เมื่อวานนี้ (21 เมษายน) จาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะโฆษกการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่าช่วงนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าสงสัยว่าค่าไฟขึ้นหรือค่าไฟฟ้าแพงเพราะการไฟฟ้าขึ้นค่าไฟนั้นไม่เป็นความจริง จึงขอชี้แจงว่าการไฟฟ้านครหลวงยังใช้หลักเกณฑ์วิธีการคิดค่าไฟฟ้าจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าในอัตราเดิม ส่วนสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นนั้น
เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 36-40 องศาเซลเซียส ทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ทำความเย็นทำงานมากขึ้นและใช้ไฟฟ้ามากขึ้นในระยะเวลาการใช้งานที่เท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ เช่น หากเราตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้องไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส จะพบว่าในช่วงฤดูร้อนแอร์จะทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิมมาก เพื่อปรับลดอุณหภูมิจาก 40 องศาเซลเซียสให้ถึงอุณหภูมิ 26 องศาเซลเซียสตามที่ตั้งค่าไว้ ซึ่งต่างกันถึง 14 องศาเซลเซียส จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น
และในทางกลับกัน ในช่วงฤดูหนาวหรือสภาวะอากาศปกติที่มีอุณหภูมิในห้องก่อนเปิดแอร์อยู่ที่ 30 องศาเซลเซียส ตั้งอุณหภูมิแอร์ในห้อง 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิจะต่างกันเพียง 4 องศาเซลเซียส จึงทำให้การทำงานของแอร์น้อยกว่าในช่วงฤดูร้อนหรือสภาพอากาศที่ร้อน เนื่องจากหากปรับลดอุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10% ด้วยเหตุนี้ในช่วงอากาศร้อนจึงทำให้มีค่าไฟฟ้าสูงขึ้น
รวมถึงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 มีมาตรการขอความร่วมมือให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่พักอาศัยและทำงานอยู่กับบ้าน เป็นอีกสาเหตุที่มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าตลอดทั้งวันเป็นเวลายาวนานเพิ่มขึ้น เปิดแอร์นานขึ้น เปิดปิดตู้เย็นบ่อยครั้ง ประกอบอาหารด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการใช้น้ำอุปโภคบริโภคมากขึ้น ทำให้ปั๊มน้ำทำงานมากขึ้น
ทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุที่มีหน่วยการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นโดยไม่รู้ตัว โดยผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถตรวจสอบหน่วยการใช้ไฟฟ้าและคำนวณค่าไฟฟ้าง่ายๆ ผ่าน MEA Smart Life Application ดาวน์โหลดฟรีทั้ง App Store และ Google Play คลิก http://onelink.to/measmartlife
สำหรับวิธีการที่จะช่วยให้ประหยัดไฟฟ้านั้น การไฟฟ้านครหลวงขอแนะนำให้เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน หมั่นดูแลบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้า และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า เช่น เปิดประตูหน้าต่างให้ลมถ่ายเท ใช้เครื่องปรับอากาศในช่วงเวลาจำเป็น และให้เปิดพัดลมช่วยโดยไม่ต้องลดอุณหภูมิของแอร์
อีกทั้งการเปิดแอร์พร้อมพัดลมจะประหยัดไฟได้มากกว่าการลดอุณหภูมิของแอร์ เพราะพัดลมช่วยเพิ่มความเร็วลม เพิ่มการเคลื่อนที่ของอากาศ ทำให้รู้สึกเย็นสบายมากขึ้น ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ควรปิดสวิตช์และถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจรที่ก่อให้เกิดอัคคีภัย และยังช่วยประหยัดไฟฟ้าได้อีกด้วย
ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลด้านการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยได้ที่ช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของ MEA หรือศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์