เตือน! หากหมายเลขโทรศัพท์มือถือมีชื่อเจ้าของซิมไม่ตรงกับชื่อผู้ใช้งาน Mobile Banking ต้องเริ่มติดต่อศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือหรือธนาคาร เพื่อดำเนินการให้ข้อมูลชื่อเจ้าของซิมตรงกับชื่อที่ใช้งาน Mobile Banking ภายในวันที่ 30 เมษายน 2568 หากไม่ดำเนินการภายในกำหนด บริการ Mobile Banking อาจถูกระงับการใช้งาน
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกำหนดมาตรการการดำเนินการตรวจสอบรายชื่อเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์มือถือและเจ้าของบัญชีธนาคาร Mobile Banking หรือการ Cleaning Mobile Banking เพื่อให้ชื่อผู้ใช้งาน Mobile Banking ตรงกับชื่อเจ้าของซิมหมายเลขโทรศัพท์มือถือ
โดย กสทช. และ Telco (ผู้ให้บริการโทรคมนาคม) รวมถึงสำนักงาน ปปง., ธปท. และธนาคาร ได้ดำเนินการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์จำนวนกว่า 120 ล้านหมายเลข แล้วเสร็จเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 และได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มที่ 1 ลูกค้าที่ Telco แจ้งเป็น M (ชื่อเจ้าของซิมและ Mobile Banking ตรงกัน) มีจำนวนประมาณ 75.8 ล้านหมายเลข คิดเป็น 63.02%
- กลุ่มที่ 2 ลูกค้าที่ Telco แจ้งเป็น N (ชื่อเจ้าของซิมและ Mobile Banking ไม่ตรงกัน) มีจำนวนประมาณ 30.9 ล้านหมายเลข คิดเป็น 25.68%
- กลุ่มที่ 3 ลูกค้าที่ Telco แจ้งกลับมาเป็น P (ไม่พบชื่อเจ้าของซิม/ไม่มีข้อมูล) มีจำนวน 13.5 ล้านหมายเลข คิดเป็น 11.29%
เปิดขั้นตอนการดำเนินการ หากเป็นกลุ่ม 1-3
ธนาคารจะดำเนินการแจ้งประชาชน (ลูกค้าในกลุ่มที่ 2 (กลุ่ม N) และกลุ่มที่ 3 (กลุ่ม P)) ผ่านช่องทาง Mobile Banking ของแต่ละธนาคาร ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยประชาชนที่ได้รับแจ้งต้องดำเนินการอัปเดตข้อมูลชื่อเจ้าของซิมและชื่อผู้ใช้งาน Mobile Banking ให้ตรงกันภายในเวลา 90 วัน (สิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2568) หากไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ปปง., ธปท. และ กสทช. จะพิจารณาระงับการใช้งาน Mobile Banking เป็นการชั่วคราวต่อไป
สำหรับกลุ่ม N (เจ้าของซิมและ Mobile Banking ไม่ตรงกัน) บัญชีต่างชาติ กลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เปิดบัญชีตั้งแต่ปี 2565 และเปิดใช้งาน Mobile Banking ก่อนปี 2566 ที่มีชื่อเจ้าของซิมกับชื่อผู้ใช้งาน Mobile Banking ไม่ตรงกัน ประชาชนสามารถดำเนินการได้ดังนี้
ในกรณีหมายเลขโทรศัพท์มือถือมีชื่อเจ้าของซิมไม่ตรงกับชื่อผู้ใช้งาน Mobile Banking สามารถติดต่อศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือเพื่อเปลี่ยนเจ้าของซิม หรือติดต่อธนาคารที่ใช้งาน Mobile Banking เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ผูกกับ Mobile Banking ของธนาคาร เพื่อดำเนินการให้ข้อมูลชื่อเจ้าของซิมตรงกับชื่อที่ใช้งาน Mobile Banking ภายในวันที่ 30 เมษายน 2568 หากไม่ดำเนินการภายในกำหนด บริการ Mobile Banking อาจถูกระงับการใช้งาน
ส่วนของกลุ่ม P (ไม่พบชื่อเจ้าของซิม) กลุ่มลูกค้าที่เปิดบัญชีตั้งแต่ปี 2565 และเปิดใช้งาน Mobile Banking ก่อนปี 2566 ที่ตรวจสอบจากค่ายมือถือแล้วแต่ไม่พบชื่อเจ้าของซิม (ดำเนินการพร้อมกัน 2.4 ล้านเลขหมาย) โดยกรณีหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ใช้ลงทะเบียนกับธนาคารมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ สามารถติดต่อศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือที่ใช้บริการด้วยตนเอง เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่
