×

มองผ่านเลนส์สื่อ ‘4 ปีทรัมป์เปลี่ยนโลก’ จากน้ำตาแห่งความพ่ายแพ้ของสตรีเพศ สู่ศึกเลือกตั้งเดือดที่เดิมพันด้วยอัตลักษณ์อเมริกา

31.10.2020
  • LOADING...
มองผ่านเลนส์สื่อ ‘4 ปีทรัมป์เปลี่ยนโลก’ จากน้ำตาแห่งความพ่ายแพ้ของสตรีเพศ สู่ศึกเลือกตั้งเดือดที่เดิมพันด้วยอัตลักษณ์อเมริกา

HIGHLIGHTS

9 mins. read
  • 4 ปีรัฐบาลทรัมป์ เริ่มต้นด้วยใจที่สลายลงของผู้คนที่หนุน ฮิลลารี คลินตัน และมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของฝันร้าย
  • โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มต้นทำงานวันแรก ด้วยการลุกฮือประท้วงของผู้หญิงและนักเคลื่อนไหว
  • คนไทยสนใจข่าวต่างประเทศมากขึ้นในช่วง 4 ปีมานี้ นับแต่ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
  • เดโมแครตได้บทเรียน และโพลรอบนี้ โอกาสพลิกยาก
  • โจ ไบเดน อาจเป็นเพียงแค่สะพานเพื่อ ‘เปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติ’

‘กาลเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก’ สำนวนนี้ผุดขึ้นมาในห้วงความคิด เมื่อผมได้มานั่งคุยกับ ธันย์ชนก จงยศยิ่ง หรือ ‘มิกกี้’ อดีตบรรณาธิการข่าวต่างประเทศ สถานีข่าวสปริงนิวส์ (ปัจจุบันเหลือเพียงแพลตฟอร์มออนไลน์) เพื่อย้อนรำลึกถึงเมื่อ 4 ปีก่อน ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ที่พวกเราได้ไปเกาะติดทำข่าวเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งครั้งนั้นเป็นการชิงชัยระหว่าง ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

 

“ถ้าไม่ติดโควิด-19 เราคนใดคนหนึ่งคงอยู่ที่อเมริกาแล้วนะพี่” ผมพูดกับอดีตหัวหน้า ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร สายงานข่าวต่างประเทศ สถานีข่าว TNN ช่อง 16 ที่คิดเหมือนผมว่า การเลือกตั้งครั้งนี้น่าสนใจยิ่งกว่าครั้งก่อนเสียอีก

 

สถานการณ์ด้าน ‘โพล’ หรือผลสำรวจความคิดเห็นเอง เหมือนเป็น ‘เดจาวู’ เพราะเป็นอีกครั้งที่ทุกโพลชี้ชัดว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะแพ้ 4 ปีก่อนเราสองคนก็เชื่อแบบนั้น

 

“นักข่าวส่วนใหญ่ไปโฟกัสที่ฮิลลารี คือเททีมไปที่ฝั่งฮิลลารีมากกว่าฝั่งทรัมป์ เพราะไม่มีใครคิดว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งและเป็นผู้นำสหรัฐฯ” และที่นิวยอร์ก “ผู้คนที่นั่น ทุกคน 100% ก็คือฮิลลารี คลินตัน” ธันย์ชนก ยอมรับ

 

แต่หากเป็นที่รัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นสวิงสเตท (Swing State) หรือรัฐที่ยังไม่ชี้ชัดว่าจะลงคะแนนให้ผู้สมัครคนใด พวกเราเลือกฟลอริดาเป็นรัฐแรกของการทำข่าวในครั้งนั้น และพบว่าแม้แต่คนขับแท็กซี่ที่มีเชื้อสายละตินก็ยังชอบทรัมป์

 

(Credit: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / บรรยากาศการหาเสียงของทรัมป์ในฟลอริดา กับผู้ที่คลั่งไคล้เขา)

 

