×

ทบทวนความทรงจำไปกับ เต๋อ นวพล และทีมงานเบื้องหลัง ในวันที่ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY มีอายุครบ 10 ปี

29.11.2023
  • LOADING...
MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ภาพยนตร์ลำดับที่ 2 ของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ อย่าง MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY (2013) ได้สร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการภาพยนตร์ไทย ด้วยการยำใหญ่ใส่ความมั่วลงไปในงาน จนหลายคนที่ดูจบต่างก็ตั้งคำถามเป็นเสียงเดียวกันว่า “หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร” แต่ใครจะรู้ว่าความกล้าบ้าบิ่นของไอเดียที่อยู่ในงานจะส่งให้ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก พร้อมกับทำให้ชื่อของเต๋อเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับที่มีสไตล์ชัดเจน เป็นของตัวเอง

 

ที่สำคัญในยุคนั้นสิ่งหนึ่งที่ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY ทำได้และน้อยเรื่องที่จะทำได้คือ การขายเสื้อ! ที่จนถึงทุกวันนี้เวลาเต๋อหรือแม้กระทั่งคนดูด้วยกันเองพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ สิ่งหนึ่งที่มักปรากฏอยู่ในวงสนทนาเป็นประจำคือ “เมื่อไรจะขายเสื้ออีกครั้ง” หรือพูดง่ายๆ การที่ภาพยนตร์เดินทางมาได้ไกล สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ การที่ยังมีคนพูดถึงไอคอนิกบางอย่างของมันนอกเหนือจากเนื้อหาของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยชีวิตอันแสนยุ่งเหยิงและวุ่นวายของวัยรุ่นในรั้วโรงเรียนผ่าน 410 ทวีต

 

ซึ่งในปี 2023 MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY ก็มีอายุอานามครบ 10 ปีพอดี และเต๋อก็ได้จัดกิจกรรมที่นำภาพยนตร์เรื่องนี้มาฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง พร้อมกันนั้นยังพาคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์อย่าง จูนจูน-พัชชา พูนพิริยะ (แมรี่), เมโกะ-ชนนิกานต์ เนตรจุ้ย (ซูริ), เจ้าของ Twitter (หรือ X ในปัจจุบัน) แอ็กเคานต์ marylony หรือ แมรี่ มาโลนี่ (ไนซ์-ภัทรินทร์ คงภิวัฒนา) รวมไปถึงทีมงานไม่ว่าจะเป็น จุ๊ก-อาทิตย์ อัสสรัตน์​ (โปรดิวเซอร์), ป้อง-ไพรัช คุ้มวัน (ช่างภาพ), อาร์ม-ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต (ตัดต่อ) และ เสือ-พิชย จรัสบุญประชา (ผู้ช่วยผู้กำกับ) มาร่วมพูดคุยกันถึงเรื่องราวในวันนั้นที่กลับมาบนจอใหญ่ในวันนี้

 

โดย THE STANDARD POP มีโอกาสได้ฟังบทสนทนาของทีมงานที่มีส่วนร่วมกับภาพยนตร์เมื่อ 10 ปีก่อน เราจึงอยากนำสิ่งเหล่านั้นมาเรียบเรียงให้กับคนที่รักในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อ่านกัน

 

 

จุ๊ก-อาทิตย์ อัสสรัตน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY ว่า ในปี 2012 เทศกาลภาพยนตร์เวนิสเปิดให้ทุนเป็นปีแรกก็เลยสมัครเข้าไป แล้วถ้าเกิดได้ก็จะได้เงินมาทำภาพยนตร์ 6 ล้าน แต่ว่าต้องทำเร็วมาก จุ๊กขยายความต่อว่า พวกเขาประกาศผลและให้ทุนมาในเดือนธันวาคม-มกราคม โดยที่จะต้องทำภาพยนตร์ออกมาให้ทันกำหนดฉายในเทศกาลช่วงเดือนกันยายนปีหน้า ซึ่งห่างกันเพียงแค่ 9 เดือน นั่นหมายความว่าทุกอย่างตั้งแต่เขียนบทไปจนถึงตัดต่อจะต้องทำให้เสร็จทั้งหมดภายในระยะเวลานั้น

