วันนี้ (13 มิถุนายน) กลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียม, เฟมินิสต์ปลดแอก, บางกอกนฤมิตไพรด์ และนักกิจกรรมอิสระ แถลงการณ์ย้ำจุดยืนผลักดันสมรสเท่าเทียม (แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) เนื่องจากมองว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นการเลือกปฏิบัติและผลักให้ LGBTQ+ เป็นพลเมืองชั้นสอง
โดย พรหมศร วีระธรรมจารี นักกิจกรรมอิสระ กล่าวว่า การเลื่อนพิจารณา พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา และการประกาศนำร่างกฎหมายไปพิจารณา 60 วัน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องอดทนรอสิทธิที่พึงได้รับมาตั้งแต่แรกอย่างสิทธิในการสมรส และต้องจำยอมกับความไม่เท่าเทียมในสังคม ซึ่งตนมองว่าท่าทีการเตะถ่วงร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นการเล่นไม่ซื่อจากฝั่งรัฐบาล
“ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำโดยนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ตอนนี้รัฐบาลได้มีของขวัญให้กับกลุ่มเพศหลากหลายในเดือนไพรด์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นคือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของขวัญที่ไม่เคยถามเราเลยสักครั้งเดียว ของขวัญที่ไม่เคยทำประชาพิจารณ์ในสังคม ของขวัญที่มัดมือชก ของขวัญที่ทำให้เรากลายเป็นพลเมืองชั้นสอง” พรหมศรกล่าว
ด้าน ชุมาพร แต่งเกลี้ยง จากเฟมินิสต์ปลดแอก ได้อ่านแถลงการณ์ข้อกังวลต่อความแตกต่างในหลักการของร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ…. กับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. (สมรสเท่าเทียม) ของเพจนักวิจัยกฎหมาย LGBTQ+ เน้นย้ำว่า ต้องมีการชี้แจงความแตกต่างระหว่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมและ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้ประชาชนเข้าใจ ตลอดจนให้สมาชิกรัฐสภาทราบโดยกระจ่างชัด รวมถึงการพิจารณากฎหมายทั้งสองร่างต้องแยกกันโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ขณะที่ เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ ตัวแทนจากภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียม เผยความกังวลและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการรองรับทางกฎหมายของ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เนื่องจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต มีการบังคับใช้กฎหมายโดยอนุโลม ต้องพึ่งการตีความจากเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ให้ศักดิ์ศรีและสิทธิแตกต่างจากคู่สมรสชายหญิง ซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและความเท่าเทียมระหว่างเพศ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องฟังเสียงกว่า 350,000 รายชื่อที่เห็นด้วยต่อ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
“เราทำสมรสเท่าเทียมด้วยความรัก กฎหมายนี้จะทำให้ความรักสามารถหยุดความอยุติธรรมได้ กฎหมายนี้จะเป็นการยืนยันสิทธิและความรักในฐานะเพื่อนมนุษย์ ฉะนั้นคุณจึงต้องสนับสนุนและทำให้เรารู้สึกมีศักดิ์ศรี ปลอดภัย และสนับสนุนสมรสเท่าเทียมอย่างไม่มีเงื่อนไข” เอกวัฒน์กล่าว
ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระ ตอกย้ำว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องการความเท่าเทียมไม่ใช่ความใกล้เคียง พร้อมประกาศปักหลักที่รัฐสภา เกียกกาย ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ เวลา 10.00 น. เพื่อติดตามร่างกฎหมายและการลงคะแนนเสียงของ ส.ส. แต่ละพรรคต่อไป
ทางด้านการจัดนฤมิตไพรด์ 4 ภาค รฐนนท์ คุ่ยยกสุย แนวร่วมกิจกรรมนฤมิตไพรด์ เผยว่า จุดประสงค์ของการเดินขบวนดังกล่าวคือ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศในระดับท้องถิ่นควบคู่ไปกับการเคลื่อนไหวในรัฐสภา ตนหวังว่าภาครัฐจะให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนโดยถ้วนหน้า
“มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรมทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด ให้เดือนไพรด์เป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในตัวตนของเรา และหวังว่าจะดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง” รฐนนท์กล่าว
เบื้องต้นตารางการเดินขบวนไพรด์ 4 ภาค มีดังนี้
- Pattaya Community Pride: วันที่ 25 มิถุนายน 2565 เริ่มต้นที่เลียบชายหาดจอมเทียน สิ้นสุดที่จอมเทียนคอมเพล็กซ์ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยจัดคู่ขนานไปกับ Pattaya International Pride Festival 2022 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล มารีนา
- Songkla Pride: วันที่ 26 มิถุนายน 2565 เริ่มต้นที่ย่านเมืองเก่า อำเภอเมืองสงขลา สิ้นสุดที่หาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา
- Khonkaen Pride: จัดขึ้น 2 วัน ได้แก่ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 เป็นการจัดกิจกรรมภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 เป็นการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น สิ้นสุดที่อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
- Chiang Mai Pride by ชุมชน: วันที่ 3 กรกฎาคม 2565 เริ่มต้นที่ถนนไนท์บาซาร์ สิ้นสุดที่ประตูท่าแพ อันเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ขบวนพาเหรดเกย์ไพรด์ถูกต่อต้านด้วยความรุนแรงจากคนในพื้นที่เมื่อปี 2552
ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกจัดถึงเดือนกรกฎาคม 2565 โดยศิริศักดิ์ชี้ว่า ตนไม่อยากให้งานไพรด์หรือการสนับสนุนความเท่าเทียมหลากหลายมีเฉพาะแค่ในเดือนมิถุนายน หากแต่การสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศนั้นสามารถทำได้ทุกเดือน ทุกเวลา และทุกพื้นที่