วันนี้ (25 มิถุนายน) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงรูปแบบการฉ้อโกง หลอกลวง และการกระทำผิดกฎหมายออนไลน์ว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
โดยมิจฉาชีพเข้าถึงผู้เสียหายได้มากขึ้น สืบเนื่องจากการที่โครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตเข้าถึงครอบคลุมทุกพื้นที่ และประชาชนใช้สมาร์ทโฟนมากถึง 100 ล้านเครื่อง ซึ่งสามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้กว่าร้อยละ 70
ชัยวุฒิกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้ดีอีเอส เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดแก้ไขปัญหา โดยในส่วนของดีอีเอสได้นำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีการทำธุรกิจออนไลน์ มีการซื้อ-ขาย มีการโอนเงิน ต้องจดแจ้งการประกอบธุรกิจ และจะมีมาตรการกำกับดูแลที่ต้องปฏิบัติตาม
ตัวอย่างเช่น การใช้บริการต้องมีการพิสูจน์ตัวตนทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย ระบบการจ่ายเงิน การโอนเงินต้องใช้ระบบการยืนยันตัวตน 2 ชั้น เพื่อป้องกันการนำข้อมูลลูกค้าไปจ่ายตัดบัญชีโดยเจ้าของไม่ทราบ ในส่วนประชาชนที่เป็นผู้เสียหายทางโซเชียลมีเดีย ด้วยหลักการของกฎหมาย ชัยวุฒิกล่าวว่า สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ หรือปัจจุบันสามารถแจ้งทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ thaipoliceonline.com ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เสียหายแจ้งความทางออนไลน์แล้วหลักหมื่นรายต่อเดือน
โดยส่วนตัวมองว่า ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ต่างๆ เกิดขึ้นทุกวัน ดีอีเอสจึงเน้นบังคับใช้กฎหมายและปราบปราม แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การให้ความรู้แก่ประชาชน ต้องให้ประชาชนมีภูมิต้านทานป้องกันการถูกหลอกลวง อย่าเชื่อ และอย่าโอนเงิน
ชัยวุฒิกล่าวต่อไปว่า สำหรับการประกาศบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา สามารถช่วยลดปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ในระดับหนึ่ง เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้ได้ชื่อและเบอร์ไปจากร้านค้าหรือกิจกรรมที่ประชาชนไปติดต่อ ดังนั้นเมื่อมีกฎหมายฉบับนี้แล้ว ข้อมูลเหล่านี้ต้องจัดเก็บให้ดี องค์กรธุรกิจต่างๆ จะไปถ่ายโอนหรือส่งต่อให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ไม่ได้
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ประกอบการ บริษัท หรือแม้แต่พรรคการเมืองที่มีข้อมูลผู้มาติดต่อ จากนี้ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเก็บให้ดี ไม่ให้รั่วไหล ผู้ที่จะเปิดดูข้อมูลได้ต้องมีความรับผิดชอบที่ชัดเจน หากข้อมูลรั่วไหลจะเป็นความผิด ถูกดำเนินคดีและฟ้องร้องได้ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จะต้องจัดทำระบบ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะออกระเบียบและประกาศไว้” ชัยวุฒิกล่าวในที่สุด