วานนี้ (27 พฤษภาคม) สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยจัดกิจกรรม Media Roundtable ที่ชั้น 9 อาคารจีพีเอฟ ถนนวิทยุ เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนหลายสำนักได้ซักถามและสัมภาษณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ, กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) และการหารือยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับไทย (U.S.-Thailand Strategic and Defense Dialogue) ซึ่งเป็น 3 ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม
ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กล่าวเปิดกิจกรรม โดยระบุถึงการหารือยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับไทย เมื่อ 9-10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการยืนยันถึงการทำงานร่วมกัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักการที่มีร่วมกัน ตลอดจนต่อสู้กับการค้ามนุษย์และยาเสพติด การปกป้องสิทธิมนุษยชน และการแก้ปัญหาวิกฤตด้านมนุษยธรรมในเมียนมา
ส่วนการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 12-13 พฤษภาคม ก็ถือเป็นโอกาสที่ไม่เพียงแต่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน และรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนมากที่ได้หารือกับผู้นำของอาเซียนและคณะผู้แทน ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมสหรัฐฯ-อาเซียนนั้น อาเซียนและสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันในการพัฒนาอนุภูมิภาคในลุ่มน้ำโขง ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน สร้างความมั่นคงทางสุขภาพที่ดีขึ้น และทำงานร่วมกันในด้านสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนยืนยันความเคารพที่สหรัฐฯ และอาเซียน มีเหมือนกันต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และเอกราชทางการเมืองของยูเครน ตลอดจนความกังวลเรื่องวิกฤตการณ์ในเมียนมา
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น การเปิดตัวกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ของไบเดนที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่น พร้อมภาคีแรกเริ่มอีก 12 ประเทศ รวมทั้งไทย ซึ่งมุ่งเน้นการรับมือกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจ เช่น การกำหนดกฎข้อบังคับสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล การดำเนินการให้ห่วงโซ่อุปทานมีความปลอดภัยและยืดหยุ่น การจัดการการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทันสมัย
จากนั้นเป็นการถามคำถามโดยผู้สื่อข่าวจากสื่อสำนักต่างๆ เช่น คำถามที่ว่าผู้นำอาเซียนจะสามารถช่วยเหลือยูเครนได้อย่างไร ฮีธระบุว่า เขาคิดว่าทุกประเทศสามารถทำในสิ่งที่ทำได้ภายในวิธีการของตนเอง เพื่อช่วยหาทางแก้ไขสถานการณ์ในยูเครน และย้ำว่านี่เป็นการรุกรานอันโจ่งแจ้งและปราศจากการยั่วยุ การรุกรานรัฐอธิปไตย และขัดต่อกฎบัตรของสหประชาชาติ เขายังระบุว่า ไม่ว่าความช่วยเหลือใดต่อยูเครนก็เป็นที่ชื่นชม และยังชื่นชมถึงการสนับสนุนของไทยในมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 2 ฉบับ ที่ประณามการรุกรานดังกล่าวด้วย
“ดังนั้นหากคุณปฏิบัติตามหลักการ ผมคิดว่าทุกประเทศจำเป็นต้องทำเท่าที่ทำได้ เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลรัสเซียยกเลิกการรุกรานนี้ และเปลี่ยนแนวทางและหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางการทูตอย่างสันติ” ฮีธระบุ
เมื่อสื่อถามถึงรายละเอียดของการพูดคุยระหว่างไบเดนและ พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีของไทย ในงานเลี้ยงอาหารค่ำระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ฮีธตอบว่า เขาไม่มีรายละเอียดที่แน่นอนเกี่ยวกับการสนทนาดังกล่าว แต่รู้เพียงว่าทั้งสองผู้นำ ‘มีการสนทนาที่ตรงไปตรงมาและดีมาก’ โดยเท่าที่เขาได้ยินมาคือ พล.อ. ประยุทธ์ คิดว่านี่เป็นการประชุมสุดยอดที่ยอดเยี่ยม ส่วนข้อสรุปของทุกสิ่งที่มีการตกลงกันนั้นฮีธระบุว่า สามารถดูได้จากเอกสารข้อเท็จจริงและผลลัพธ์อันเกิดจากการประชุมสุดยอดดังกล่าว
“และจากฝั่งของเรา เรายังชื่นชมการหารืออย่างเข้มข้นทั้งหมดที่เรามี ไม่เพียงแต่ที่ทำเนียบขาวในวอชิงตัน แต่ยังรวมถึงที่เพนตากอน ที่ซึ่งนายกฯ ประยุทธ์ ได้พบกับรัฐมนตรีกลาโหมของเราด้วย” ฮีธกล่าว
ต่อมา เมื่อถูกถามถึงบทบาทของสหรัฐฯ ต่อประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ระบุว่า ตระหนักดีถึงประโยชน์ของการมีทะเลจีนใต้ที่ยังคงเป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพต่อไป และเน้นย้ำถึงการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ปี 2002 อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อระเบียบปฏิบัติ (Code of Conduct) ในการเจรจาเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ รวมถึงยินดีต่อความก้าวหน้าต่อๆ ไปที่มุ่งสู่ข้อสรุปของระเบียบปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงผลอันเป็นรูปธรรมที่จะเกิดจากกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกในอนาคต ซึ่งกรอบดังกล่าวก็ถูกมองว่าเป็นความพยายามในการแข่งขันกับจีนในภูมิภาคนี้ ฮีธยืนยันว่า กรอบดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการหารือ รวมถึงกำลังมีการพิจารณาตำแหน่งของหุ้นส่วนทั้ง 12 ชาติในกรอบดังกล่าว โดยจากความเข้าใจของฮีธจากการพูดคุยกับผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ กำลังมีการพิจารณาว่าการหารือเหล่านี้จะถูกสรุปในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า ฮีธย้ำว่า นี่เป็นเพียงกรอบ ไม่ใช่สนธิสัญญา และสี่เสาหลักในกรอบนี้ยังคงจะถูกพัฒนาต่อไป นอกจากนี้กรอบนี้ยังเป็นกรอบทำงานโดยสมัครใจ นั่นหมายถึงหุ้นส่วนทั้งหมดสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมเสาหลักทั้งหมดหรือเพียงบางเสาหลัก
ฮีธยังกล่าวต่อไปถึงมาตรฐานที่สม่ำเสมอในด้านการค้าดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเขาคิดว่าทุกคนล้วนต้องการ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถเปิดช่องทางสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ในขณะที่มีการฟื้นตัวจากโรคระบาด เช่นเดียวกับห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น เช่น การมีห่วงโซ่อุปทานสำรองในกรณีมีห่วงโซ่ที่หยุดชะงัก, โครงสร้างพื้นฐานที่สะอาดซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างโปร่งใส ตลอดจนเสาหลักด้านภาษีที่เน้นการบังคับใช้ด้านภาษีที่มีประสิทธิภาพ การต่อต้านการฟอกเงิน และการต่อต้านการติดสินบน
ฮีธย้ำว่า IPEF ไม่ใช่เกมที่มีคนได้-คนเสีย แต่เป็นความพยายามในการสนับสนุนรักษาระเบียบระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกติกา ส่วนคำถามต่อกรณีเมียนมากับการเข้าร่วมกรอบดังกล่าวว่าจะทำได้อย่างไร ฮีธกล่าวว่า คงต้องรอเสถียรภาพและก้าวแรกของการกลับสู่ประชาธิปไตยของเมียนมา ก่อนที่จะสามารถพิจารณาให้เมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของการหารือได้
และเมื่อกล่าวถึงจีนก็มีบางคำถามที่น่าสนใจ เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ฮีธตอบประเด็นนี้ว่ามีปัญหาใหญ่หลายประการที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ ดังนั้นสหรัฐฯ จึงสนับสนุนให้มีการประสานงานและสื่อสารกับจีนอย่างเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ฮีธเห็นว่ามีหลายประเด็นที่สหรัฐฯ กับจีน มีความแตกต่างหรือขัดแย้งกัน ทั้งเรื่องวิธีการด้านสิทธิมนุษยชนหรือการบีบบังคับทางเศรษฐกิจต่อประเทศที่ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับจีน หรือการให้การสนับสนุนรัสเซียทั้งที่มีประเด็นเรื่องการบุกยูเครน เป็นต้น ฮีธบอกว่า สหรัฐฯ จะโต้แย้งเมื่อมีความขัดแย้งเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความร่วมมือเช่นกัน และเมื่อกล่าวถึงปัญหาระดับโลกอย่างโควิดและปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ต้องร่วมมือกัน สิ่งนี้ก็ไม่ควรถูกพิจารณาว่าเป็นเกมที่ต้องมีผู้แพ้หรือชนะ
