×

ยีนส์ร้อนแรง แม็คกรุ๊ปวิ่งฝ่าสงครามราคา Temu ย้ำโปรดักต์ไหนขายดีทำต่อ ส่วนตัวไหนขายไม่ดีเลิกทำ มั่นใจโตดับเบิลดิจิตทุกปี

17.10.2024
  • LOADING...
แม็คกรุ๊ป

ตลาดยีนส์ร้อนแรง แม็คกรุ๊ปวิ่งฝ่าสงครามราคาจาก Temu แพลตฟอร์มสัญชาติจีน ย้ำไม่หยุดนิ่งสร้างจุดแข็งให้แบรนด์ โปรดักต์ไหนขายดีทำต่อ ส่วนโปรดักต์ไหนขายไม่ดีเลิกทำ พร้อมปรับปรุงร้านให้ใหญ่ขึ้น เติมสินค้าไลฟ์สไตล์เข้าไปดึงลูกค้า มั่นใจโตดับเบิลดิจิตทุกปี 

 

เจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC กล่าวว่า ความท้าทายของการทำตลาดสินค้าแฟชั่นไม่ง่าย ต้องคอยติดตามเศรษฐกิจโลกที่จะมีผลต่อต้นทุนการดำเนินที่สูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันที่มากขึ้นเรื่อยๆ หากสังเกตจะเห็นว่าแบรนด์แฟชั่นหลายค่ายออกสินค้ากางเกงยีนส์กันหมด รวมถึงการเข้ามาของโลคัลแบรนด์หรือแม้แต่ Temu แพลตฟอร์มสัญชาติจีน ซึ่งแต่ละค่ายแข่งขันกันเรื่องราคาเพื่อดึงลูกค้า 

 

ปัจจัยทั้งหมดให้ตลาดร้อนแรงมากขึ้น แม็คกรุ๊ปจึงไม่หยุดนิ่งสร้างจุดแข็งให้กับแบรนด์ ทั้งการมีพาร์ตเนอร์ในการผลิตสินค้าอย่าง ITOCHU จากประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นผู้ผลิตเนื้อผ้าส่งให้กระบวนการผลิตของบริษัท และมีบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ในปีนี้บริษัทก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 แม้จะเรียกตัวเองว่าเป็นแม็คยีนส์ แต่จริงๆ แล้วได้ผันตัวมาเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ และปัจจุบันยีนส์มีสัดส่วนยอดขายอยู่แค่ 40% และสินค้าไลฟ์สไตล์ 60% 

 

ทิศทางต่อจากนี้ โปรดักต์ไหนขายดีทำต่อ ส่วนโปรดักต์ไหนขายไม่ดีก็เลิกทำ ควบคู่กับการมองหาพาร์ตเนอร์ใหม่ๆ เข้ามาร่วมกันสร้างแบรนด์ โดยที่ผ่านมาแม็คยีนส์เคยจับมือกับขายหัวเราะ และคอลแลบกับ อนันดา เอเวอริงแฮม ร่วมกันเปิดตัวคอลเล็กชันใหม่ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และตอนนั้นยอดขายก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

 

ล่าสุดได้เปิดตัวแม็คยีนส์แบรนด์แอมบาสเดอร์ โดยคว้าตัว อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม และ อนันดา เอเวอริงแฮม เข้ามาเป็นตัวแทนถ่ายทอดแบรนด์คอนเซปต์หลักของแม็คยีนส์ My Mc My Way ชีวิตเต็มแม็ค โดยมีเป้าหมายสร้างแบรนด์ให้ครองทุกเจเนอเรชัน 

 

นอกจากนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แม็คกรุ๊ปได้ลอนซ์สินค้าหมวดไลฟ์สไตล์มากขึ้น ทั้งรองเท้า หมวก เสื้อยืด และฮู้ดดี้ แต่ปัญหาที่เจอตอนนี้คือขนาดร้านค่อนข้างเล็ก ไม่สามารถเติมสินค้าเข้าไปจำนวนมากได้ 

 

ทั้งหมดเป็น Pain Point ที่ต้องเร่งแก้ไข จึงเตรียมรีโนเวตสาขาให้เป็นแฟลกชิปสโตร์ประมาณ 30 สาขา ซึ่งจะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ทำให้เติมสินค้าเข้าไปได้มากขึ้น โดยเฉลี่ยแต่ละสาขาใช้งบไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท

 

สำหรับการขยายสาขาใหม่ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว จากนี้จะไม่เปิดเพิ่ม เพราะปัจจุบันมีสาขากว่า 600 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ สิ่งที่ต้องหันมาให้ความสำคัญคือผลักดันช่องทางอีคอมเมิร์ซที่กำลังโตต่อเนื่อง โดยปีนี้เติบโตเฉลี่ย 12-13% ต่อเดือน ปัจจุบันยอดขายมาจากช่องทางนี้ 15%

 

จากกลยุทธ์ทั้งหมดจะทำให้ภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในปีบัญชี 2568 (1 กรกฎาคม 2567 – 30 มิถุนายน 2568) เติบโตในตัวเลขสองหลักได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนปีบัญชี 2567 (1 กรกฎาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567) บริษัทมีกำไรสุทธิ 713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70 ล้านบาท หรือ 10.8% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 644 ล้าน โดยมีอัตรากำไรสุทธิ 17.3% รวมทั้งยังคงรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ในระดับสูงที่ระดับ 64.2% 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X