×

สื่อจี้ ทร. กลางวงเสวนา ถามจุดยืนปักปันเขตแดน-จัดการผลประโยชน์ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ผู้เชี่ยวชาญอึกอัก ตอบไม่ได้ โยนไปถามเวทีระดับชาติ

โดย THE STANDARD TEAM
03.12.2024
  • LOADING...
กองทัพเรือ

วันนี้ (3 ธันวาคม) ที่กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง หลักกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล เพื่อชี้ให้เห็นถึงบทบาทของกองทัพเรือและความท้าทายที่กองทัพเรือต้องเผชิญ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย น.อ. เกียรติยุทธ เทียนสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารเรือ, น.อ.หญิง มธุศร เลิศพานิช รองผู้อำนวยการกองกฤษฎีกา สำนักงานพระธรรมนูญทหารเรือ, น.อ. รชต โอศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ และ น.อ. ผศ.สมาน ได้รายรัมย์ อาจารย์ฝ่ายศึกษา โรงเรียนนายเรือ

 

น.อ. รชต ยกตัวอย่างพื้นที่ไทยกับมาเลเซียในอดีตที่มีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ 7,250 ตารางกิโลเมตร สาเหตุของการทับซ้อนของไหล่ทวีปไทยกับมาเลเซียหลักๆ จะเกิดจากเกาะโลซินซึ่งไทยเป็นเจ้าของ ส่วนมาเลเซียเห็นว่าเกาะโลซินมีขนาดเล็กและอยู่ไกล จึงไม่ให้นับมาอ้างสิทธิ์ได้ 

 

ที่ผ่านมาไทยกับมาเลเซียก็มีการพูดคุยกันมาอย่างต่อเนื่องก่อนปี 2515 โดยก่อนหน้านี้เคยมีปัญหากัน เช่น การจับกุมหรือประมง หรือการเผชิญหน้าของกำลังทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งปี 2515 ไทยกับมาเลเซียก็มาพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรเมื่อเขตทางทะเลไม่ชัดเจน โดยเริ่มตกลงกันที่ทะเลอาณาเขต เราใช้เวลา 7 ปี สุดท้ายตกลงว่าใช้ประโยชน์ร่วมกัน จะเห็นได้ว่าใช้เวลาไม่นานและมีการตั้งคณะกรรมการร่วม

 

ส่วนบริเวณที่ 2 คือ การอ้างสิทธิทับซ้อนไทยกับเวียดนาม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน กับเวียดนามเราใช้ความจริงใจในการพูดคุย เราใช้การคุยกันถึง 9 ครั้ง 5 ปี ด้วยความเข้มข้น จนได้รับการชื่นชมจากหลายประเทศ 

 

ด้าน น.อ. เกียรติยุทธ เทียนสุวรรณ กล่าวว่า กองทัพเรือนั้นยึดแผนที่แสดงอำนาจอธิปไตยและสิทธิอธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งต้องคุ้มครองและดูแลพื้นที่ที่อ้างสิทธิอย่างเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันนั้นได้ดำเนินการอยู่ ส่วนอีกเส้นที่มีการอ้างสิทธิก็เป็นเรื่องของคณะทำงานของรัฐดำเนินการ เพราะฉะนั้นขอย้ำว่ากองทัพเรือ กองทัพบก และกองทัพอากาศ ยึดแผนที่นี้เป็นหลัก 

 

ในช่วงท้ายของการเสวนา ผู้สื่อข่าวถามคำถามถึงจุดยืนของกองทัพเรือในการแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ว่าควรจะได้ข้อยุติทางเส้นเขตแดนก่อนหรือจะเจรจาผลประโยชน์ควบคู่ไปเลย รวมทั้งขอให้กองทัพเรือชี้แจงเหตุผลในแต่ละทางเลือกด้วย นอกจากนี้ยังขอให้กองทัพเรือชี้แจงหลักเกณฑ์ในการปักปันเขตแดน

 

น.อ. รชต ตอบว่า ประเทศไทยมีคณะกรรมการที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการชายแดนทั้งทางบกและทางทะเล โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ตนคิดว่าการดำเนินการดังกล่าวก็มีผู้ดำเนินการโดยตรงอยู่ กองทัพเรือก็มีหน้าที่สนับสนุนทั้งผู้เชี่ยวชาญต่างๆ และด้านความมั่นคงแก่คณะกรรมการดังกล่าว

 

น.อ. ผศ.สมาน ได้รายรัมย์ กล่าวเสริมว่า ความสลับซับซ้อนหลังจากที่มีการลงนาม MOU 2544 สภาวะแวดล้อมและปัจจัย รวมถึงเวลา เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่พอมาถึงปัจจุบันผ่านมากว่า 20 ปี สภาวะแวดล้อมและปัจจัยในการหาข้อยุติตนคิดว่ายิ่งสลับซับซ้อน พร้อมยกตัวอย่างว่า ในห้องเรียนตนให้โจทย์เรื่องการปักปันเขตแดน นักเรียนสามารถหาคำตอบได้ภายใน 2 ชั่วโมง แต่เมื่อใส่ปัจจัยต่างๆ เข้าไป อาทิ พื้นที่ทับซ้อน เวลาก็เพิ่มขึ้น ความยุ่งยากนั้นก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และอีกอย่างหนึ่งมันมีอะไรที่อยู่ในใจ สภาวะแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้าก็ต้องเปลี่ยนไป ปัจจัยการพิจารณาก็ต้องเปลี่ยนไป 

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำถึงจุดยืนของกองทัพเรือว่า กองทัพเรือทำตามที่คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย หรือ JTC เห็นชอบ ถ้าเห็นชอบว่าการแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนควรทำคู่ขนานกันไปกับการปักปันเขตแดน ก็จะทำตามนั้นใช่หรือไม่ น.อ. ผศ.สมาน ตอบกลับว่า “ที่เวทีนี้ผมขออนุญาต พวกเราไม่สามารถตอบได้ในระดับผู้บริหารของกองทัพ ผมขออนุญาตจริงๆ ว่าไม่สามารถตอบได้”

 

ผู้สื่อข่าวจึงถามเพิ่มเติมอีกว่า “ขออนุญาตเช่นเดียวกัน พวกท่านคือผู้เชี่ยวชาญทางทะเลและกฎหมาย ควรจะตอบคำถามนี้ได้ ทำไมถึงตอบไม่ได้” 

 

น.อ. ผศ.สมาน ตอบกลับว่า “หากตอบได้ก็จะตอบ” ทำให้ผู้สื่อข่าวถามว่า “ก็ต้องตอบตามหลักการที่กองทัพเรือเห็นว่าถูกต้องและเป็นผลประโยชน์ของประเทศ ตามที่ท่านได้ศึกษามาในหลักการเรื่องอาณาเขตทางทะเลที่พูดมา 1-2 ชั่วโมง อยากทราบว่ากองทัพเรือยึดในหลักการอะไร”

 

น.อ. เกียรติยุทธ ตอบคำถามว่า ในแง่ทางเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นการปักปันเขตแดนก่อนแบ่งผลประโยชน์หรือทำอะไรก่อน เป็นส่วนที่เกินอำนาจของกองทัพเรือ เราได้แต่สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งตอนนี้ผู้เชี่ยวชาญมาจากหลายฝ่าย ไม่ได้มาจากกองทัพเรือฝ่ายเดียว แต่มาจากกระทรวง ทบวง และกรมต่างๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าท้ายที่สุดแล้วคำตอบจะออกมาเป็นอย่างไร

 

“ต้องขออนุญาตจริงๆ ต้องไปเวทีระดับชาติ แต่บทบาทของกองทัพเรือที่ผมนำเรียน เรามองแผนที่ เราต้องการเส้นตรงนั้น (เส้นเขตแดน) นั่นแหละครับ เราปกป้องเส้นตรงนั้นนั่นแหละครับ เราไม่เห็นเส้นอื่น ตรงนี้ยืนยันว่าเรายังปกป้องเส้นตรงนั้นอยู่ ตราบใดที่ยังไม่มีอะไรออกมาจากการตัดสินใจของรัฐบาล กองทัพเรือก็ยังยึดถือเส้นตรงนั้นอย่างเคร่งครัด”

 

ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อว่า หากมีนโยบายออกมาชัดเจนแล้ว กองทัพเรือก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายถูกต้องหรือไม่ น.อ. เกียรติยุทธ กล่าวว่า หากนโยบายดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อปวงชนชาวไทย กองทัพเรือจะต้องทำหน้าที่ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบาย อย่าลืมว่ารัฐบาลก็มาจากประชาชน ดังนั้นกองทัพเรือถือว่ารัฐบาลเป็นเสียงของประชาชน

จากนั้นผู้สื่อข่าวได้ทักท้วงว่ายังไม่ได้ตอบคำถามข้อที่ 2 ที่ถามว่ากองทัพเรือจะใช้หลักการใดให้ได้ข้อยุติในการปักปันเขตแดน น.อ. ผศ.สมาน กล่าวว่า เราต้องยึดหลักกฎหมายทะเลที่เป็นไปตามความเที่ยงธรรม ซึ่งต้องบอกว่าความเที่ยงธรรมเป็นนามธรรมมากๆ แต่สิ่งที่กองทัพเรือและกรมอุทกศาสตร์พยายามทำคือ ทำความเที่ยงธรรมที่เป็นนามธรรมนี้ให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องหาจุดร่วมกันให้ได้ เราจะพิสูจน์ให้เขายอมรับได้อย่างไร โดยต้องยอมรับว่าอีกฝั่งหนึ่งเขาก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเที่ยงธรรมอย่างไร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X