“มันเป็นสิ่งที่ถ้าเราไม่มาลงสนามข่าวเอง เราก็จะไม่เห็น เรามองจากไทยก็คิดว่าทรัมป์ไม่ปกติ คนอเมริกันที่ไหนจะไปเลือก แต่พอไปอยู่สนามข่าวแล้ว พบว่าคนรักเขาเยอะ” และในปี 2016 ทรัมป์ชนะรัฐฟลอริดาได้อย่างฉิวเฉียด และเป็นตัวแปรสำคัญต่อผลการเลือกตั้ง

 

จากฟลอริดาสู่นิวยอร์ก และการเป็นสักขีพยานในพิธีสาบานตนของ ‘ประธานาธิบดีผู้ฉีกทุกขนบ’ THE STANDARD จับเข่าคุยกับ ‘คนข่าว’ ที่ได้อยู่ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ชัยชนะของ ‘พลังเงียบ’ จนถึงจุดเริ่มต้น ‘ยุคทรัมป์’ ที่เปิดม่านด้วยการลุกฮือประท้วงของสตรีเพศนับแสน

 

‘เพดานแก้ว’ ที่ทลายไม่สำเร็จ

การลงพื้นที่ในหลายรัฐสวิงสเตท ผมและมิกกี้เริ่มตระหนักแล้วว่า ทัศนคติของผู้คน แตกต่างกันได้มากขนาดไหน เพียงก้าวเข้าไปยังอีกรัฐหนึ่ง แต่เรายัง ‘ไม่เชื่อ’ ว่า นักการเมืองแบบทรัมป์ ที่มีบุคลิก ‘ทีเล่นทีจริง’ จะเอาชนะ ‘นักการเมืองอาชีพ’ แบบคลินตันได้

 

“มันเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเมืองสหรัฐฯ” คนข่าวหญิงที่คลุกคลีกับข่าวต่างประเทศมากว่า 10 ปี กล่าวด้วยน้ำเสียงแค่นหัวเราะ

 

ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยบารัก โอบามา คือ ผู้ถือ ‘คบเพลงแห่งความหวัง’ ของเพศหญิง ที่วาดฝันว่าสตรีจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีของมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกได้เป็นครั้งแรก และพรรคเดโมแครต ‘เล่นใหญ่มาก’ ในคืนวันเลือกตั้ง หรือที่เราเรียกว่า Election Night ซึ่งปีนั้นทั้งสองผู้สมัคร ทรัมป์-คลินตัน จัดกิจกรรมลุ้นผลนับคะแนนในนครนิวยอร์ก

 

 

(Credit: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / ชาวอเมริกันเตรียมฉลองต้อนรับประธานาธิบดีหญิงคนแรก)

 

กิจกรรม ‘ราตรีแห่งวันเลือกตั้ง’ ของค่ายคลินตัน จัดที่ศูนย์ประชุม Jacob K. Javits ที่คัดเลือกมาอย่างดีแล้วในเชิงสัญลักษณ์ โดยเฉพาะเพดานที่เป็นแก้วโปร่งใส เพราะหากคลินตันชนะจะถือเป็นการ ‘ทลายเพดานแก้ว’ หรือตามสำนวนภาษาอังกฤษ คือ Break the Glass Ceiling ซึ่งเปรียบถึงชัยชนะของผู้หญิง

 

“ทุกคนเตรียมฉลองกันแล้ว ในศูนย์ประชุมนี่ สื่อล้านแปดเลยนะ” ใช่ และเราสองคนก็เป็นหนึ่งในกองทัพสื่อมวลชนที่ ‘มาอยู่ผิดที่’ หลังทราบผลการนับคะแนนในค่ำคืนนั้น

 

นักดนตรีชื่อดัง ดาราฮอลลีวูด และประชาชนนับหมื่นคน รอแล้วรอเล่า ตีสองก็แล้ว ตีสามก็แล้ว ฮิลลารี คลินตัน ยังคงไม่ปรากฏตัว บรรยากาศจากที่ครื้นเครง เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและกระหึ่มเชียร์ กลับกลายเป็นเงียบหาย เมื่อผลนับคะแนนที่เริ่มต้นด้วยดี แผนที่อเมริกาที่ฉาบไปด้วยสีน้ำเงิน กลับถูกย้อมไปด้วยสีแดง อันเป็นสีสัญลักษณ์ของรีพับลิกัน

