ประมวลจากสิ่งที่หนังสารคดีเรื่อง McQueen (2018) ผลงานกำกับของเอียน บอนโฮต และปีเตอร์ เอทเทตกุย บอกเล่า สองสามอย่างที่อาจสรุปได้ก็คือ พรสวรรค์และอัจฉริยภาพของ ลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ดีไซเนอร์เสื้อผ้าชาวอังกฤษชื่อก้องโลก ผู้ซึ่งได้รับฉายา ‘เด็ก(สาร)เลวแห่งวงการแฟชั่น’ เป็นเสมือนสิ่งที่เบื้องบนประทานมาให้จริงๆ
พูดง่ายๆ เขาเขย่าวงการแฟชั่นอย่างน่าตื่นตาด้วยลูกเล่นและความคิดสร้างสรรค์ที่ทั้งบ้าระห่ำและแหวกแนว งานออกแบบเสื้อผ้าหลายคอลเล็กชันของเขาเรียกทั้งเสียงประณามและก่นด่า พอๆ กับเสียงยกย่องสรรเสริญและชื่นชม หลายคนจำกัดความผลงานของเขาว่าน่ารังเกียจ วิกลจริต และน่าตื่นตระหนก ขณะที่จำนวนไม่น้อยมองว่า นี่คือความประณีตพิถีพิถัน เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ และฉีกไปจากกรอบซ้ำซากจำเจ แต่ไม่ว่าผู้คนจะชื่นชอบหรือรังเกียจผลงานของลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน ได้รับแรงบันดาลใจหรือรู้สึกถูกล่วงล้ำก้ำเกิน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือบุคคลที่สร้างความสะเทือนไหวให้กับวงการออกแบบเสื้อผ้าอย่างที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก
กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ดูเหมือนว่าเบื้องบนไม่ได้มอบติดตัวมาด้วย และบุคคลในอุตสาหกรรมบันเทิงจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาคล้ายคลึง (วิตนีย์ ฮุสตัน, เอมี ไวน์เฮาส์, เคิร์ต โคเบน, ฯลฯ) ก็คือไกด์บุ๊กสำหรับการรับมือกับชื่อเสียงและความสำเร็จที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว และชีวิตที่เหมือนกับไม่มีเข็มทิศนำทางก็ลงเอยด้วยสภาวะที่เขาพบว่าตัวเองไม่มีความสุขอย่างรุนแรง ยาเสพติดเป็นหนทางปลดปล่อย และเมื่อบุคคลใกล้ชิดซึ่งเป็นเสมือนสิ่งยึดเหนี่ยวสุดท้ายในชีวิตจากลา มันก็กลายเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ที่เจ้าตัวจะเริ่มมองไม่เห็นเหตุผลหรือความหมายของการมีชีวิตอยู่ต่อไป
ตามเนื้อผ้า McQueen ก็เป็นหนังสารคดีแนวชีวประวัติที่ชักชวนผู้ชมไปสำรวจเรื่องราวความเป็นมาของแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้ซึ่งนำพาตัวเองมาอยู่ในฉากสำคัญของวงการแฟชั่นอย่างไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร กระนั้นก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังของบอนโฮตและเอตเทตกุย-พิเศษและโดดเด่นกว่าหนังในแนวทางเดียวกัน ได้แก่การแบ่งกรอบการบอกเล่าออกเป็นทั้งหมดห้าตอน แต่ละตอนเชื่อมร้อยกันด้วยภาพแอนิเมชันหัวกะโหลกดิ้นทอง ซึ่งทั้งงดงาม ทั้งพิลึกกึกกือ น่าสะพรึงกลัว และเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏซ้ำ (หรือที่เรียกว่า motif) ในงานออกแบบของแม็กควีน รวมถึงทั้งห้าตอนก็ล้วนมีชื่อเรียกตามชื่อธีมหรือคอนเซปต์ในงานแฟชั่นโชว์อันโด่งดังของเขาตั้งแต่ช่วงแจ้งเกิดจนถึงวาระสุดท้าย
และว่าไปแล้ว ลำพังแค่ได้ยินชื่อของแต่ละตอน อาทิ Jack the Ripper Stalks His Victims หรือ Highland Rape หรือ It’s a Jungle Out There ก็น่าจะช่วยให้ผู้ชมที่อยู่นอกสารบบแฟชั่น-พอนึกภาพได้ว่า ผลงานการออกแบบของแม็กควีนแต่ละคอลเล็กชันซุกซ่อนมุมมืด ความร้ายกาจ หรือแม้กระทั่งสภาวะเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร (นั่นยังไม่ได้เอ่ยถึงในแง่ที่ว่า เสื้อผ้าที่เขาออกแบบสวมใส่ไม่ได้ในโลกของความเป็นจริง) อีกทั้งวิธีการที่คนทำหนังบอกเล่าชีวิตของแม็กควีนผ่านงานออกแบบเสื้อผ้าก็สื่อสารโดยอ้อมว่า ทั้งสองอย่างนี้ไม่อาจแยกออกจากกัน หรือว่ากันตามจริง แม็กควีนเคยกล่าวทำนองว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำล้วนแล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง “หากคุณอยากรู้จักตัวผม ก็ให้ดูที่ตัวงาน”
กระนั้นก็ตาม ส่วนที่ชวนครุ่นคิดพิจารณาอย่างยิ่งก็คือ การจุติในโลกแฟชั่นของแม็กควีน ประโยคหนึ่งที่จำกัดความการแจ้งเกิดของเขาได้อย่างเย่อหยิ่งและอหังการมากๆ และคนทำหนังก็ใส่เอาไว้ทั้งในหนังและเทรลเลอร์ด้วย-ก็คือถ้อยคำที่บุคคลใกล้ชิดบอกว่า “ไม่มีใครค้นพบอเล็กซานเดอร์ แม็กควีน อเล็กซานเดอร์ แม็กควีนค้นพบตัวเขาเอง”
จริงๆ แล้วเป็นเรื่องยากที่จะระบุอย่างชัดแจ้งทำนองว่าในความสำเร็จของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่มีบุคคลอื่นมาเกี่ยวข้องด้วยเลย เพราะจนแล้วจนรอด ความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เป็นเรื่องที่นอกจากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังเกิดขึ้นตลอดเวลา และคนหนึ่งที่เล่นบทบาทสำคัญในชีวิตของแม็กควีนก็คืออิซาเบลลา โบลว์ สไตลิสต์และอดีต บก. นิตยสารแฟชั่นชื่อดัง รวมถึงเป็นเพื่อนสนิท ข้อมูลหลายแหล่งพูดคล้ายคลึง (และตัวหนังของบอนโฮตและเอตเทตกุยก็ถ่ายทอดเอาไว้ด้วยเช่นกัน) ทำนองว่า เธอเป็นคนแรกที่ตระหนักถึง ‘ความเป็นไปได้’ ในตัวแม็กควีน และถึงกับกว้านซื้อผลงานสำเร็จการศึกษาของเขาทั้งหมด หรือกระทั่งหาหนทางให้เขาได้มีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง เรื่องราวน้อยใหญ่ที่ได้รับการบอกเล่าในหนังสารคดีเรื่อง McQueen ก็ชวนให้สรุปว่า ไม่ว่าฟ้าจะถล่มหรือดินทลาย ถึงที่สุดแล้ว แม็กควีนก็จะลงเอยด้วยการเป็นแม็กควีนตามที่ทุกคนรู้จักวันยังค่ำ และสิ่งที่ผู้ชมรับรู้ได้จากสิ่งที่หนังบอกเล่า (ผ่านคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าตัวช่วงวัยหนุ่ม หรือของเพื่อนสนิทมิตรสหายที่มองย้อนกลับไป) ไม่ใช่เพียงแค่ความเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่นที่จะเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ ทว่ารวมถึงความร้อนรน ดันทุรัง และทะเยอทะยาน
อาจกล่าวได้ว่า แม็กควีนก็เหมือนกับคนที่มีพรสวรรค์อันปราดเปรื่องทั้งหลายทั้งปวง (โมซาร์ตจนถึงสปีลเบิร์ก) ที่รู้ตัวตั้งแต่เริ่มแรกว่าความมุ่งมาดปรารถนาของเขาคืออะไร และนับจากโมเมนต์ที่เขา ‘ค้นพบศักยภาพของตัวเอง’ ทางเลือกในชีวิตของเขาก็เหลือเพียงแค่การพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นให้ได้ หรือไม่ก็พยายามจนชีวิตหาไม่
ส่วนที่น่าทึ่ง และทำให้การไต่เต้าไปสู่การเป็นแฟชั่นไอคอนของแม็กควีนเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสมากขึ้น (เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่หนังบอกเล่า) ก็ตรงที่เขาไม่ได้มาจากสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย หรือว่ากันตามจริง แฟชั่นเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับครอบครัวของเขาที่พ่อเป็นคนขับรถแท็กซี่ และปกครองด้วยระบอบลงไม้ลงมือ ชีวิตที่แทบไม่มีทั้งแต้มต่อและความได้เปรียบ ยังรวมถึงการที่เขาเรียนหนังสือไม่จบมัธยมปลาย ช่วงหนึ่งถึงกับต้องดำรงชีวิตด้วยเงินสวัสดิการคนว่างงาน หรือจริงๆ แล้ว เขาแอบใช้เงินก้อนดังกล่าวไปซื้อผ้ามาออกแบบตัดเย็บสำหรับการแสดงผลงานในระดับอาชีพครั้งแรก และต้องปกปิดอัตลักษณ์ของตัวเองเพื่อว่าจะได้ไม่ถูกจับได้ว่ามีงานทำ
แต่ก็นั่นแหละ อุปสรรคขวากหนามที่เหมือนกับพระเจ้าเขียนบทใส่เข้ามาในชีวิตของอเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ก็คลับคล้ายว่ามีจุดมุ่งหมายสองประการ หนึ่งก็เพื่อเน้นย้ำให้ผู้ชมได้เห็นแพสชัน หรือแรงขับอันพลุ่งพล่านของเจ้าตัว และสอง การที่เขามาจากรากเหง้าหรือกำพืดของคนใช้แรงงานก็กลับกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดี อย่างน้อย มันก็ทำให้ผู้คนในโลกแฟชั่นที่อยู่กับสิ่งสวยๆ งามๆ ตลอดเวลา-ได้ลิ้มรสชาติการออกแบบเสื้อผ้าที่ไม่ประนีประนอม กักขฬะ และหยาบกระด้าง บางครั้งพื้นที่อันกะทัดรัดบนแคตวอล์กก็แปรเปลี่ยนไปเป็นตรอกอันคับแคบและน่าประหวั่นพรั่นพรึง หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลบ้า และนางแบบของเขาที่สวมใส่เสื้อผ้าขาดวิ่นก็มีสภาพเหมือนเหยื่อที่เพิ่งจะถูกกระทำชำเรา
จริงๆ แล้ว การคิดอะไรที่สุดโต่งหรือบ้าบอคอแตกไม่ได้เป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรง ใครก็อาจนึกฝันอะไรห่ามๆ พิเรนทร์ๆ เยี่ยงนี้ได้ แต่หากใครได้ยลโฉมผลงานของแม็กควีนก็น่าจะพูดได้ว่า เขาผสมผสานโลกที่ไม่เข้ากันนี้ได้อย่างกลมกลืน แยบยลและแนบเนียน และทำให้เรามองเห็น ‘สุนทรียะ’ หรือความงามในโลกที่สุดแสนอัปลักษณ์
ไม่ว่าจะอย่างไร ข้อที่น่าชื่นชมมากๆ เกี่ยวกับวิธีการที่หนังของบอนโฮตและเอตเทตกุยเลือกบอกเล่า ได้แก่ การไม่พยายามยกยอปอปั้นซับเจกต์จนเกินเลย ถึงแม้ว่าบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ล้วนแล้วเป็นญาติสนิทมิตรสหาย หรือคนที่รักใคร่ในตัวลี (ชื่อที่คนใกล้ชิดเรียกเขา) แต่ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าก็ไม่ได้ปราศจากมุมมืดและด้านที่ไม่น่ารื่นรมย์ และนั่นคือตอนที่เราได้เห็นแม็กควีนไม่ยอมเลือกคนที่อุตส่าห์ฟูมฟักเขา อันได้แก่อิซาเบลลา โบลว์ มาเป็นส่วนหนึ่งของทีมในตอนที่เขาเริ่มสยายปีกบนเวทีแฟชั่นโลก และหนังบอกให้รู้ว่าฝ่ายหลังรู้สึกทั้งอกหักและผิดหวังอย่างแรง ว่ากันว่า นี่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของภาวะห่วงกังวลและสติแตกของแม็กควีนที่ทวีความหนักข้อมากขึ้นเรื่อยๆ หรือความบาดหมางกับเพื่อนสนิทที่ชื่อเซบาสเตียน ปงส์ ก็มีลักษณะคล้ายคลึง หรือแม้กระทั่งการพบตัวเขาติดเชื้อเอชไอวีในช่วงบั้นปลาย
หากจะลองแปลงชีวิตของอเล็กซานเดอร์ แม็กควีน ตามที่หนังเรื่อง McQueen บอกเล่าเป็นเส้นกราฟ มันก็คือการขึ้นสุดและลงสุด หรือที่เรียกว่า Rise and Fall แน่นอนว่าราวๆ ครึ่งแรกเป็นช่วงน่าสนุกและชวนให้รู้สึกชื่นชมยินดี โดยเฉพาะการได้เห็นคนที่มีพรสวรรค์ได้เปล่งประกายฉายแสง และทักษะและความสามารถของแม็กควีนก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นจริงๆ ทว่าครึ่งหลังกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับเฝ้ามองคนที่กำลังจะจมน้ำ ไม่มีใครทำอะไรได้ แม้กระทั่งการหยิบยื่นความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ
การจากไปก่อนเวลาอันควรของแม็กควีนนับเป็นโศกนาฏกรรม ยิ่งพิจารณาประกอบกับเนื้อหาที่หนังบอกเล่าด้วยท่าทีที่ซื่อสัตย์และจริงใจ มันก็ยิ่งทำให้สรุปเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากบอกว่าการสูญเสียเป็นเรื่องใหญ่หลวงและน่าเสียดาย คนดูจำนวนไม่น้อยคงถอดบทเรียนหรืออุทาหรณ์จากหนังได้ต่างๆ นานา แต่ไม่ว่าใครจะเก็บเกี่ยวอะไรไปได้บ้างหรือไม่ได้เลย อย่างหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือ นี่คือหนังสารคดีที่วาดภาพของศิลปินที่ห่างไกลจากพรักพร้อมนานัปการ ทว่ากลับสร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่และพลิกโฉมวงการแฟชั่น-ได้อย่างเต็มเปี่ยมไปด้วยเลือดเนื้อและความมีชีวิตชีวา
McQueen (2018)
กำกับ–เอียน บอนโฮต และปีเตอร์ เอตเทตกุย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์