจที่จะลงทุนระยะยาวก็สอดคล้องกับภาวะตลาดที่แท้จริง ระยะเวลาการลงทุนที่ผ่านทั้งช่วงเศรษฐกิจที่แย่และดี ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในหุ้นจะอยู่ที่ประมาณ 5-7 ปี ข้อมูลสถิตินี้น่าจะทำให้คุณใจชื้น อดทนและรอคอยนะ

 

การลงทุนแบบ Thematic  สร้างความเจ็บปวดให้กับนักลงทุนที่หมั่นดูพอร์ต นั่งมองราคาปรับลงทุกวัน จนไม่กล้าที่จะ DCA เพิ่ม จนเกิดคำถามว่ากลยุทธ์ DCA เหมาะกับการลงทุนใน Thematic หรือไม่ ซึ่งปกติแล้ว DCA เป็นกลยุทธ์ที่จะถัวราคาสินทรัพย์บางอย่างที่ราคาผันผวน แต่ระยะยาวมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เป็นการถือสินทรัพย์ให้ผ่านทั้งช่วงขาลงและขาขึ้น แต่การปรับพอร์ตเปลี่ยนธีมทุก 3 เดือนที่ผ่านมากลับทำให้เห็นแค่ขาลงของสินทรัพย์ พอถึงจุดหนึ่งก็เปลี่ยนธีม จึงทำให้คุณไม่เคยเห็นจังหวะขาขึ้นของธีมที่เคยถือเลย

 

สำหรับนโยบายการลงทุน ‘Thematic Optimize’ และ ‘Thematic DIY’ ของ Jitta Wealth เป็นการลงทุนผ่านระบบอัลกอริทึมที่จะสรรหาสินทรัพย์คุณภาพดีเข้ามาในพอร์ต เน้นสรรหาธีมที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งในช่วงนั้นๆ จากทั้งหมด 19 ธีม โดยไม่ได้เกี่ยงว่าสินทรัพย์นั้นจะเป็นสินทรัพย์เดิมหรือสินทรัพย์ใหม่ ขอเพียงเป็นสินทรัพย์ที่ดีตรงตามเงื่อนไข ระบบอัลกอริทึมก็สามารถเก็บเอาสินทรัพย์นั้นเข้ามาในพอร์ต บางครั้งมูลค่าสินทรัพย์สุทธิหรือ NAV ก็มีโอกาสปรับลดลง ซึ่งอาจจะมาจากราคาสินทรัพย์ปรับร่วงหรือสินทรัพย์มีพื้นฐานที่เปลี่ยนไป ดังนั้น การลงทุน หรือ DCA ในช่วงที่มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ปรับร่วงนักลงทุนจะได้หน่วยลงทุนที่มากขึ้น และเมื่ออัลกอริทึมสรรหาสินทรัพย์ที่ดีและราคาสินทรัพย์นั้นปรับเพิ่มขึ้น NAV ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จำนวนหน่วยที่มากขึ้นจากการ DCA ในช่วงพอร์ตปรับลดลงจะทำให้มูลค่าพอร์ตโดยรวมเพิ่มขึ้นในที่สุด

 

ขณะที่การคำนวณผลตอบแทน Back Test ของ Thematic Optimize จะเป็นการทดสอบผ่านข้อมูลสถิติย้อนหลัง ล่าสุดการทำ Back Test จะเป็นการทดสอบข้อมูลตั้งแต่ปี 2562-2565 ซึ่งรู้กันดีว่าปี 2565 ตลาดหุ้นปรับลดลงทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีที่ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่สหรัฐฯ มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรง เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อสูงและชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ซึ่งภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นลบต่อหุ้นเทคโนโลยี จึงทำให้ธีมที่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีปรับร่วงสอดคล้องกัน เมื่อเทียบจากช่วงที่เปิดตัวมี Thematic Optimize เราทำ Back Test ด้วยข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2561-2564 ทำให้ผลตอบแทน Back Test ในปัจจุบันปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม Thematic Optimize ได้ทำการทดสอบผ่าน Back Test อย่างเป็นระบบมาแล้ว สามารถเลือกธีมที่ทำผลตอบแทนได้ชนะรูปแบบอื่นๆ และเมื่อมีธีมใหม่เพิ่มเข้ามาทีมงานจะปรับปรุงระบบอัลกอริทึมให้เรียนรู้ เพื่อคัดเลือกธีมที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นและสามารถเลือกธีมให้ได้ผลตอบแทนในระดับ Percentile สูงๆ เหมือนเช่นในอดีต

 

ลงทุนแบบ Thematic คือการลงทุนระยะยาวที่แท้จริง

ในเรื่องธีมการลงทุนนั้น สำหรับผมธีมเมกะเทรนด์ที่โดดเด่นยังมีหลายธีมที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นธีมพลังงานสะอาด, ธีมลิเธียมและแบตเตอรี่, ธีมเฮลท์แคร์ หรือธีมเทคโนโลยี 

 

แต่ในเวลานี้ก็มีนักลงทุนตั้งคำถามว่า ธีม Metaverse เป็นธีมที่กำลังจะมาถึงจุดจบแล้วหรือไม่ ผมมองว่าการด่วนสรุปแบบนี้อาจจะเร็วเกินไป เพราะหากพิจารณาตามเส้นโค้งของอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม Metaverse ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่หรือ Innovators เป็นการใช้เฉพาะกลุ่มคนเล็กๆ ถึงแม้ว่าหลายบริษัทจะละทิ้งการลงทุน แต่ยังมีกลุ่มคนที่ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่จะเป็นการพัฒนาไปอย่างมั่นคง ไม่ได้พัฒนาอย่างเร่งด่วนเหมือนในอดีต เช่น ข่าวที่ว่า Apple เตรียมเปิดตัวแว่นตา AR/VR เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่เอาไว้เชื่อมต่อกับโลก Metaverse ในเดือนมิถุนายนนี้

 

‘Henrique’ นักลงทุน Venture Capital ผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain และ Metaverse ได้วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรม Metaverse แบ่งออกเป็น 4 Stage โดยปัจจุบันเรายังอยู่ใน Stage ที่ 1 ของอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งใน Stage นี้เป็นช่วงของการสื่อสารในโลกเสมือนจริงผ่านอุปกรณ์ VR ที่ยังไม่สามารถมอบประสบการณ์ระดับประสาทสัมผัสในหลายๆ ด้านได้

 

ส่วน Stage 2-4 นั้นจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางในโลก Metaverse ให้ผู้ใช้งานได้รับรู้ถึงประสาทสัมผัสทั้งหมดเสมือนจริง จะแยกไม่ออกว่าอะไรคือโลกแห่งความจริงและอะไรคือโลกเสมือน

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าใน Stage ที่ 1 นี้รายได้หลักของบริษัทที่อยู่ในธีม Metaverse ไม่ได้มาจากธุรกิจ Metaverse แต่มาจากธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ Metaverse เช่น NVIDIA มีรายได้หลักมาจากการผลิตชิปประมวลผลในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เกม Data Center และคอมพิวเตอร์ ส่วน Apple รายได้หลักมาจากการขายสินค้าฮาร์ดแวร์ เช่น iPhone, iPad หรือ Mac 

 

หรือแม้กระทั่ง Meta ถึงแม้จะเป็นตัวตั้งตัวตีในการริเริ่มด้าน Metaverse แต่รายได้หลักของ Meta ยังมาจากโฆษณา Facebook ขณะที่ Metaverse เป็นเพียงหน่วยธุรกิจย่อยของ Meta เท่านั้น 

 

อย่างไรก็ตาม หากเรายังเชื่อใน Metaverse เราก็ยังสามารถลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำในโลก Metaverse ในอนาคตได้ต่อไป ซึ่งนักลงทุนสามารถวางใจได้ว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดถ้าโลก Metaverse ไม่เกิดขึ้นจริง บริษัทเหล่านี้ก็ยังคงดำเนินกิจการที่เป็นธุรกิจหลัก และเติบโตตามความเชี่ยวชาญของตนเอง

 

ดอกเบี้ยลงแล้วหุ้นจะขึ้นแค่ไหน… ถึงเวลาทางรอดการลงทุนด้วย DCA 

สำหรับมุมมองในระยะข้างหน้า ดอกเบี้ยจะปรับลดลงเมื่อไร และหุ้นจะขึ้นได้หรือไม่ จากข้อมูลของ Franklin Templeton คาดว่า จะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในราวปลายปี 2566 นี้ ซึ่งประเมินว่าดอกเบี้ยน่าจะเริ่มปรับลดลงได้ในปี 2567 ซึ่งในภาวะดอกเบี้ยขาลงจะเป็นบวกต่อตลาดหุ้น และน่าจะได้เห็นหุ้นวิ่งในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า แต่ก็มีข้อสังเกตกันว่า ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจจะรุนแรงมากกว่าในเรื่องของดอกเบี้ยที่จะปรับลง นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจจาก Franklin Templeton ที่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในเวลาที่ดอกเบี้ยลง สินทรัพย์ที่เสี่ยงสุดกลับวิ่งได้น้อยที่สุด 

 

ทุกอย่างต้องใช้เวลา ผมยังอยากย้ำว่า ถ้าคุณยังเชื่อมั่นในเมกะเทรนด์ที่มีอนาคตเติบโตในระยะยาว คุณต้องใจนิ่ง อดทน และมองระยะยาว เพื่อรอดูพอร์ตเติบโตตามเป้าหมาย

 

ใครที่บาดเจ็บอยู่กับการลงทุน ผมอยากให้ทบทวนดูว่า สินทรัพย์ที่คุณลงทุนราคาปรับลดลงเนื่องจากปัจจัยอะไร ผลประกอบการยังดีหรือไม่ และยังมีอนาคตหรือไม่ เช่น ยังเป็นสินค้าและบริการที่คนต้องใช้ต้องกินในชีวิตประจำอย่างไร เป็นต้น หากเห็นแนวโน้มรายได้ของธุรกิจยังเติบโต ยอดขายที่ดีต่อเนื่อง ส่วนต่างกำไรและกำไรที่เกิดขึ้น กระแสเงินสด รวมถึงฐานะการเงินแข็งแกร่ง หากหุ้นของบริษัทเหล่านี้อยู่ในธีมเมกะเทรนด์ที่คุณลงทุนอยู่ ก็ถือว่าหุ้นมีพื้นฐานดีในราคาที่ต่ำลง จากนี้ก็เป็นทางเลือกของคุณว่าจะใส่เงินลงทุนเพิ่มหรือไม่

 

หวังว่าคำตอบเหล่านี้น่าจะพอช่วยคลายสงสัยและบรรเทาจิตใจคุณให้ดีขึ้นมาได้บ้าง

 

สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากเครื่องมือดีๆ เป็นทางรอดในการบริหารพอร์ตไว้สำหรับทุกคน เป็นกลยุทธ์ลงทุนที่เรียบง่ายอย่างลงทุนทันทีเมื่อคุณตั้งสติได้ ‘ถัวเฉลี่ย DCA’ จะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวแบบน่าประทับใจ เพราะการมีวินัยการลงทุน คุณเคยซื้อช่วงเวลาไหนในแต่ละปี หรือเป็นรายเดือน หรือเป็นช่วงเวลา 3 เดือน คุณก็ควรทำอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีใครสามารถซื้อในช่วงเวลาต่ำสุดและขายในช่วงเวลาสูงสุดได้ แต่หากคุณซื้อถัวเฉลี่ย คุณจะได้ราคาที่ดีกว่าตลอดทั้งปี และเมื่อคุณถึงเป้าหมายการลงทุน คุณจะสามารถขายได้อย่างสบายใจ

 

วิถี DCA จะช่วยให้คุณไม่จำเป็นต้องติดตามข่าวสารตลาดหุ้นทุกวันจนไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น แต่ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะไม่ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวใดๆ ของโลกเลยนะ แม้ว่าจะเป็นการลงทุนระยะยาวก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ต้องดูแลพอร์ตด้วยการรู้ว่าเงินของคุณลงทุนอยู่ในสินทรัพย์อะไรบ้าง หมั่นหาข้อมูลด้วยตัวเองหรือจากที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อ Roundup สถานการณ์ต่างๆ ว่าจะกระทบต่อเงินลงทุนคุณมากหรือน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องปรับพอร์ตหรือไม่

 

การลงทุนระยะยาวไม่ใช่ปล่อยให้พอร์ตนอนนิ่งๆ นานๆ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X