วันนี้ (5 พฤษภาคส) พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. โดยมีคณะผู้บริหาร กทม. สำนักการแพทย์ สำนักอนามัย คณะแพทย์จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมประชุม
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ขณะนี้เป็นสถานการณ์พิเศษ ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการปฏิบัติที่เข้มข้นมากกว่าปกติ ด้วยความห่วงใยในสถานการณ์แพร่ระบาดในปัจจุบัน กทม. จึงได้เตรียมพร้อมยาฟาวิพิราเวียร์กว่า 600,000 เม็ดเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยในที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแนวทางการใช้ยาเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
และเห็นร่วมกันว่าการให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยเร็วจะมีผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่าการให้ยาช้า รวมทั้งเห็นว่าแนวทางปฏิบัติเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นแนวทางหลักที่ต้องถือปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม กทม. จะกำหนดมาตรการเสริมเพิ่มเติม อาทิ การเร่งตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างเข้มข้น จากนั้นจะคัดกรองผู้ป่วยตามระดับอาการป่วยแบ่งเป็นสีเขียว เหลือง และแดง และนำส่งต่อระบบการรักษาพยาบาล
ในส่วนของผู้ป่วยที่อยู่ระดับสีเขียวคือไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย รวมทั้งไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงของโรคจะได้รับการรักษาและติดตามอาการตามที่ กทม. กำหนด คือการให้ยาฟาวิพิราเวียร์เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงของโรค โดยเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวบางส่วนเท่านั้นที่จะได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ คือต้องอยู่ในเกณฑ์ตามการประเมินของแพทย์ที่ กทม. อาทิ เป็นผู้ป่วยที่มีปริมาณไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้อื่นและเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้หากได้รับยาตั้งแต่แรกได้และรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5-10 วัน จะช่วยรักษาไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยระดับสีเหลืองหรือสีแดงในอนาคตได้ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวนี้ต้องให้ความยินยอมในการรักษาด้วย
ทั้งนี้ กทม. จะจัดให้มีระบบการจัดเก็บข้อมูลจากการรักษา รวมทั้งมีมาตรการป้องกันผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการรักษาเพื่อปกป้องผู้ที่เข้าร่วมการรักษา และต้องมีการประเมินผลว่าการดำเนินตามนี้จะมีผลดีต่อการรักษาด้วยยาอย่างไร หรือจะมีผลทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในอนาคตหรือไม่ ซึ่งการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ครั้งนี้จะเป็นไปภายใต้การควบคุมของแพทย์ มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล มีระบบการติดตามผลและประเมิน ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะร่วมให้คำแนะนำในการศึกษา ติดตาม และประเมินผลครั้งนี้ด้วย และหากพบว่าการรักษาตามที่ กทม. กำหนดครั้งนี้เกิดประโยชน์ อาจนำไปเพิ่มเติมในคำแนะนำในการดูแลรักษาระดับประเทศต่อไปในอนาคตได้
สำหรับในปัจจุบันนี้ กทม. มีผู้ป่วยสะสมในพื้นที่ 1,478 ราย ในระดับสีเขียวคืออาการเพียงเล็กน้อย กว่า 1,192 ราย ระดับสีเหลือง 199 ราย และระดับสีแดง 38 ราย ที่ยังไม่ได้รับยา ซึ่งจะได้รับยาต่อเมื่อเลื่อนระดับอาการเป็นสีเหลืองและแดง คือมีปอดอักเสบและอาการรุนแรง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า