×

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ทำรายงานสถานการณ์สื่อมวลชนปี 67 ชี้เป็นปีแห่งความยากลำบาก

โดย THE STANDARD TEAM
27.12.2024
  • LOADING...

วานนี้ (26 ธันวาคม) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (Thai Journalists Association) รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2567: ปีแห่งความยากลำบากของสื่อมวลชน

 

ในรายงานระบุว่า ตลอดปี 2567 ที่กำลังจะผ่านไป สื่อมวลชนยังคงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้าไม่หยุดนิ่ง ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการทำงานของสื่อมวลชน ทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือของข่าวและการปรับตัวจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ 

 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวในภาพรวม อาจส่งผลกระทบต่อสื่อมวลชนในประเด็นหลัก 2 ประการ คือ 1. สิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน และ 2. ปัญหาการเลิกจ้างสื่อ และการปรับตัวเข้ากับแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่มาจากสภาวะเศรษฐกิจ

 

1. ปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชน

 

1.1 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจ (สน.) พระราชวัง เข้าจับกุม ณัฐพล เมฆโสภณ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวประชาไท และ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพอิสระ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ตามหมายจับของศาล ข้อหาสนับสนุนให้มีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด จากการไปรายงานข่าวและถ่ายภาพบุคคลที่กำลังพ่นสีเขียนข้อความที่กำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในวันที่ 28 มีนาคม 2566 โดยนำไปเกี่ยวโยงกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในขณะนั้น ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทบต่อสถาบันฯ 

 

ทั้งนี้ ทั้ง 2 คนถูกนำตัวไปคุมขังไว้ 1 คืน ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อาจเข้าข่ายคุกคาม และละเมิดสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนที่ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ และมองว่าการจับกุมของเจ้าหน้าที่โดยไม่มีหมายเรียกเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ และเป็นการปรามสื่อถึงการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวออกมาภายหลัง 

 

1.2 หลังการเปลี่ยนรัฐบาลเมื่อเดือนสิงหาคม พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ถูกผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสซักถามถึงการไม่เข้าร่วมประชุมสภาเพื่อลงมติเลือก แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประวิตร มีท่าทีฉุนเฉียว พร้อมใช้มือผลักไปที่ศีรษะของผู้สื่อข่าวสุภาพสตรี ก่อนจะรีบเดินขึ้นรถไป 

 

กรณีนี้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนออกแถลงการณ์ประณามพฤติกรรมการข่มขู่ คุกคามสิทธิเสรีภาพ ถือเป็นการใช้ความรุนแรงและไม่ให้เกียรติผู้สื่อข่าว มีการยื่นเรื่องถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตรวจสอบจริยธรรมของ พล.อ. ประวิตร พร้อมทั้งเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำดังกล่าว

 

1.3 กรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอาวุโสบางรายที่วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสพิจารณาถอดรายการบางรายการ เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่เป็นกลางมาจัดรายการตำหนิรัฐบาล ซึ่งเป็นการพูดในระหว่างที่คณะกรรมการนโยบายและผู้บริหารของไทยพีบีเอสเข้ารายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ถูกมองว่าเป็นการข่มขู่สื่อมวลชนกลางสภา

 

จากทั้ง 3 เหตุการณ์ข้างต้น ย่อมมีผลต่อการลดทอนคุณภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนลงได้ เป็นที่มาของการที่สื่อมวลชนต้องเซ็นเซอร์ตนเองจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมบางกรณี โดยผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อมวลชนมีความจำเป็นต้องรายงานข้อมูลข่าวสารไปตามสถานการณ์เบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงประเด็นอ่อนไหวต่างๆ และเพื่อป้องกันการเผชิญหน้ากับการโจมตีจากกลุ่มผลประโยชน์หรือผลกระทบทางกฎหมาย หรือเพื่อป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดีตามมา

 

2. ปัญหาการเลิกจ้างสื่อ และการปรับตัวเข้ากับแพลตฟอร์มออนไลน์

 

สืบเนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบัน พบว่ารายได้ที่มาจากโฆษณาต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สื่อมวลชนหลายองค์กรต้องพึ่งพาแหล่งทุนที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐบาลและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ 

 

ส่งผลให้สื่อมวลชนเกิดความเกรงใจ อันเนื่องมาจากความจำเป็นในการพึ่งพางบประมาณค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน จนไม่สามารถตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายสาธารณะหรือกลุ่มทุนภาคธุรกิจที่ให้การสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ รูปแบบของการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เห็นได้ว่าการนำเสนอเนื้อหาสาระมักจะมุ่งเน้นที่ความนิยมหรือเรตติ้งมากกว่าคุณภาพของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ 

 

ปัจจุบันผู้บริโภคสื่อหันมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ประเภทต่างๆ รวมถึงการใช้เว็บไซต์ข่าวที่ไม่มีการเก็บค่าบริการ ส่งผลให้การจำหน่ายหนังสือพิมพ์และนิตยสารแบบดั้งเดิมลดลง นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางที่หลากหลายโดยไม่เสียค่าบริการ ดังนั้น ความท้าทายของการนำเสนอข่าวสารบนแพลตฟอร์มออนไลน์คือ ทำอย่างไรจึงสามารถทำให้ผู้บริโภคสมัครใจที่จะเข้าสู่การสมัครสมาชิกได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งค่อนข้างเป็นไปได้ยากในบริบทของสังคมไทย

 

ดังนั้น เมื่อองค์กรสื่อมวลชนต้องสูญเสียรายได้จากโฆษณา เพราะภาคธุรกิจเลือกใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Google หรือ Facebook ส่งผลให้สื่อมวลชนขาดรายได้ที่จะมาสนับสนุนการผลิตข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพในปัจจุบัน สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดต่อองค์กรสื่อมวลชน โดยตลอดปี 2567 องค์กรสื่อมวลชนหลายองค์กรจำเป็นต้องปรับโครงสร้างขนานใหญ่ด้วยการเลิกจ้างพนักงาน โดยเฉพาะสื่อทีวีที่มีปัญหาการขาดทุนสะสม 

 

เช่น กรณีสถานีโทรทัศน์ Voice TV ปิดตัวลงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 หลังจากดำเนินกิจการมากว่า 15 ปี พนักงานกว่า 200 คนต้องถูกเลิกจ้าง / สถานีโทรทัศน์ MONO29 ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่า 100 คน / เครือเนชั่นออกมาตรการพักการจ่ายเงินเดือน 10% กับพนักงานที่มีเงินเดือนตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไปเป็นเวลา 6 เดือน 

 

และในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ช่อง 3 ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เลิกจ้างพนักงานเกือบ 300 คน ขณะที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเปิดโครงการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ นอกจากนี้ ยังมีสื่อทีวีหลายช่องและองค์กรสื่อมวลชนหลายสำนักที่ปรับโครงสร้างด้วยการเลิกจ้างพนักงาน หรือพักการจ่ายเงินเดือนบางส่วน 

 

ดังนั้น ปี 2567 จึงเป็นปีแห่งความยากลำบากขององค์กรสื่อมวลชน ตลอดจนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางวิชาชีพ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของสื่อในการทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา ภาวะความผันผวนนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่องค์กรสื่อมวลชนจะต้องปรับตัวและสร้างความแตกต่างเพื่อความอยู่รอดในระยะยาวได้อย่างมั่นคงต่อไป

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X