 

จุ๊กเสริมว่าเดิมทีตอนเขาคุยกับเต๋อครั้งแรกก่อนจะสมัคร คอนเซปต์ตั้งต้นของภาพยนตร์ไม่ใช่ Twitter (หรือ X ในปัจจุบัน) แต่เป็นการอยากทำภาพยนตร์ที่มี 1,000 ซีน! ก่อนที่ในเวลาต่อมาพวกเขาจะคุยกันและปรับอะไรหลายๆ อย่างจนกลายมาเป็นการดัดแปลงจาก Twitter อย่างที่เราเห็นกันในภาพยนตร์ 

 

ทั้งนี้ จุ๊กยังบอกอีกว่า MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY เป็นภาพยนตร์ที่โปรดิวซ์ยาก เพราะเป็นงานศิลปะ และเมื่ออยู่ในฐานะโปรดิวเซอร์ ไม่มากไม่น้อยเขาย่อมต้องระวังในการเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับงานด้วยเช่นกัน

 

 

เต๋อต่อยอดจากสิ่งที่จุ๊กเล่าว่า มันเป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดพอสมควร โดยให้รายละเอียดว่า ในปี 2012 ที่ภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของเขาอย่าง 36 ได้รับรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานนั้นเป็นช่วงเดือนตุลาคม และโปรเจกต์ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY จุ๊กได้เป็นคนมาถามในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งมันต้องส่งให้ทางเทศกาลในช่วงเดือนธันวาคม และรอประกาศผลในเดือนมกราคม ก่อนที่จะได้เริ่มถ่ายทำจริงๆ ก็คือในเดือนกุมภาพันธ์เลย 

 

ทำให้ เสือ-พิชย จรัสบุญประชา ที่ก่อนหน้านั้นจะเลิกทำผู้ช่วยผู้กำกับได้ถูกชักชวนมาร่วมโปรเจกต์ จนสุดท้ายก็ลงเอยกับการทำผู้ช่วยภาพยนตร์เรื่องนี้ในที่สุด และเสือเองก็กล่าวถึงความรู้สึกในตอนนั้นแบบติดตลกว่า เขารู้ข้อกำหนดของภาพยนตร์ที่ต้องรีบ แต่รู้หลังจากที่ตอบรับคำชวนไปแล้ว (หัวเราะ) 

 

 

ไม่เพียงแค่นั้น เสือยังบอกอีกว่า การทำงานเป็นผู้ช่วยกองนี้ไม่เหมือนกองไหน เพราะคงไม่มีกองไหนที่เอาคนมาแต่งตัวเป็น Godard (Jean-Luc Godard ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส และผู้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการบุกเบิกแนวทางการสร้างภาพยนตร์ที่เรียกว่า French New Wave) เดินอยู่ในกอง รวมไปถึงเอา ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร ก่อนจะดังจาก ฮอร์โมน และ อัด-อวัช รัตนปิณฑะ ที่รับบทนำในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่าง ดอยบอย (Doi Boy) มาอยู่ในงานเดียวกัน

 

แต่สิ่งที่เสือได้เรียนรู้จากกองนี้และคิดว่ายากในช่วงแรกๆ คือ การที่มันไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย เช่น กำหนดการถ่ายทำที่ควรจะเป็นไปตามตารางที่วางไว้ ก็ดูจะเป็นสิ่งที่ต้องคอยปรับเปลี่ยนหรือยืดหยุ่นไปตามหน้างานตลอดเวลา และที่มากไปกว่านั้นคือ บางครั้งเขารวมถึงคนอื่นๆ ในกองเองก็อาจจะต้องมาเล่นเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์โดยไม่ทันตั้งตัว

 

 

นอกจากนี้เต๋อยังเล่าถึงบทภาพยนตร์เรื่องนี้ของเขาว่า มันไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่พบเห็นได้ทั่วไป เพราะด้วยความเป็นสเตตัส Twitter ในหน้ากระดาษเลยเขียนเพียงแค่ว่าทวีตนี้จะถ่ายอะไร กำกับไปเรื่อยๆ เช่น สมมติว่า “พรุ่งนี้ต้องเร็วนะ” ภาพคือทั้งสองคนวิ่งไป หรือบางอันด้วยความที่สั้นมากๆ ก็เขียนแค่เธอเต้น ซึ่งเต๋อก็บอกว่า MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY น่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องเดียวที่เขาไม่ได้เขียนบทในรูปแบบปกติ

 

ส่วนเรื่องการบรีฟงานกับมือตัดต่ออย่าง อาร์ม-ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต ตอนแรกพวกเขาคุยกันว่าจะวางเวลาเอาไว้ที่ 15 วินาที ต่อ 1 ทวีต และที่สำคัญคือตอนที่อาร์มไปออกกองวันแรก เต๋อให้เขาเอา iPhone ขึ้นมาจับเวลาจริงๆ แต่ก็พบว่ามันดูจะเป็นปัญหาเสียมากกว่า เลยล้มเลิกไป 

 

และในช่วงที่อยู่ในขั้นตอนของการตัดต่อภาพยนตร์ก็มีมากถึง 10 ดราฟต์ เพราะว่าลองผิดลองถูกเพื่อหาจุดที่เหมาะสมกับภาพยนตร์มากที่สุด ซึ่งเต๋อบอกว่ามันเป็นภาพยนตร์ที่ต้องค่อยๆ ทดลองไปเรื่อยๆ ทำให้เสียเวลาในช่วงแรกไปเยอะ ส่วนหนึ่งก็เพราะทุกคนในตอนนั้นเป็นมือใหม่ด้วย

 

 

ด้าน ป้อง-ไพรัช คุ้มวัน ผู้กำกับภาพ เล่าว่า ใน MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY เขาทำงานตามปกติ แต่ก็มีบางอันที่ต้องรอนักแสดงมาเล่นเพื่อบล็อกช็อต เพราะไม่รู้ว่าพวกเขาจะไปต่อจากบทกันอย่างไร ถึงกระนั้นพอกลับมาดูอีกครั้งในปีนี้ก็พบว่า ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะในตอนนั้นเขายังมีความรู้ไม่เยอะมากในเรื่องบล็อกช็อต ถ้ากลับมาทำตอนนี้น่าจะดูดีขึ้นอีกนิดหนึ่ง แต่บางอันก็ต้องยอมดิบ เพื่อให้งานภาพได้ทำงานของมัน ซึ่งในยุคนี้ก็อาจทำไม่ได้อีกแล้ว

 

เต๋อยังเสริมอีกว่า ตอนถ่ายทำเป็นช่วงที่ยากและร้อนมาก โดยเฉพาะตรงรางรถไฟ จนเขาคิดกับตัวเองว่าการถ่ายภาพยนตร์แล้วร้อนมันเป็นแบบนี้นี่เอง อีกทั้งป้องและเสือต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พอเห็นรางรถไฟอีกครั้งก็ยังรู้สึกร้อนเหมือนเดิม

 

พร้อมกันนั้นจุ๊กยังพูดถึงประสบการณ์ของเขาตอนมีส่วนร่วมกับการตัดภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ที่มันประหลาดเพราะด้วยความเป็นหนังคอนเซปต์ 410 ทวีต และเต๋อถ่ายมาทุกฉากโดยไม่ข้าม ทำให้ภาพยนตร์มันออกมายาวมาก ซึ่งตามปกติเวลาตัดภาพยนตร์ทั่วไปแบบนั้นจะเรียกว่า First Cut และเราก็จะตัดบางฉากออกเพื่อให้ภาพยนตร์กระชับขึ้น แต่ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY นี่ตัดออกไม่ได้เลย เพราะเต๋อบอกว่ามันจะทำลายคอนเซปต์ ก็เลยเถียงกันไปเถียงกันมา จนสุดท้ายก็ยอม แต่ด้วยความที่คอนเซปต์แข็งแรงอยู่แล้ว ภาพยนตร์ก็เลยมีความงามอะไรบางอย่างอยู่ในนั้น

 

 

เต๋อเปิดใจว่า พอกลับมาดู MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY อีกครั้งจะชอบรู้สึกว่าไม่น่าทำแบบนี้ได้อีกแล้ว เพราะมันเต็มไปด้วยความไม่กลัวอะไรเลย และอีกอย่างคือเขารู้สึกว่าการดูเรื่องราวของพวกเธอปีนี้กับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความยาวมีผลต่อการดูในแง่ที่ภาพยนตร์เป็นเหมือนการเดินทางที่ยาวนานของเด็กคนหนึ่งที่คนดูจะได้เห็นเขาค่อยๆ เปลี่ยนไปจริงๆ 

 

แต่เต๋อก็รู้สึกว่าพอกลับมาดูในยุคนี้ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY ก็มีกลิ่นอายที่ละม้ายคล้ายคลึงกับความเป็น TikTok พอสมควร ซึ่งเขาก็เท้าความกลับไปยังแกนหลักที่เอาไว้ใช้บรีฟงานในส่วนของอาร์มกับป้องว่า มันมีไอเดียมาจากคลิปสั้นใน YouTube ที่ชื่อว่า ต่อยแรง (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ที่มีความยาวเพียงแค่ 3 วินาที

 

และเต๋อยังบอกอีกว่า เขาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะทำ Cutting แบบครึ่งแรกในภาพยนตร์ได้อีกหรือเปล่า แต่พอเป็นในช่วงท้ายที่ภาพยนตร์ช้าลงอย่างเห็นได้ชัดจนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ดูรู้เรื่อง มันก็ทำให้เห็นถึงความ Coming of Age ของตัวละคร รวมไปถึงตัวเขาที่อยู่ในระเบียบมากขึ้นด้วย

 

ซึ่งการได้กลับมาดูภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นเหมือนหมุดหมายหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ต่อให้ทำภาพยนตร์เรื่องใหม่ๆ ก็มีบางครั้งที่จะลองทำอะไรบางอย่าง แต่ด้วยความที่โตแล้วเลยมีความกลัวอยู่บ้าง กระนั้นเต๋อก็ยังคิดว่าถ้าทำงานอยู่ในวงการนี้ การให้โอกาสกับสิ่งใหม่ๆ บางทีมันอาจจะออกมาดีก็ได้

 

 

ก่อนจะปิดท้าย เต๋อเล่าถึงตอนที่ฉาย MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY ในวันแรกเมื่อ 10 ปีก่อนว่า เขาไม่เคยคิดเลยว่าจะมีคนดูเยอะขนาดนั้น และคนมักจะชอบคิดว่ามีแผนการมาก่อน แต่จริงๆ แล้วไม่มี เพราะก่อนจะฉายเต๋อเองก็ไม่มั่นใจกับภาพยนตร์เรื่องนี้เท่าไร ฉะนั้นพอฉายแล้วคนดูเยอะเลยรู้สึกโล่งใจที่ภาพยนตร์ไปค่อนข้างไกลพอสมควร 

 

ทั้งหมดก็เลยอยู่เหนือความคาดหวังมากๆ จนเขารู้สึกว่าอาชีพของการเป็นผู้กำกับได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ตั้งแต่ตอนนั้นการเป็นตัวเองเลยกลายเป็นวิธีการทำงานที่เต๋อสบายใจและรู้สึกว่าภาพยนตร์ของตัวเองไม่เคยติดค้างอะไร 

 

ซึ่งการที่ MARY IS HAPPY, MARY IS HAPPY เดินทางมาได้ไกลถึง 10 ปี ก็ต้องขอบคุณคนดูในวันนั้นที่ให้โอกาสภาพยนตร์เรื่องนี้ และคนดูในวันนี้ที่ยังคงนึกถึงมันเสมอ โดยหวังว่าตอนครบรอบ 20 ปี จะยังมีช่วงเวลาที่ได้พูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้กันอีกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X