‘Nostalgia’ หรือแปลเป็นไทยว่า ‘การย้อนวันวาน’ ดูเหมือนเป็นกลยุทธ์เบอร์หนึ่งของการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ใหม่ค่ายดิสนีย์ที่ทำกันไม่หยุดไม่หย่อน นำการ์ตูนต่างๆ มาทำเวอร์ชันใหม่แบบ Live-Adaption หรือใช้คนเล่นจริงเป็นว่าเล่น โดยแค่ในปีสองปีหน้าก็เตรียมพร้อมกับ The Lion King, Mulan, Aladdin และ Cruella DeVil แห่ง 101 Dalmatians ได้เลย ซึ่งภาพยนตร์เหล่านี้ก็การันตีมีแฟนคลับที่ตั้งหน้าตั้งตารอชมและเสียเงิน พร้อมพาลูกๆ หลานๆ กลุ่ม Gen Z เพื่อไปบอกว่าเราเติบโตมากับตัวละครเหล่านี้ ก่อนที่ชีวิตเด็กยุคนี้ดูเหมือนจะมีแต่ซูเปอร์ฮีโร่เต็มไปหมด
โดยล่าสุด ค่ายดิสนีย์ตัดสินใจนำภาพยนตร์ Mary Poppins ที่ดัดแปลงจากนิยายของ P.L. Travers มาทำภาคต่อ Mary Poppins Returns หลังภาคแรกฉายในปี 1964 หรือเมื่อ 54 ปีก่อน กับการแสดงของ จูลี แอนดรูว์ส ที่ถือว่าถูกจารึกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ซึ่งในภาคนี้ก็ได้ เอมิลี บลันต์ มาสานต่อบทนำ พร้อมมีนักแสดง ลิน-มานูเอล มิแรนด้า, เบน วิชอว์, จูลี วอลเตอร์ส, โคลิน เฟิร์ธ, แอนเจลา แลนส์บิวรี, ดิก ฟาน ไดค์ และ เมอรีล สตรีป มาร่วมด้วย โดยได้ผู้กำกับมือทองด้านภาพยนตร์เพลงอย่าง ร็อบ มาร์แชล ที่เคยอยู่เบื้องหลัง Chicago, Into The Woods, Nine และ Memoirs of a Geisha มากำกับ
ภาพยนตร์ Mary Poppins Returns เล่าถึงเหตุการณ์ 30 ปีหลังจากภาคแรกในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของโลก (The Great Depression) ซึ่ง ไมเคิล แบงส์ (แสดงโดย เบน วิชอว์) ที่โตเป็นผู้ใหญ่กับลูกสามก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังเดิมที่ลอนดอน แต่เกิดปัญหาเมื่อสูญเสียภรรยา ซึ่งเธอเป็นคนดูแลทรัพย์สินของครอบครัว และมาวันหนึ่งประธานแบงก์ Fidelity Fiduciary Bank ที่ชื่อ William ‘Weatherall’ Wilkins Jr. (แสดงโดย โคลิน เฟิร์ธ) ก็สั่งให้ทนายมาเตือนไมเคิลว่าบ้านจะโดนแบงก์ยึด หากไม่หาเงินมาคืนภายในห้าวัน ซึ่งไมเคิลพร้อมพี่สาว เจน (แสดงโดย เอมิลี มอร์ติเมอร์) ก็จำได้ว่าคุณพ่อของพวกเขาเคยมอบหุ้นส่วนกิจการ Fidelity Fiduciary Bank ในพินัยกรรม ซึ่งพวกเขาเลยพยายามตามหาใบรับรองการถือหุ้น ก่อนที่ แมรี ป๊อปปินส์ (แสดงโดย เอมิลี บลันต์) จะมาปรากฏตัวอีกครั้งเพื่อช่วยเหลือครอบครัว
