MC Group แบรนด์ยีนส์ที่ทำธุรกิจในไทยกว่า 45 ปี ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาเจอผลกระทบการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ทำให้รายได้ลดลง และผลการดำเนินงานบางช่วงขาดทุน
แต่ปีนี้ MC Group วางแผนจะ Turn Around หรือพลิกฟื้นมามีกำไรผ่านการปรับแผนและแต่งตั้งซีอีโอใหม่ ชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ทางออกของธุรกิจยีนส์ที่มีคู่แข่งจากต่างประเทศและคู่แข่งในท้องถิ่นจะเป็นอย่างไร
เปิดแผนปรับโครงสร้าง 3 ปี พลิกฟื้นธุรกิจสู้เศรษฐกิจชะลอตัว
ชนัญญารักษ์เล่าว่าธุรกิจยีนส์เจอผลกระทบต่อเนื่องทั้ง Disrupt จากระบบดิจิทัล การขายของผ่านช่องทางออนไลน์ โดยปี 2561 แม้ธุรกิจเสื้อผ้าในไทยมีมูลค่า 3.3 แสนล้านบาท ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกปี 2562 ยังมีทิศทางเติบโตลดลงเหลือปีละ 3-5% ในส่วนตลาดยีนส์ของไทยยังมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นทั้งจากต่างประเทศและแบรนด์ท้องถิ่นในไทยที่หันมาทำยีนส์แฟชั่นมากขึ้น ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมารายได้และกำไรลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้บริษัทต้องออกโปรโมชันใหม่ๆ กระตุ้นการซื้อสินค้า โดยจะปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อรองรับเศรษฐกิจที่จะกลับมาเติบโตผ่านแผน 3 ปี (ปี 2563-2565) ซึ่งมีเป้าหมายการปรับโครงสร้างและเพิ่มกำไรต่อเนื่องให้ธุรกิจ ได้แก่
1. การปรับโครงสร้างธุรกิจทั้งการเข้าถึงลูกค้า แบรนด์ และบริหารซัพพลายเชนให้มีประสิทธิภาพ
2. New S-Curve ออกแผนการสร้างรายได้ใหม่ๆ ทั้งการสร้างแพลตฟอร์มร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศ และการกระจายความเสี่ยงไปที่ธุรกิจใหม่ๆ มากกว่ายีนส์
3. ขยายการเติบโตธุรกิจ มุ่งเน้นการขยายตลาดในต่างประเทศ
“แผน 3 ปี ปีแรกเราเน้นเรื่องซัพพลายเชนที่ขันน็อตทุกส่วนให้แน่น ปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งปรับทีมภายใน เรื่องคน ปรับอำนาจการอนุมัติ การเพิ่มสินค้าใหม่ๆ ปีที่ 2 ทำแผนรายได้ใหม่ เน้นรีเทลแพลตฟอร์ม และจะเห็นรายได้เติบโตขึ้น ส่วนปีที่ 3 เน้นความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ให้เติบโตยิ่งขึ้น”
ชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็ค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
MC Group ชี้ 2563 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง เพิ่มพันธมิตร – ขยายแพลตฟอร์ม – ขายต่างประเทศ
ปี 2563 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายเรื่อง เช่น การขยายไลน์ผลิตภัณฑ์จากปัจจุบันเป็นยีนส์ 60% ในอนาคตสินค้าที่ไม่ใช่ยีนส์จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ต้นปีหน้าจะเห็นการร่วมมือกับพันธมิตรแพลตฟอร์มใหม่จากต่างประเทศเพื่อขยายการขายสินค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าในแผนงานปีที่ 2 และ 3 จะมีรายได้จากต่างประเทศอย่างน้อย 300-400 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนราว 15% จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 3% (ปัจจุบันรายได้จากในประเทศอยู่ที่ 97%)
“สินค้าไทยได้รับการตอบรับจากประเทศเพื่อนบ้านดีมาก ปีหน้าเราจะขยายตลาดไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นผ่านพันธมิตรแพลตฟอร์ม นอกจากนี้เรายังมองหาไลน์ธุรกิจใหม่ ขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ครีม สกินแคร์ บิวตี้ ฯลฯ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ”
ความเสี่ยงและความท้าทายของธุรกิจยีนส์
ความเสี่ยงหลักอยู่ที่การบริหารเรื่องซัพพลายเชน MC Group มีสินค้าในคลังค่อนข้างเยอะ ซึ่งมีมากกว่าที่ธุรกิจรายย่อยควรเก็บไว้ จึงกระทบต่อต้นทุนการคลัง การบริหารคน หลังจากนี้ต้องทยอยปรับระบบจัดการคลังเพื่อรองรับกับสินค้าเดิมและสินค้าใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันแผนธุรกิจจะเน้นไปที่การผสานจุดแข็งเดิมคือการมีร้าน 600 สาขา นำมาเชื่อมโยงกับช่องทางออนไลน์ผ่านกลยุทธ์ O2O (Online to Offline) ให้ลูกค้าเข้าถึงบริการของบริษัทได้ง่ายขึ้น เช่น การซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ แต่มาลอง แก้ไขชุด หรือส่งคืนชุดได้ที่สาขา ฯลฯ บริการนี้จะเริ่มใช้ในปี 2563
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของบริษัทคือทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การคัดเลือกวัตถุดิบ โรงงานตัดเย็บ ไปจนถึงร้านขาย ทำให้สามารถบริหารแต่ละจุดเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มกำไรได้มากขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีกำไรราว 15% แสดงว่าการบริหารธุรกิจยังสามารถต่อยอดด้านอื่นๆ ได้
สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนมือจากเจ้าของกิจการบริหารเองสู่การใช้ทีมผู้บริหารภายนอกจะทำให้รายได้และกำไรของ MC Group กลับมาเติบโตได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อเนื่อง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์