 

ท้ายสุด ทรัมป์ชนะจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไปถึง 304 คน ส่วนคลินตันได้เพียง 227 คน แม้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตหรือคะแนนดิบของเธอ จะมากกว่าทรัมป์ถึง 2% หรือเกือบ 3 ล้านคะแนน

 

(Credit: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / รายงานสดบรรยากาศในคืน Election Night ของเดโมแครต)

 

(Credit: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / ยิ่งเวลาผ่านไป ความหวังยิ่งริบหรี่)

 

“ผู้จัดงานออกมาบอกว่า วันนี้พอเถอะแยกย้ายกลับบ้าน” มิกกี้รำลึกถึงห้วงเวลาในค่ำคืนนั้นเมื่อ 4 ปีก่อนได้เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน “เราเห็นบรรยากาศคนร้องห่มร้องไห้เต็มไปหมดเลย เพราะเขาเชียร์กันมาก ในขณะที่สื่ออย่างเราติดอยู่กับความเศร้าโศกของฝั่งฮิลลารี”

 

คนที่ตกใจไม่ได้มีเพียงแค่ประชาชนและสื่อมวลชน ทรัมป์เองอาจไม่คาดคิดว่าจะชนะ เพราะค่ายของทรัมป์ไม่ได้ ‘เล่นใหญ่’ เหมือนของคลินตันด้วยซ้ำ โดยจัดอยู่ในห้องบอลรูมของโรงแรม Hilton Midtown

 

และกว่าที่คลินตันจะประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ ตามธรรมเนียมการเมืองอเมริกาที่ ‘ต้องรู้แพ้รู้ชนะ’ และ ‘คนแพ้ต้องออกมาพูดก่อน’ ก็เป็นอีกวันถัดไป

 

จากวันนี้ไป ‘อเมริกาต้องมาก่อน’

 

เดือนมกราคมปีถัดมา ผมและมิกกี้ได้รับหมายด่วนแบบแทบเตรียมตัวไม่ทัน กับการเดินทางไปสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อติดตามพิธีสาบานตนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

“เราไปในช่วงโค้งสุดท้ายด้วย ทุกอย่างเต็ม โรงแรมเต็ม ทุกอย่างแพงหมด ต้องวางแผนใหม่หมด เพราะไม่เคยไปทำข่าวพิธีสาบานตน” และหากจำไม่ผิด เราเป็นทีมสื่อไทยเพียงหยิบมือที่ได้ร่วมเป็นสักขีพยานการครองอำนาจของทรัมป์ และได้เห็นถึง ‘ความจริง’ ที่เกิดขึ้น มากกว่าภาพพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์และสวยงาม

 

นครหลวงแห่งอเมริกา ศูนย์กลางแห่งอำนาจ เหมือนกลายเป็นถนนคนเดิน เพราะตำรวจปิดกั้นการจราจร และวางมาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด สื่อมวลชนจึงต้องเลือกเดินเท้าเสียเป็นส่วนใหญ่

 

สิ่งที่ ‘ทีมข่าวเดิม’ ได้สัมผัสใน ‘อเมริกาที่ไม่เหมือนเดิม’ คือความคิดของคนในสังคมที่แตกแยกชัดขึ้น และเลือกฝั่งกันชัดเจน คนที่ไม่ชอบก็คือไม่ชอบ คนที่ชอบก็คือชอบมาก

 

(Credit: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / ปาร์ตี้ต้อนรับทรัมป์ หนึ่งวันก่อนวันพิธี)

 

(Credit: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / หนึ่งในผู้ที่รักทรัมป์)

 

กลุ่มคนที่สนับสนุนและชอบทรัมป์ จะเป็นประชาชนที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมในงานเลี้ยงสังสรรค์ในธีม Make America Great Again Party และลานด้านหน้า Capitol Hill หรืออาคารรัฐสภาในวันสาบานตนรับตำแหน่ง วันที่ 20 มกราคม 2017

 

ผมจำได้ว่า วันนั้นเป็นวันฝนตกพรำๆ ท้องฟ้าสีหม่น ชาวอเมริกันที่หลายคนสวมชุดสีแดง เสื้อเชียร์ทรัมป์ ถือธงชาติโบกสะบัด และหมวก ‘Make America Great Again’ มารวมตัวกันที่ลานหลายชั่วโมง ก่อนเวลา 11.41 น. ที่เป็นนาทีที่ทรัมป์กล่าวคำปฏิญาณสาบานตนรับตำแหน่ง โดยมีภรรยาและครอบครัวยืนเคียงข้าง

 

“ห้วงเวลานี้ คือห้วงเวลาของพวกคุณ…สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศของพวกคุณ” โดนัลด์ ทรัมป์ ปราศรัยต่อฝูงชน หลังขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ

 

“เราทำให้ประเทศอื่นร่ำรวย แต่ความมั่งคั่งของประเทศเราหายไป” และ “แต่นั่นคืออดีต จากนี้เราจะมองไปที่อนาคตเท่านั้น”

 

(Credit: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / ภาพที่ถ่ายจากกลางลานหน้า Capitol Hill)

 

“จากวันนี้เป็นต้นไป วิสัยทัศน์ใหม่จะปกครองดินแดนของเรา จากวันนี้เป็นต้นไป อเมริกาจะต้องมาก่อน อเมริกาจะต้องมาก่อน” จากนั้นเสียงของฝูงชนก็ดังกระหึ่มก้อง

 

แต่ห่างออกไปไม่ไกล กลุ่มคนที่ ‘ไม่ชอบ’ ทรัมป์ ได้เตรียมเซอร์ไพรส์พิเศษให้เขาแล้ว

 

ประท้วงต้อนรับทรัมป์

ช่วงรณรงค์หาเสียง ทรัมป์มีทัศนคติที่ทำให้ผู้หญิงและองค์กรสนับสนุนสิทธิสตรีหลายแห่งวิจารณ์ว่า ‘เป็นการเหยียดเพศ’ และ ‘ดูถูกผู้หญิง’ โดยเฉพาะเทปบันทึกเสียงเมื่อปี 2005 ที่กลายเป็นข่าวอื้อฉาว เป็นเสียงขณะทรัมป์กำลังสนทนากับพิธีกรรายการโทรทัศน์ บิลลี บุช ถึงสไตล์การจีบหญิง ซึ่งผู้หญิงในบทสนทนานี้คือ แนนซี โอเดล พิธีกรหญิงร่วมในรายการกับบุช

 

“ผมเข้าหาเธอเหมือนเธอเป็นโสเภณี แต่ผมไปไม่ถึงจุดนั้น และเธอก็แต่งงานแล้วด้วย แล้วจู่ๆ ผมก็เจอเธออีกครั้ง ตอนนี้เธอมีหน้าอกที่ดูก็รู้ว่าไปทำมา และทำอะไรอีกหลายอย่าง เธอเปลี่ยนไปเยอะเลย” บุชพูดกับทรัมป์ในห้องเปลี่ยนชุด

 

ทรัมป์ตอบว่า “เป็นผมจะอมทิกแทกส์ก่อนนะ เผื่อต้องจูบเธอ แต่รู้ไหม ผู้หญิงสวยๆ มักหลงใหลในตัวผม ผมก็จะเริ่มจูบพวกเธอเลย ผมเหมือนแม่เหล็กน่ะ จูบไปเลย ไม่ค่อยรอหรอก”

 

(Credit: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / การประท้วงต้านทรัมป์ในช่วงพิธีสาบานตน)

 

