ในการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น พรรครีพับลิกันสามารถพลิกกลับมาครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเหนือพรรคเดโมแครตได้อย่างฉิวเฉียดที่ 222 ต่อ 213 ที่นั่ง ซึ่งหลังจากการเลือกตั้งจบลง นักวิเคราะห์ทางการเมืองหลายคนได้ลงความเห็นตรงกันว่า สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่น่าจะเป็นสภาที่ยุ่งเหยิงที่น่าจะสร้างความปวดหัวให้กับผู้นำสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. ของพรรครีพับลิกันอย่าง เควิน แมคคาร์ธี เพราะ ส.ส. ของพรรคแค่ 5 คนก็สามารถรวมตัวกันล้มร่างกฎหมายใดๆ ที่แมคคาร์ธีจะผลักดันผ่านสภา ซึ่งนั่นก็แปลว่ากลุ่ม ส.ส. ขวาจัดของพรรคที่รู้จักกันในชื่อ House Freedom Caucus จะมีอิทธิพลสูงมากต่อทิศทางการทำงานของพรรค
การเลือกตั้งประธานสภาอันแสนวุ่นวาย
แล้วสิ่งที่นักวิเคราะห์มองไว้ก็เป็นจริงตั้งแต่เปิดสภามา เมื่อ ส.ส. ในกลุ่ม House Freedom Caucus รวมตัวกันโหวตให้คนอื่นแทนที่จะเป็นผู้นำของพรรคอย่างแมคคาร์ธี ทำให้แมคคาร์ธีกลายเป็นผู้นำพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรคนแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ที่ไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งแต่การลงคะแนนในรอบแรก
House Freedom Caucus ได้ใช้การลงคะแนนเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแสดงให้แมคคาร์ธีเห็นว่าพวกเขาคือผู้กุมทิศทางของเขา แมคคาร์ธีต้องใช้เวลาถึง 4 วันกับการลงคะแนน 15 รอบ กว่าที่เขาจะสามารถหว่านล้อมให้ House Freedom Caucus หันกลับมาลงคะแนนให้เขาได้
House Freedom Caucus ได้เกือบทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ
ส.ส. ในกลุ่ม House Freedom Caucus นั้นคือกลุ่มที่มีความอนุรักษนิยมที่สุด แม้แต่เมื่อเทียบกับ ส.ส. ของรีพับลิกันด้วยกัน โดยที่พวกเขามีสมาชิกอยู่ราวๆ 50 คน ส.ส. กลุ่มนี้ไม่เชื่อในเรื่องการประนีประนอม และต้องการให้พรรครีพับลิกันต่อต้านนโยบายเสรีนิยมของเดโมแครตในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส. ในกลุ่มกว่าสิบคนที่มีความจงรักภักดีอย่างยิ่งยวดกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เช่น ส.ส. มาร์จอรี เทย์เลอร์ กรีน จากมลรัฐจอร์เจีย ส.ส. ลอเรน โบเบิร์ต จากมลรัฐโคโลราโด และ ส.ส. แมตต์ เกตซ์ จากมลรัฐฟลอริดา
ราคาที่แมคคาร์ธีต้องจ่ายเพื่อยอมให้ ส.ส. ในกลุ่ม House Freedom Caucus มาลงคะแนนให้เขานั้นสูงมาก เพราะพวกเขาได้ใช้โอกาสในการลงคะแนนเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร บีบบังคับให้แมคคาร์ธีสัญญาว่าจะดำเนินนโยบายในสภาล่างแบบขวาจัดตามแนวทางของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงที่จะให้แมคคาร์ธีนำร่างกฎหมายการสร้างกำแพงกั้นเขตชายแดนเม็กซิโก ร่างกฎหมายลดขนาดกรมสรรพากร และการยกเลิกงบประมาณพิเศษที่เคยอนุมัติให้รัฐบาลของไบเดนนำไปใช้ในช่วงวิกฤตโควิดมาโหวตในสภาทันที (แต่อย่างไรก็ดี การโหวตร่างกฎหมายเหล่านี้คงเป็นได้แค่การโหวตเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เพราะมันไม่มีทางผ่านสภาสูงที่เดโมแครตยังครองเสียงข้างมากอยู่)
ที่สำคัญไปกว่านั้น แมคคาร์ธียังยอมเปลี่ยนกฎของสภาผู้แทนราษฎรให้ ส.ส. เพียงหนึ่งคนก็สามารถเรียกร้องให้มีการลงคะแนนไม่ไว้วางใจประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ (จากเดิมต้องอาศัยเสียงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของพรรคที่มีเสียงข้างมาก) ซึ่งก็แปลว่าเก้าอี้ของแมคคาร์ธีนั้นง่อนแง่นเหลือเกิน และเขาก็มีโอกาสจะถูกโหวตไม่ไว้วางใจจนหลุดออกจากตำแหน่งเมื่อใดก็ได้
จะไม่มีการอ่อนข้อให้ไบเดน
โจ ไบเดน นั้นพยายามจะบริหารประเทศด้วยการประนีประนอมกับรีพับลิกันมาโดยตลอดในช่วงสองปีแรก โดยจะเห็นได้ว่าร่างกฎหมายใหญ่ๆ ที่เขาสามารถผลักดันผ่านสภาออกมาได้ (เช่น การลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานขนาดใหญ่ และกฎหมายควบคุมอาวุธปืน) จะมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. ของรีพับลิกันจำนวนหนึ่งอยู่เสมอ
แต่ในสองปีที่เหลือของเขา ไบเดนคงจะไม่สามารถบริหารงานในลักษณะนั้นได้อีกแล้ว เพราะ ส.ส. ในกลุ่ม House Freedom Caucus จะกดดันไม่ให้สภาผู้แทนราษฎรประนีประนอมกับทำเนียบขาวเป็นอันขาด โดยที่พวกเขาน่าจะรวมตัวกันโหวตคว่ำร่างใดๆ ที่ไบเดนเสนอมา รวมถึงอาจจะโหวตไม่ไว้วางใจแมคคาร์ธี ถ้าเขาแสดงท่าทีให้เห็นว่าอ่อนข้อให้กับไบเดน ซึ่งก็แปลได้ว่ามีโอกาสสูงมากที่สองปีต่อจากนี้ เราจะไม่ได้เห็นการดำเนินนโยบายใดๆ ที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาลเลย รวมถึงโอกาสที่ไบเดนจะไม่สามารถผ่านร่างงบประมาณประจำปีได้ เพราะแมคคาร์ธีก็ได้ให้สัญญากับ House Freedom Caucus ว่า เขาจะไม่ยอมให้ร่างงบประมาณแผ่นดินที่เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ผ่านสภาของเขาไปได้ ซึ่งนั่นก็แปลว่าเราอาจจะได้เห็นการปิดระบบราชการ (Government Shutdown) กันอีกครั้งหนึ่ง
ภาพ: Tom Williams / CQ-Roll Call, Inc via Getty Images