หรือคำถามที่ว่า คิดอย่างไรกรณีมีผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่ารัฐบาลของไบเดนกำลังนำโฟกัสเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศกลับสู่อาเซียนอีกครั้ง หลังจากดูมีความห่างเหินในยุคอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงการที่ไบเดนอาจจะพยายามกำลังแข่งขันด้านอิทธิพลในภูมิภาคนี้กับจีน ฮีธระบุว่า เขาไม่คิดว่าสหรัฐฯ จะอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพราะกำลังพยายามแข่งขันกับใคร ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจระหว่างประเทศในช่วงที่เหลือของศตวรรษนี้ และเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสหรัฐฯ ที่จะอยู่ที่นี่ นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังอยู่ในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด
“ผมไม่คิดว่ามันแม่นยำที่จะบอกว่าเราละทิ้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วกลับมา เราอยู่ที่นี่ตลอดมา” ฮีธกล่าว โดยย้ำถึงการเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของสหรัฐฯ ในหลายๆ เขตเศรษฐกิจในอาเซียน และจำนวนเงินลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต
สำหรับประเด็นหัวข้อในทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯ มุ่งเน้นอยากเสริมสร้างความร่วมมือกับไทยในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ประเด็นที่มีการกล่าวถึงใน IPEC ประเด็นที่อยู่ในแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียน รวมถึงประเด็นอื่น เช่น การร่วมมือกันปราบปรามยาเสพติด การต่อต้านการค้ามนุษย์และการค้าสัตว์ป่า เป็นต้น
ขณะที่ความเคลื่อนไหวด้านการตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยคนใหม่นั้น มีการเสนอชื่อนักการทูตอย่าง โรเบิร์ต โกเดก ซึ่งเคยมีประสบการณ์การทำงานด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเคยทำงานเกี่ยวกับประเด็นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีปในฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และไม่นานมานี้ก็เคยเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่ประเทศตูนีเซียและเคนยา และยังเป็นผู้แทนอาวุโสที่ดูแลกิจการแอฟริกาทั้งหมด และเป็นผู้นำสำนักกิจการแอฟริกาที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยฮีธยืนยันว่า โกเดกเป็นหนึ่งในนักการทูตที่มีประสบการณ์สูงที่สุดในระบบของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม โกเดกจำเป็นต้องผ่านกระบวนการยืนยันของวุฒิสภาสหรัฐฯ ก่อน ขณะนี้จึงยังไม่แน่ใจว่าเขาจะมารับตำแหน่งนี้ได้เมื่อไร
เมื่อถูกถามถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในไทย ฮีธระบุว่า สหรัฐฯ สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในไทยและต้องการเห็นเสถียรภาพในประเทศ และระบุตอนหนึ่งว่า ได้เห็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ซึ่งคิดว่าการเลือกตั้งโดยทั่วไปดำเนินไปได้ด้วยดี และไม่เห็นหลักฐานของสิ่งผิดปกติใดๆ นอกจากนี้เขากล่าวว่า นี่คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกในรอบ 9 ปี ดังนั้นจึงถือเป็นความสำเร็จ และเขาคิดว่านี่เป็นสัญญาณของเสถียรภาพและความเคารพต่อกระบวนการประชาธิปไตย
นอกจากนี้ฮีธยังตอบคำถามสื่อเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร และการดำเนินคดีประชาชนด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเขาระบุว่า มีการพูดคุยกับประเทศไทยหลายครั้งในอดีตเกี่ยวกับการเคารพสิทธิมนุษยชนและความสำคัญของทั้งสหรัฐฯ และไทย ในการรักษาหลักการของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งคิดว่าไทยจะเป็นพันธมิตรในการดำเนินการสิ่งเหล่านี้กับสหรัฐฯ ส่วนร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไรนั้นไม่ได้ถูกกล่าวถึงระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนของร่างกฎหมาย ซึ่งเขาระบุว่า จะไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายภายในประเทศที่ให้คนไทยและรัฐบาลไทยเป็นผู้ตัดสินใจ