วานนี้ (22 เมษายน) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และคณะ ร่วมแถลงผลปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างโรงงานผลิตยารักษาเห็บหมัดเถื่อนในพื้นที่ เขตลาดกระบัง ตรวจยึดของกลางกว่า 40,450 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 500,000 บาท
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ทำการตรวจสอบสถานที่ผลิตยาสำหรับหยดกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัขและแมวโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากนำมาใช้อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการรักษา ให้มีอายุขัยเฉลี่ยน้อยลงกว่าวัยอันควร เกิดภาวะช็อก หมดสติ หรืออาจเสียชีวิต อีกทั้งแม้ยาดังกล่าวไม่มีผลโดยตรงกับมนุษย์ แต่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนหาข่าวจนทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิต สถานที่จัดเก็บ และพบว่ามีการลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสัตว์ปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 2 จุด ได้แก่
- สถานที่จัดเก็บสินค้าบ้านพักในพื้นที่แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขยี่ห้อฟีติก (ปลอม) จำนวน 300 ขวด
สถานที่ผลิตและจำหน่าย บ้านพักในพื้นที่แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขและแมวยี่ห้อต่างๆ วัตถุดิบที่ใช้ผลิต รวมทั้งฉลากบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อฟีติก (ปลอม) จำนวน 805 ขวด
- ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดแมว ยี่ห้อ Front 3- 1 ฉลากสีฟ้า จำนวน 295 ขวด
- ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Front 3- 1 ฉลากสีเขียวอ่อน จำนวน 34 ขวด
- ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Front 3- 1 ฉลากสีส้ม จำนวน 48 ขวด
- ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Detick จำนวน 35 ขวด
- ผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัข ยี่ห้อ Alprocide จำนวน 48 ขวด
- ยารับประทานกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัข ยี่ห้อ En-Dex 8000 ฉลากระบุตัวยาสำคัญ Ivermectin (ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ) จำนวน 360 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก ยี่ห้อ เอธีนา 25 (ฟิโพรนิล 25%) จำนวน 14 ขวด
- ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก ยี่ห้อ เอธีนา 25 (ฟิโพรนิล 25%) ผสมแอลกอฮอล์ จำนวน 2 ขวด
- สติกเกอร์ยี่ห้อฟีติก, ซีอุส, Front 3 in 1 และ Detick จำนวน 11,900 ชิ้น
- กล่องบรรจุภัณฑ์ จำนวน 3,085 ชิ้น
- ฝาครอบชุดยาเห็บหมัด จำนวน 14,650 ชิ้น
- แอลกอฮอล์ จำนวน 1 แกลลอน
- ไซริงค์ จำนวน 90 ชิ้น
- จุกใน จำนวน 2,500 ชิ้น
- ฝาอะลูมิเนียม จำนวน 10,000 ชิ้น
- จุกยาสีเทา จำนวน 10,000 ชิ้น
- ขวดแก้วใส 1,000 ชิ้น
รวมตรวจค้น 2 จุด ตรวจยึดวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม จำนวน 1,105 ขวด, วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายสาธารณสุข (วอส.) จำนวน 460 ขวด, ยารับประทานกำจัดเห็บหมัดสำหรับสุนัข ยี่ห้อ En-Dex 8000 (ยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับ) จำนวน 360 กล่อง, ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกที่ใช้เป็นส่วนผสม, ฉลาก บรรจุภัณฑ์ ฝาอะลูมิเนียม และขวดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ผลิต จำนวน 38,825 ชิ้น รวมทั้งสิ้น 40,450 ชิ้น
จากการสืบสวนทราบว่าผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขยี่ห้อฟีติกที่ถูกปลอมนั้น ได้รับอนุญาตให้ผลิตและจัดจำหน่ายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมี บริษัท เคมแฟค จำกัด เป็นผู้ผลิต ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
แต่กลุ่มเครือข่ายดังกล่าวฉวยโอกาสปลอม โดยซื้อส่วนประกอบบางชนิดมาบรรจุเอง และแพ็กลงในบรรจุภัณฑ์ภายในบ้านพักย่านแขวงทับยาว เขตลาดกระบัง ให้มีลักษณะเหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย.
นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับหยอดกำจัดเห็บหมัดสุนัขและแมวยี่ห้ออื่นๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยนำผลิตภัณฑ์กำจัดปลวกมาผสมกับแอลกอฮอล์ จากนั้นกรอกใส่ภาชนะโดยใช้แรงงานคน โดยไม่มีการชั่งตวงวัดปริมาณส่วนประกอบอย่างมีมาตรฐาน ในสถานที่ผลิตที่ไม่สะอาด และไม่ถูกสุขลักษณะ ส่งขายราคาขวดละ 50-70 บาท ผ่านแอปพลิเคชันซื้อ-ขายออนไลน์ และตามเพ็ทช็อปทั่วประเทศ มียอดขายประมาณเดือนละ 4,000-5,000 ชิ้น โดยทำมาแล้วประมาณ 3 ปี
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ยาและวัตถุอันตรายที่ตรวจยึด เจ้าหน้าที่ อย. ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันผลตรวจวิเคราะห์อีกครั้งเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม
- พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510
- กรณียารับประทานเพื่อกำจัดเห็บหมัด ผู้จำหน่ายจะมีความผิดฐาน ‘ขายยาไม่ขึ้นทะเบียนตำรับยา’ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ‘ขายยาไม่ได้รับอนุญาต’ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
- ฐาน ‘ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต’ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐาน ‘ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ปลอม’ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 7 แสนบาท
- ฐาน ‘ผลิตวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ขึ้นทะเบียน’ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท
- ฐาน ‘ขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง โดยเป็นการกระทำของผู้ผลิต’ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท