พาณิชย์เผย เงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2563 ติดลบ 3.44% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน หลังราคาพลังงานลดลง ส่งผลให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หลังติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน ส่วนทั้งปียังมองติดลบที่ 0.2-1%
พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาติดลบ 3.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ติดลบมากที่สุดในรอบ 10 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 และส่งผลให้ไทยเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหลังจากติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน
สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 5 เดือน ติดลบ 1.04% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.01% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เฉลี่ย 5 เดือนอยู่ที่ 0.40%
โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปติดลบเกิดจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าจะปรับสูงขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางราย
นอกจากนี้ราคาอาหารสด โดยเฉพาะผักสด ในปีที่ผ่านมาค่อนข้างสูง ทำให้ราคาผักสดลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี สำหรับราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน
อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในวงกว้างทั่วโลกส่งผลให้ภาคการผลิตและบริการทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ถึงแม้ว่าจะมีหลายประเทศรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บ้างแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดด้านกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในบางกิจกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าวนับเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับศักยภาพการผลิตและความสามารถด้านการแข่งขันของไทยยังอยู่ในระดับดี ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้โดยเร็ว ทั้งนี้ภัยแล้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตร ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญต่อไป
“เงินเฟ้อปีนี้ติดลบแน่นอน แต่จะมากน้อยแค่ไหนยังคงต้องติดตามราคาในเดือนมิถุนายนนี้ก่อน ส่วนเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้นมองว่าเป็นจุดที่ต่ำสุดของเงินเฟ้อแล้ว” พิมพ์ชนกกล่าว
เงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนนี้ยังหดตัว แต่ในอัตราที่ลดลง ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปว่าจะยังติดลบระหว่าง 0.2-1% โดยมีค่ากลางติดลบที่ 0.6% โดย สนค. ยังไม่มีการปรับเป้าหมายเงินเฟ้อในปีนี้
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อ นอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วยังมาจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำและการส่งออกที่ยังรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งอุปทานส่วนเกินของสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นผลจากการลดลงของอุปสงค์และสงครามการค้า
ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร แม้ยังมีปัจจัยบวกจากภัยแล้งและอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ต่างๆ แต่การลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออุปสงค์ในภาคการผลิตและบริการอย่างมีนัยสำคัญตลอดทั้งปี
“แม้จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่เป็นเงินฝืดทางเทคนิค เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการดูแลและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ถ้าหากการส่งออกเริ่มกลับมา ราคาน้ำมันไม่สูงมากนัก ขณะที่รัฐบาลยังมีมาตรการในการดูแล ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในระดับนี้เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาคการบริโภค” พิมพ์ชนกกล่าว
สำหรับสมมติฐานคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ภายใต้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ติดลบ 4.8-5.8% ราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีที่ 35-45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีที่ 30.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์
รายงาน ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์