การแสดงของเอมิลี บลันต์ ในเรื่องนี้ถือว่ายอดเยี่ยม โดดเด่น และจะทำให้เธอเป็นอีกหนึ่งนักแสดงหญิงที่มองข้ามไม่ได้สำหรับเทศกาลช่วงแจกรางวัลในช่วงปีหน้า ถึงแม้เธอต้องมาเล่นบทบาทที่ จูลี แอนดรูว์ส เคยทำไว้อย่างมหัศจรรย์ แต่เวอร์ชัน Mary Poppins ของเธอก็ถูกสร้างสรรค์ให้มีมิติที่แปลกใหม่ และมาพร้อมเปลือกชั้นที่ตรงไปตรงมามากขึ้น สตรองขึ้น สไตล์ลิชขึ้น และมีปากมีเสียง ซึ่งก็เข้ากับบริบทของผู้หญิงสมัยใหม่ โดยหากมองภูมิทัศน์ของบทบาทที่เอมิลีได้แสดงในฮอลลีวูดตั้งแต่ The Devil Wears Prada ที่ทำให้คนทั้งโลกหลงรักจนถึง A Quiet Place ที่ฉายปีนี้ เธอก็กำลังกลายเป็นนักแสดงหญิงที่เป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องการเลือกบทและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
อีกหนึ่งไฮไลต์ของ Mary Poppins Returns ก็ต้องยกให้การกำกับของร็อบ มาร์แชล ที่ถือว่าวิเศษและงดงาม เต็มไปด้วยสีสันและกลิ่นอายความเป็นหนังเพลงยุคทองของฮอลลีวูดสมัย MGM Studios กับพวกภาพยนตร์ของ จีน เคลลี หรือ เฟรด แอสแตร์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่ร็อบ และดิสนีย์ตัดสินใจที่ไม่พยายามเล่นกับเทคโนโลยีและเพิ่มเติมกลไกต่างๆ มากเกิน จนอาจทำให้เสน่ห์ของสไตล์เรื่องดั้งเดิมหายไป อย่างเช่นใช้การแทรกการ์ตูนแอนิเมชันแบบ 2D ที่ทำโดย จิม คาโปเบียนโก และ เคน ดันแคน
ส่วนด้านดนตรีประกอบก็เน้นการใช้สูตรคลาสสิกของภาพยนตร์เพลงเช่นกัน และไม่ได้พยายามทำเพลงป๊อปร่วมสมัยเพื่อเชิงพาณิชย์ โดย มาร์ค ไชแมน และ สกอตต์ วิตต์แมนที่เคยอยู่เบื้องหลังภาพยนตร์เพลงอย่าง Hairspray ก็มาทำให้ ซึ่งสองเพลง The Place Where Lost Things Go และ Trip a Little Light Fantastic ที่ร็อบได้ช่วยกำกับท่าเต้น ก็ได้เข้ารายชื่อรอบแรกของบทเพลงยอดเยี่ยมในการเข้าชิงออสการ์ปีหน้าเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะคัดอีกครั้งเพื่อให้เหลือผู้เข้าชิงรอบสุดท้ายในเดือนหน้า โดยสาขาอื่นที่หนังได้เข้าชิงก็มี Visual Effects ยอดเยี่ยม และเพลงประกอบ (Original Score) ยอดเยี่ยม
หากดูภาพรวมของภาพยนตร์ Mary Poppins Returns ก็ถือว่าลงตัว จะสร้างรอยยิ้ม (หรือเสียน้ำตาเพราะความปลื้มปีติ) และเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เพอร์เฟกต์กับช่วงเทศกาล Festive ในตอนนี้ แบบว่าควรหาเวลาช่วงวันหยุดที่แพลนจะอยู่แค่ที่บ้านดู Netflix อย่างเดียว มาหาเวลาดูเรื่องนี้ โดยก็หวังว่าถ้าดิสนีย์จะทำภาคต่อหรือรีเมกเวอร์ชันใหม่ในอนาคต ก็ไม่ให้ต้องรออีกนานถึง 54 ปี
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์