“พอคุณเป็นคนดัง พวกเธอยอมให้คุณทำแบบนั้น คุณจะทำอะไรก็ได้ แม้แต่จับไปที่อวัยวะเพศของพวกเธอ (Grab’em by the pussy) คุณทำได้หมด”

 

เทปเสียงอื้อฉาวนี้เป็นหนึ่งใน อ็อกโทเบอร์ เซอร์ไพรส์ (October Surprise) หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม และมีผลต่อความคิดเห็นของผู้มีสิทธิลงคะแนน ก่อนการเลือกตั้งต้นเดือนพฤศจิกายน โดยทำให้ผู้สนับสนุนทรัมป์ลดน้อยลง

 

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้หญิงจำนวนมากจะออกมาประท้วงในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในช่วงพิธีสาบานตน ด้วยความ ‘ไม่เชื่อ’ ว่า ประเทศของพวกเธอจะมีประธานาธิบดีที่ใช้คำพูดคำจากับผู้หญิงเช่นนี้ แต่สิ่งที่พวกเราไม่คาดคิดคือ ผู้ประท้วงหญิงที่มากมายมหาศาลเช่นนี้

 

“หลังสาบานตนแค่วันเดียว มีประท้วงใหญ่ Women March คนออกมาเป็นแสนคน มีคนเปรียบเทียบว่า มีคนออกมาประท้วง Women March มากกว่าคนที่ออกมายินดีกับทรัมป์ที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เสียอีก” มิกกี้เล่าย้อนถึงความตื่นเต้นที่ไปทำข่าวการประท้วงใหญ่ครั้งนั้น

 

(Credit: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / มิกกี้รายงานกลางผู้ประท้วงเรือนแสน)

  

“ไม่แน่ใจว่าการสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนอื่นๆ เจอแบบนี้ไหม ที่มีการประท้วงควบคู่กับการเฉลิมฉลองชัยชนะของตัวเอง ”

 

ทรัมป์ทำให้คนไทยสนใจข่าวต่างประเทศมากขึ้น

ในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ พัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ประกาศข่าว สู่บรรณาธิการข่าว และบรรณาธิการบริหาร แต่ธันย์ชนกยังไม่ทิ้งการทำคอนเทนต์ต่างประเทศย่อยง่ายให้ผู้ชมผ่านโทรทัศน์เข้าใจสถานการณ์โลก

 

หากทรัมป์คือผู้สร้างวาทกรรม ‘ข่าวปลอม’ ที่ทำลายความน่าเชื่อถือของวงการสื่อสารมวลชน ในขณะเดียวกันเขาก็ทำให้ ‘คนไทย’ สนใจในข่าวต่างประเทศมากขึ้น

 

“เราไม่เคยเจออะไรแบบนี้ สาบานตนได้ไม่กี่เดือน สั่งยิงขีปนาวุธยิงถล่มซีเรียหลายสิบลูก” ธันย์ชนกพูดถึงการยิงขีปนาวุธโทมาฮอว์ก 57 ลูก โจมตีฐานทัพของรัฐบาลซีเรีย ภายใต้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2017

 

เป็นความจริงที่ทรัมป์ออกสื่อและเป็นข่าวได้ไม่เว้นแต่ละวัน บางเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นใกล้กับประเทศไทยด้วย อาทิ การเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกในฟิลิปปินส์ ในปี 2017 และการประชุมสุดยอดทรัมป์-คิม ในสิงคโปร์ เมื่อปี 2018

 

 

(Credit: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / ภาพที่ระลึกการทำข่าว ‘ทรัมป์-คิม ซัมมิต’)

 

ธันย์ชนกมองว่า ในอดีต ข่าวต่างประเทศสำหรับคนไทยคือเรื่องไกลตัว และเป็นข่าว Niche หรือข่าวสำหรับผู้ชมเฉพาะกลุ่ม “เวลาผู้บริหารสถานี ไม่ว่าสถานีไหนก็ตามจะบอกว่า ข่าวต่างประเทศไม่มีคนดูหรอก เราจะได้ยินมาตลอดนะ

