หุ้น บมจ.มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย หรือ MCA เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai วันนี้ (26 ตุลาคม) เป็นวันแรก ราคาเปิดการซื้อ-ขายที่ 3 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ -9.1% โดยระหว่างการซื้อ-ขายในช่วง 1 ชั่วโมงแรก ราคาขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 3.42 บาท บวก 3.64% ส่วนราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2.12 บาท ลดลง 1.18 บาท ติดลบ 35.76 บาท จากราคาจองซื้อ IPO ที่ 3.30 บาท
MCA เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ภายใต้กลุ่มบริการ ด้วยมูลค่าเสนอขาย 198 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 759 ล้านบาท
MCA ผู้ให้บริการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดอย่างครบวงจร ผ่านรูปแบบของกิจกรรมการตลาดภาคสนาม (Field Marketing) โดยมี 4 บริการหลัก คือ
- บริการจัดกิจกรรมทางการตลาดและดิจิทัล
- บริการบรรจุและจัดส่งสินค้า
- บริการพนักงานแนะนำสินค้า
- บริการจัดเรียงสินค้า
โดยครึ่งปีแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้จาก 4 บริการหลัก ร้อยละ 39, 4, 22 และ 35 ตามลำดับ ลูกค้าหลักอยู่ในอุตสาหกรรมกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทคนไทย
นอกจากนี้ บริษัทเริ่มดำเนินธุรกิจใหม่ในการเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) โดยมีโครงการนำร่อง 1 โครงการให้กับลูกค้ากลุ่มธุรกิจของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ในไตรมาส 3/66
MCA มีทุนชำระแล้วหลัง IPO 115 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 170 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 60 ล้านหุ้น เสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ไม่น้อยกว่า 51.8 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทฯ ไม่เกิน 4.5 ล้านหุ้น กรรมการและผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ไม่เกิน 3.7 ล้านหุ้น
ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ที่ 35.24 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิต่อหุ้นในช่วง 4 ไตรมาสล่าสุด โดยมีบริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และ บล.โกลเบล็ก เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น IPO
ภักดี เหล่างาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย (MCA) เปิดเผยว่า เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ลงทุนในสินทรัพย์สำหรับธุรกิจ Distributor ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 30% ของกำไรสุทธิหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสะสมของงบการเงินเฉพาะกิจการ และทุนสำรองตามกฎหมายในแต่ละปี
MCA มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลังเข้าจดทะเบียนคือ กลุ่มภักดี เหล่างาม ถือหุ้น 68.91%
บล.ทิสโก้ จับตา 2 ปัจจัยเสี่ยง
ด้าน บล.ทิสโก้ ให้ความเห็นว่า MCA อยู่อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) มีผู้เล่นที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมจำนวนมาก ประกอบกับผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมได้ง่าย ทั้งบริษัทจัดกิจกรรมทางด้านการตลาดโดยตรง และบริษัทที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์ (PR) หรือบริษัทลูกค้าอาจมีการจัดกิจกรรมขึ้นเอง ส่งผลให้การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมสูง แต่บริษัทมีความแตกต่างจากผู้เล่นอื่นในแง่ของการให้บริการที่ครบวงจรตั้งแต่วางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดไปจนถึงการผลักดันยอดขาย รวมทั้งบริษัทมีความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจ ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทันต่อสถานการณ์
นอกจากนี้แผนขยายธุรกิจไปเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้า โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านกิจกรรมทางการตลาดของบริษัทมาสนับสนุนการดำเนินงานในส่วนนี้ เป็นการต่อยอดธุรกิจที่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่การประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ดังนั้นการระดมทุนในครั้งนี้จึงมีความเหมาะสมในระยะสั้น
โดยมองว่ารายได้จะฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำ ประกอบกับปี 2566 เป็นปีที่เปิดประเทศเต็มปี หลังจากธุรกิจจัดกิจกรรมทางการตลาดได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงโควิด ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมทางการตลาดได้ นอกจากนี้ช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ของทุกปี เป็นช่วงที่รายได้เติบโตสูง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาล การจัดกิจกรรมทางการตลาดจึงสูงขึ้นตามไปด้วย ในระยะยาวคาดว่าอุปสงค์การวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดและการให้บริการจัดกิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดจะเพิ่มขึ้น จากการแข่งขันในสินค้าต่างๆ ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เป็นฐานลูกค้าหลักของบริษัท
รวมทั้งกลยุทธ์การขยายการให้บริการและขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันของบริษัทจะช่วยหนุนให้รายได้เติบโตอย่างสม่ำเสมอในอนาคต อัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิเริ่มฟื้นตัวจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากการบริการจัดกิจกรรมทางด้านการตลาดที่ฟื้นตัวโดยเติบโต 27.79% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นบริการที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิช่วงครึ่งแรกปี 2566 โตขึ้น 69.57%YoY
อย่างไรก็ตามในระยะยาวธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมดของบริษัทจะช่วยให้สามารถบริหารทรัพยากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ต้นทุนต่างๆ ลดลงจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และหากธุรกิจให้บริการจัดเรียงสินค้าและธุรกิจผู้จัดจำหน่ายสินค้าเข้าสู่ช่วงการเติบโต อัตรากำไรจะขยายตัวมากขึ้น
ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อ ได้แก่
- การให้บริการหรือขยายธุรกิจเพิ่ม
- การเติบโตของธุรกิจให้บริการจัดเรียงสินค้าและธุรกิจผู้จัดจำหน่ายสินค้า
- งบประมาณทางการตลาดของกลุ่มลูกค้า
ความเสี่ยงธุรกิจ ได้แก่
- การพึ่งพิงพนักงานผู้ให้บริการจากภายนอก (Outsource)
- การแข่งขันภายในอุตสาหกรรมที่สูง
- สภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
โดยจากการประเมินมูลค่าเบื้องต้นด้วยวิธี PER เฉลี่ยของผู้ประกอบธุรกิจใกล้เคียงกันที่ 37.6x เท่า ได้มูลค่าที่เหมาะสมใกล้เคียงกับราคา IPO