ลงทะเบียนชื่อเจ้าของซิมให้ตรงกับชื่อผู้ใช้งาน Mobile Banking หรือลงทะเบียนชื่อเจ้าของซิมเป็นชื่อตามที่ประสงค์ที่เข้าเกณฑ์การจดทะเบียนซิมได้ตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ (ธนาคารไม่สามารถดำเนินการในส่วนนี้แทนได้) พร้อมบัตรประชาชน เพื่อดำเนินการให้ข้อมูลชื่อเจ้าของซิมตรงกับชื่อที่ใช้งาน Mobile Banking ภายในวันที่ 30 เมษายน 2568 หากไม่ดำเนินการภายในกำหนด บริการ Mobile Banking อาจถูกระงับการใช้งาน
ลูกค้าที่ได้รับแจ้งต้องดำเนินการอัปเดตข้อมูลชื่อเจ้าของซิมและชื่อผู้ใช้งาน Mobile Banking ให้ตรงกันภายในวันที่ 30 เมษายน 2568 หากไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนด ปปง., ธปท. และ กสทช. จะพิจารณาระงับการใช้งาน Mobile Banking เป็นการชั่วคราวต่อไป
กรณีของประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้รับการแจ้งผ่านช่องทาง Mobile Banking ของแต่ละธนาคารยังไม่ต้องดำเนินการใดๆ และสามารถใช้ Mobile Banking ได้ตามปกติ แม้ชื่อเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์จะไม่ตรงกับเจ้าของ Mobile Banking
อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณายกเว้นในกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้
- เบอร์โทรศัพท์มือถือที่จดทะเบียนในชื่อหน่วยงานราชการ (เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด) หรือองค์กรที่ใช้โดยพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ จะได้รับการพิจารณาเป็นข้อยกเว้น และไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการนี้
- ลูกค้าที่มีความจำเป็นหรือข้อจำกัดเฉพาะ เช่น ไม่สามารถเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายหรือเอกสาร สามารถยื่นคำขอยกเว้น พร้อมเอกสารประกอบแสดงเหตุผลต่อธนาคาร
- กลุ่มบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อแม่ บุตร พี่น้อง ปู่ย่า ตายาย คู่สมรส (จดทะเบียน) โดยจะต้องแสดงเอกสารความสัมพันธ์ต่อธนาคาร ได้แก่ เอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ เช่น ทะเบียนบ้าน สูติบัตร ทะเบียนสมรส และเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จ ค่าโทรศัพท์
- นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทเอกชน หรือนิติบุคคลตามกฎหมาย (กรณีที่ลงทะเบียนในนามนิติบุคคลและให้พนักงานในองค์กรใช้งาน) จะต้องมีเอกสารรับรองจากบริษัทที่มีข้อความระบุชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และอนุญาตให้ใช้เบอร์โทรศัพท์ผูก Mobile Banking
- ผู้ที่ต้องได้รับความดูแลตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้ไร้ความสามารถ ผู้เสมือนไร้ความสามารถ และผู้พิการ จะต้องนำเอกสารตามคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้อนุบาลหรือเอกสารตามคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้พิทักษ์ บัตรผู้พิการ หรือเอกสารที่หน่วยงานราชการออกให้ มายื่นแสดงต่อธนาคาร
“มาตรการนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งประชาชนที่จะต้องดำเนินการติดต่อธนาคารจะได้รับการแจ้งเตือนผ่าน Mobile Banking ของธนาคารโดยตรงเท่านั้น จะไม่มีการแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Mobile Banking เพื่อป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวง โดยการยกระดับมาตรการด้าน Mobile Banking เป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับการทำงานร่วมกันของกระทรวงดีอี, กสทช., ปปง., ภาคธนาคาร และภาคโทรคมนาคม เพื่อยกระดับการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมออนไลน์ของกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อสกัดเส้นทางการใช้บัญชีม้าในการหลอกลวงประชาชน ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญ” ประเสริฐกล่าว