 

“ถ้าจะเล่นข่าวต่างประเทศต้องทำให้ใกล้ตัว เชื่อมกับไทยให้ได้มากที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข่าวต่างประเทศแม้ไม่ได้เชื่อมกับไทยมันก็เป็นความรู้ เป็นความรู้แบ็กกราวด์ให้กับผู้คนได้ เพราะบางทีอะไรที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ มันวนมาเกิดขึ้นในประเทศเราได้”

 

ดังนั้น ส่วนตัวเธอแล้ว อยาก ‘ยกความดีความชอบให้ทรัมป์’ ที่กระตุ้นให้คนไทยสนใจในข่าวต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย โดยไม่ต้องอยู่บนบริบท ‘เชื่อมโลกเชื่อมไทย’ อีกต่อไป

 

คิดว่า…โพลจะพลิกอีกไหม? 

พวกเรานั่งคุยกันเกือบชั่วโมงแล้ว ตั้งแต่อดีตการทำข่าวที่น่าตื่นเต้น ปัจจุบันของการข่าวต่างประเทศในไทย ท้ายสุดจึงอยากคาดการณ์ถึงอนาคตการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้ กับคำถามสำคัญว่า ‘ถ้าโพลทุกโผให้ไบเดนชนะ แล้วครั้งนี้โพลจะพลิกเหมือนครั้งก่อนอีกไหม’

 

“ความแตกต่างของโพลรอบนี้กับรอบที่แล้ว มันแตกต่างกันที่ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์​ เขาใช้บิ๊กดาต้า ใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ผู้มีสิทธิออกเสียงแบบเชิงลึก แล้วคราวนั้นเดโมแครตไม่ทัน (เกม) คือเน้นการหาเสียงแบบดั้งเดิม” ธันย์ชนก วิเคราะห์อ้างอิงจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ได้พูดคุยมา

  

“ถ้าเดโมแครตหันมาใช้การหาเสียงโดยใช้ข้อมูลอ้างอิงในเชิงสถิติ มันมีโอกาสที่โพลจะไม่พลิก” แต่เธอไม่ฟันธง อยากให้ติดตามผลนับคะแนนอย่างเป็นทางการดีกว่า

 

แต่ถ้าพูดถึงปัจจัยสำคัญที่จะชี้นำว่า ‘ผลจะเป็นไปตามโผหรือไม่’ นั่นคือ กลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนชาติพันธุ์ โดยเฉพาะคนผิวดำ ซึ่งคนสองกลุ่มนี้เป็นฐานเสียงสำคัญของเดโมแครต เพราะรอบที่แล้วผลสำรวจความคิดเห็น ‘คลินตัน’ นำมาก็จริง แต่ถ้าคนไม่ออกไปเลือกตั้งก็ไม่มีประโยชน์

 

ทั้งนี้ ธันย์ชนกมองว่า โจ ไบเดน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งครั้งนี้ อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด และก้าวเข้ามาเพื่อเป็นสะพานของ ‘การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างสันติ’

 

แน่นอนว่า “นโยบายบางอย่างจะกลับมา และชาติพันธมิตรคงจะดีใจ เพราะว่าทรัมป์ไปยกเลิกเสียหมดเลย”

 

แล้วหากทรัมป์แพ้จริงๆ จะทำให้คนไทยเลิกสนใจข่าวต่างประเทศไหม? ธันย์ชนกเชื่อมั่นว่า หากไม่มีทรัมป์ ข่าวต่างประเทศได้ติดตลาดแล้ว เพราะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเชื่อมโลก

 

(Credit: ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล / ข่าวต่างประเทศ ‘ใกล้ตัวมากขึ้น’)

 

“เพื่อนเราอยู่อีกประเทศหนึ่ง เรายังคุยออนไลน์กันได้เลย…มันกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก โดยที่ไม่ต้องเชื่อมโยงเรื่องแล้วนะ” ธันย์ชนกพูดทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X