เมื่อวานนี้ (3 มีนาคม) บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมวอร์รูมหน้ากากอนามัย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการกักตุนสินค้าหน้ากากอนามัย และการจำหน่ายเกินราคา หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และเพื่อป้องกันวิธีปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
โดยระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 และสถานการณ์ต่างๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านชิ้นต่อเดือน สูงขึ้นถึง 5 เท่าตัว
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้า อันนำไปสู่การแสวงหากำไรเกินสมควร และทำให้ตลาดเกิดความปั่นป่วน กระทรวงพาณิชย์จึงเตรียมออกกฎหมายเพิ่มเติม นำเสนอต่อคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เพื่อให้มีการออกประกาศกำหนดให้ผู้ที่ถือครองสินค้ามากเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ถือเป็นการกักตุนสินค้า มีความผิดตามมาตรา 30 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท ซึ่งมีโทษเท่ากับการจำหน่ายหน้ากากอนามัยราคาสูงเกินควร
ส่วนผู้จำหน่ายที่ไม่ติดป้ายแสดงราคา มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จึงขอความร่วมมือประชาชน หากพบพฤติกรรมผู้ต้องสงสัยให้แจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน เพื่อตรวจสอบและดำเนินคดีโดยจะเก็บข้อมูลของผู้แจ้งเป็นความลับ
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังเปิดเผยถึงประเด็นสำคัญในการหารือกับผู้ผลิตหน้ากากอนามัยทั้ง 11 แห่ง รวมถึงผู้แทนจากบุคลากรทางการแพทย์ถึงความต้องการใช้หน้ากากอนามัยว่า ได้ขอความร่วมมือโรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มกำลังการผลิตเต็มกำลังจาก 36 ล้านชิ้นต่อเดือน เป็น 38 ล้านชิ้นต่อเดือน
ซึ่งนับจากวันที่ 3 มีนาคมเป็นต้นไป หน้ากากอนามัยทุกชิ้นที่โรงงานผลิตได้ประมาณ 38 ล้านชิ้น ผู้ผลิตจะต้องนำเข้าสู่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย ของกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด ต่างจากก่อนหน้านี้ที่จะต้องปันส่วนเข้าศูนย์ประมาณ 40-45% เพื่อให้ศูนย์สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงการทำธุรกิจปกติของภาคเอกชน เนื่องจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์ ในการบริหารจัดการสินค้าควบคุมภายใต้ภาวะวิกฤตแบบนี้ ส่วนเมื่อนำมาทั้งหมด 100% แล้ว โรงงานจะสามารถทำการค้าได้ตามปกติหรือไม่นั้น อยู่ที่การพิจารณากันในศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะส่งเสริมให้ทำหน้ากากผ้าใช้เอง พร้อมประสานกระทรวงมหาดไทย และกรมราชทัณฑ์ ตัดเย็บหน้ากากอนามัยป้อนสู้ตลาดอีกกว่า 50 ล้านชิ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการป้องกันตนเองในระดับที่เหมาะสม
ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งศูนย์กระจายและบริหารจัดการหน้ากากอนามัยเพื่อให้ทั่วถึง โดยช่วง 20 กว่าวันที่ผ่านมา สามารถกระจายสินค้าหน้ากากอนามัยไปแล้วกว่า 7 ล้านชิ้น โดยยืนยันว่า กรมการค้าภายในไม่มีการเก็บสต๊อกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนแต่อย่างใด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์