หากกล่าวถึงการทำหน้าที่ระหว่างสื่อมวลชนกับรัฐบาล ตลอดหลายปีที่ผ่านมานับแต่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เข้ามาปกครองประเทศ การขอความร่วมมือในการทำหน้าที่สื่อจากฝ่ายรัฐดูจะเข้มข้นและเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การออกคำสั่งเพื่อควบคุมการทำงานของสื่อ ตลอดจนแนวปฏิบัติต่างๆ
ล่าสุด มติชนออนไลน์ และ ไทยโพสต์ รายงานว่า วันนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เดินทางมาปฏิบัติภารกิจ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ที่ฮอลล์ 5-7 อิมแพ็ค เอ็กซิบิชัน เซ็นเตอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นภารกิจปกติตามที่ได้รับเชิญ
แต่บรรยากาศการทำงานของสื่อมวลชนกลับไม่ปกติ เนื่องจากวันนี้มีการตรวจเข้มกว่าปกติ เป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่จากกองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 จัดทำใบลงทะเบียนสำหรับช่างภาพสื่อมวลชน โดยให้มีการลงชื่อ สังกัด และเบอร์โทรศัพท์อย่างชัดเจน มีการจดเลขที่ไอดีการ์ดบัตรประชาชน ซึ่งข้อกำหนดมีเนื้อหาดังนี้ มารยาทในการถ่ายภาพของช่างภาพสื่อมวลชน
- ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกรัฐมนตรีและแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ
- การแต่งกายชุดสุภาพ บุรุษชุดสูทสากล สุภาพสตรีชุดกระโปรง รองเท้าหุ้มส้น
- กล้องที่จะนำมาบันทึกภาพต้องผ่านการตรวจและติดแท็กที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจสันติบาล
- จะอนุญาตให้เฉพาะช่างภาพที่ลงทะเบียน และติดปลอกแขนที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
- ไม่แสดงกิริยา วาจา หรือมารยาทอันไม่สมควร
- ในการถ่ายภาพ ควรอยู่ห่างจากนายกรัฐมนตรี 5 เมตรเป็นอย่างน้อย
- ไม่ควรเบียดเสียดกันถ่ายภาพ หรือถ่ายภาพลักษณะยืนค้ำศีรษะผู้อื่น หรือยื่นกล้องถ่ายภาพในลักษณะถ่ายภาพข้ามท่าน
ทั้งนี้ ยังมีข้อปฏิบัติในการบันทึกภาพนายกฯ นอกจากข้อปฏิบัติในการปฏิบัติตัวของสื่อ เพิ่มเติมอีกคือ
- ต้องไม่ถ่ายภาพตรงหน้า ขณะที่นายกรัฐมนตรีอยู่ในห้องรับรอง
- ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้นหรือลงจากที่สูง เช่น บันได ฯลฯ
- ห้ามถ่ายภาพขณะรับประทานอาหาร
- ห้ามออกนอกสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ วิ่งตัดหน้า วิ่งลุกลนหรือห้อมล้อมกีดขวางทางเดิน
- ให้บันทึกได้ในจุดหรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม
- การใช้ไฟฉายใช้ได้ในทุกโอกาส แต่การถ่ายไฟไม่ควรเกิน 1,500 วัตต์ และควรอยู่ห่างจากห้องรับรอง
- หากฝ่าฝืนมารยาทข้อควรปฏิบัติหรือไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จะถูกริบปลอกแขนและห้ามบันทึกภาพ
การขอความร่วมมือสื่อมีมาโดยตลอด ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 มีการจัดระเบียบสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล โดยกำหนดพื้นที่ห้ามเข้าในชั้นที่หนึ่งของตึกบัญชาการ หากต้องการสัมภาษณ์ต้องรอด้านนอก และหากนัดแหล่งข่าวต้องประสานกับทีมโฆษกฯ ก่อน กำหนดประตูให้เข้าออกรวมทั้งบัตรประจำตัวของนักข่าวประจำและฟรีแลนซ์
ขณะที่การทำหน้าที่ของสื่อในหลายโอกาสที่มีการขอความร่วมมือจากรัฐ แต่ไม่ได้รับความสะดวก เช่น กรณีที่นายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์งานให้รัฐบาล ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีไม่พอใจว่า “ผมก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากพวกสื่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็เชิญเลย ท่านจะไปทำอะไรของท่านก็ทำ ไม่ต้องไปตามสัมภาษณ์ผมอีกต่อไปก็ได้ แต่ผมก็จะพูดของผม อย่างน้อยผมก็พูดกับพวกท่าน ท่านคงไม่มีใครเบื่อจะฟังหรือมีใครจะลุกออกไปบ้างหรือไม่ ผมก็จะพูดของผมไปเรื่อยๆ เพราะผมต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า สิ่งสำคัญทุกคนต้องไม่เสียใจไม่ต้องน้อยใจผม”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีก็ได้รับเสียงวิจารณ์จากทั้งสื่อมวลชนและประชาชนในหลายครั้งระหว่างการทำงานร่วมกับสื่อ เช่น การโยนสิ่งของในลักษณะล้อเล่น หรือการตอบคำถามด้วยน้ำเสียงดุดัน เป็นต้น
อ้างอิง: