การปะทะระหว่างกองทัพอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างสองประเทศ เปิดฉากตั้งแต่ช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (27 กันยายน) ต่อเนื่องจนถึงวันนี้ (28 กันยายน) เป็นวันที่ 2 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วทั้งทหารและพลเรือนอย่างน้อย 24 ราย และบาดเจ็บนับร้อยราย โดยถือเป็นเหตุปะทะรุนแรงที่สุดระหว่างทั้งสองประเทศนับตั้งแต่ปี 2016
กระทรวงกลาโหมอาร์เมเนียรายงานว่า เหตุปะทะเกิดขึ้นหลังกองทัพอาเซอร์ไบจานโจมตีพื้นที่อาศัยของพลเรือนอาร์เมเนียหลายจุดในนากอร์โน-คาราบัค รวมถึงเมืองสเตพานาแกร์ต เมืองหลวงของภูมิภาค
ซึ่งกองทัพอาร์เมเนียโจมตีตอบโต้อาเซอร์ไบจานด้วยการทำลายรถถัง 3 คัน และยิงเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ และอากาศยานไร้นักบิน 3 ลำตก ขณะที่แต่ละฝ่ายอ้างว่า มีการใช้อาวุธหนักทั้งปืนใหญ่และจรวดตอบโต้กัน
“การตอบโต้ของเราจะเป็นไปอย่างเหมาะสม และผู้นำทางการเมืองและกองทัพอาเซอร์ไบจานต้องรับผิดชอบเต็มที่ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” กระทรวงกลาโหมอาร์เมเนียระบุในแถลงการณ์
หลังเกิดเหตุมีการประกาศกฎอัยการศึกขึ้นในหลายพื้นที่ของทั้งอาเซอร์ไบจานและอาร์เมเนีย รวมถึงพื้นที่นากอร์โน-คาราบัค ซึ่งรัฐบาลอาร์เมเนียได้สั่งเคลื่อนกำลังทหารทั้งหมด
ขณะที่ อิลฮาม อาลีเยฟ ประธานาธิบดีอาร์เซอร์ไบจาน สั่งเคลื่อนกำลังทหารบางส่วนเข้าพื้นที่ พร้อมเดินหน้าปฏิบัติการตอบโต้การโจมตีจากกองทัพอาร์เมเนียอย่างเต็มที่
“ผมมั่นใจว่าปฏิบัติการตอบโต้การโจมตีที่ประสบผลสำเร็จของเรา จะช่วยยุติการยึดครองและความไม่เป็นธรรมที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี”
สำหรับภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของเทือกเขาคอเคซัส เป็นเขตปกครองตนเองที่อาเซอร์ไบจานครอบครองมาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต และได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยถือเป็นเส้นทางสำคัญในการส่งก๊าซและน้ำมันจากภูมิภาคไปยังตลาดโลก ซึ่งพลเรือนส่วนใหญ่ที่ควบคุมพื้นที่นั้นเป็นชนพื้นเมืองชาวอาร์เมเนียที่พยายามแบ่งแยกดินแดนและประกาศเอกราชจากอาร์เซอร์ไบจาน ตั้งแต่ปี 1991
ทางด้านประธานาธิบดี Arayik Harutyunyan แห่งสาธารณรัฐนากอร์โน-คาราบัค ยืนยันว่า ตอนนี้กองทัพอาเซอร์ไบจานสามารถยึดครองบางพื้นที่ไว้ได้
ส่วนประชาคมโลก ทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย อิหร่าน และชาติยุโรป รวมถึงสหประชาชาติ (UN) ต่างเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยุติการสู้รบและหันหน้าเจรจาพูดคุยเพื่อบรรเทาความขัดแย้ง โดยรัสเซียซึ่งถูกมองว่าเป็นพันธมิตรของอาร์เมเนีย เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิงทันที พร้อมพูดคุยเพื่อคลี่คลายปัญหาอย่างสันติ
ขณะที่ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ผู้นำตุรกี ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของอาเซอร์ไบจาน ประกาศสนับสนุนอาเซอร์ไบจาน พร้อมเรียกร้องทั่วโลกให้ยืนหยัดสนับสนุนอาเซอร์ไบจานในการต่อสู้จากการรุกรานที่เกิดขึ้น
อ้างอิง: