กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพชีวิตคู่ LGBTQIA+ ในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในวันที่ 21 ธันวาคมนี้
การผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมนั้นเกิดจากการเสนอร่างกฎหมายต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรโดย ‘ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์’ สส. พรรคก้าวไกล ในเดือนมิถุนายน 2563
มีหลักการที่จะแก้ไข ป.พ.พ. มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้องใน ป.พ.พ. ที่เงื่อนไขเดิมอนุญาตการหมั้นและการสมรสเฉพาะชายและหญิง เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ ‘บุคคลทั้งสอง’ ทำให้คู่รักหลากเพศสามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรส เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 จะมีร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 3 ร่าง
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับกระทรวงยุติธรรม เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับพรรคก้าวไกล
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ฉบับภาคประชาชน
เทียบรายละเอียด 3 ร่างกฎหมาย
ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เวอร์ชัน พ.ศ. 2566 ทั้ง 3 ร่าง มีหลักการเหมือนกันคือขยายสิทธิการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง จากเดิมจำกัดเฉพาะชายกับหญิง ให้ขยายสิทธิครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกเพศวิถี
โดยมิได้ลดทอนสิทธิหน้าที่ใดๆ ของคู่สมรส บิดามารดา ชายหญิงทั่วไป ทั้งที่มีอยู่เดิมและในอนาคต การแก้ไข ป.พ.พ. มิได้บังคับการจดทะเบียนสมรสกับประชาชนหรือศาสนิกชนใดๆ และมิได้เข้าไปแก้ไขหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกของพี่น้องชาวมุสลิม สามารถเทียบได้ดังนี้
การหมั้น
- ฉบับรัฐบาล ระบุว่า บุคคล 2 ฝ่าย เป็นผู้หมั้น และผู้รับหมั้น
- ฉบับก้าวไกล ระบุว่า บุคคล 2 ฝ่าย เป็นผู้หมั้น และผู้รับหมั้น
- ฉบับภาคประชาชน ไม่มีการแก้ไข เนื่องจากเห็นว่าสามารถสมรสได้โดยไม่ต้องหมั้น
อายุการสมรส
- ฉบับรัฐบาล ระบุที่ 17 ปีบริบูรณ์
- ฉบับก้าวไกล ระบุที่ 18 ปีบริบูรณ์
- ฉบับภาคประชาชน ระบุที่ 18 ปีบริบูรณ์
การระบุเพศ
- ฉบับรัฐบาล ระบุว่า ระหว่างบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย บุคคล 2 คน
- ฉบับก้าวไกล ระบุว่า ระหว่างบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย บุคคล 2 คน
- ฉบับภาคประชาชน ระบุว่า ระหว่างบุคคล 2 บุคคล
สถานะหลังจดทะเบียนสมรส
- ฉบับรัฐบาล ระบุว่า คู่สมรส
- ฉบับก้าวไกล ระบุว่า คู่สมรส
- ฉบับภาคประชาชน ระบุว่า คู่สมรส
บทเฉพาะกาล และการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ
- ฉบับรัฐบาล ไม่มีบทเฉพาะกาล และการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ
- ฉบับก้าวไกล ไม่มีบทเฉพาะกาล และการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ
- ฉบับภาคประชาชน มีบทเฉพาะกาล และการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ
ระยะเวลาบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา
- ฉบับรัฐบาล ระบุ 120 วัน
- ฉบับก้าวไกล ระบุ 120 วัน
- ฉบับภาคประชาชน ระบุ 60 วัน
บทบัญญัติให้หน่วยงานเสนอแก้ไขกฎหมายอื่นๆ
- ฉบับรัฐบาล ระบุ 180 วัน
- ฉบับก้าวไกล ระบุ 180 วัน
- ฉบับภาคประชาชน ระบุ เสนอในบทเฉพาะกาลให้ใช้ทันที
การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับบิดามารดากับบุตร
- ฉบับรัฐบาล ไม่แก้ไข
- ฉบับก้าวไกล ไม่แก้ไข
- ฉบับภาคประชาชน เปลี่ยนจากบิดามารดาเป็นบุพการี
ผู้รักษาการตามร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
- ฉบับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี
- ฉบับก้าวไกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- ฉบับภาคประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. พรรคก้าวไกล ถือธงสีรุ้งพร้อมข้อความ ‘สมรสเท่าเทียม’
บริเวณสนามหญ้าด้านหน้าอาคารรัฐสภา
‘ทุกคนเห็นพ้อง’ ต้องสมรสเท่าเทียม
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส. พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่างและผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมตั้งแต่ปี 2563 กล่าวกับ THE STANDARD ว่าเธอมีความยินดีและดีใจมากๆ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 จะไม่ต้องกลับไปเถียงเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม อีกแล้ว
“วันนี้ทุกคนพูดถึงสมรสเท่าเทียมในหลักการเดียวกัน เป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นวาระแรกที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน แต่ในเรื่องของรายละเอียดที่แตกต่างก็จะต้องมีการพูดคุยกันและแก้ไขกันต่อไปในคณะกรรมาธิการวิสามัญต่อไป”
ตอนนี้เมื่อทุกคนคุยเรื่องเดียวกัน เมื่อพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจับมือกันแน่น จึงคิดว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะผ่านได้ด้วยดี ส่วนพรรคอื่นๆ อาจจะโหวตตามกัน แต่อาจจะมีบางพรรคการเมืองที่มีความเชื่อทางศาสนาหรือพรรคการเมืองที่มี สส. ในพื้นที่เป็นชาวมุสลิม ก็อาจจะโหวตไม่เห็นด้วย แต่เชื่อว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี
นานแค่ไหน…คนทุกเพศจึงจะเท่าเทียมอย่างแท้จริง
ธัญวัจน์บอกว่า หากมีการเร่งพิจารณาตามไทม์ไลน์ของ InterPride (ผู้จัดงาน WorldPride) จะมีความชัดเจนในเดือนเมษายน 2567 ตนเองก็เชื่อว่ากรอบระยะเวลาในส่วนนี้จะบีบให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านภายในเดือนเมษายน เมื่อร่างดังกล่าวผ่านแล้วอาจจะต้องใช้ระยะเวลา 180 วันที่จะให้หน่วยงานรับฟังความคิดเห็น ซึ่งคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมน่าจะเสร็จสิ้นทั้งหมด
ธัญวัจน์ยังชี้แจงถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลเสนอเลื่อนวาระการประชุมให้นำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมรสเท่าเทียม มาพิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ‘ไม่ใช่การเล่นเกมการเมือง’ แต่เป็นเพราะการให้ข่าวของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 ธันวาคม
เมื่อนายกรัฐมนตรีมีการให้ข่าวในลักษณะนั้น ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ก็ควรที่จะเข้าที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 13 หรือวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นวาระเร่งด่วน
เมื่อร่างของรัฐบาลไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาตามที่เคยประกาศไว้ พรรคก้าวไกลจึงได้มีการตั้งคำถาม หาก ครม. ไม่ได้พิจารณา สภาควรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ของพรรคก้าวไกลก่อนได้หรือไม่
“พรรคก้าวไกลต้องการที่จะกระทุ้งไปยังรัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลได้พูดออกไปมีประชาชนผู้ที่มีความหลากหลายต่างเฝ้ารอ และที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลพูดไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่นำเข้าสภาเสียที เพราะเมื่อมีการพิจารณาแล้วยังมีอีกหลายขั้นตอน เช่น สว. อาจจะติดขัดจนต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม หรือแม้แต่ สว. กำลังจะหมดอายุในเดือนพฤษภาคม 2567 จะทำให้การพิจารณาร่างกฎหมายนี้ยืดระยะเวลาไปอีก”
สมรสเท่าเทียม ผลงานใคร
“ครูคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้ตัดสิน” ธัญวัจน์ตอบคำถาม THE STANDARD หลังถูกถามว่าพรรคก้าวไกลที่ผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2563 แต่ก็ยังไม่ถึงฝันเสียที การเสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของรัฐบาลเศรษฐา ปาดหน้าเป็นผลงานของตัวเองหรือไม่
ธัญวัจน์บอกอีกว่า ในฐานะฝ่ายค้าน การที่รัฐรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถือว่าเราได้ปักธงความเท่าเทียมแล้ว จากนี้จะไม่มีการพูดถึง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อดึงระยะเวลาไปอีก 60 วัน และวันนี้ ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน และเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเป็นสมรสที่เท่าเทียมจริงๆ หรือไม่ สามารถเดินไปที่ InterPride (ผู้จัดงาน WorldPride) แล้วประกาศว่าเราคือประเทศที่ให้ความเท่าเทียม ซึ่งอยู่ที่รัฐบาลว่าจะก้าวเดินไปอย่างไร
แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส. กาญจนบุรี
พรรคเพื่อไทย ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ และ คณาพจน์ โจมฤทธิ์ เลขาส่วนตัวของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
เข้าร่วมจัดกิจกรรมของกลุ่มภาคีสีรุ้งและภาคีเครือข่ายเพื่อความหลากหลายทางเพศ
ที่ลานกิจกรรมด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566
ภาพ: ฐานิส สุดโต
กฎหมายสมานฉันท์รัฐบาล-ฝ่ายค้าน
ด้าน อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส. กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวกับ THE STANDARD ว่าในฐานะผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของรัฐบาล เชื่อมั่นว่าไม่มีปัญหา ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องได้รับการรับรองจากสภาในวาระแรกอย่างแน่นอน เพราะในสมัยที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน กฎหมายนี้ก็ยังผ่านมาได้ แต่ตอนนี้เป็นรัฐบาล ด้วยจำนวน สส. ที่มี บวกกับความเชื่อว่าฝ่ายค้านจะสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยกันทำให้กฎหมายนี้ผ่านไปได้อย่างแน่นอน และมองว่าร่าง พ.ร.บ. จะเป็นกฎหมายฉบับแรกที่เป็นจะกฎหมายสมานฉันท์ระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล
กระดุมเม็ดแรก…สู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ
อัครนันท์บอกด้วยว่าไม่ว่าจะเป็นร่างกฎหมายฉบับของประชาชน ร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล หรือแม้แต่ร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาล ล้วนมาจากคณะกรรมาธิการเดียวกัน ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และประชาชน ดังนั้นอาจมีบางข้อความที่แตกต่างกัน แต่ 90% ของเนื้อหาเป็นไปในทำนองเดียวกันหมด แค่รอไปแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน
แต่ในวาระที่ 2 อาจใช้เวลา เนื่องจาก สส. จะต้องมาถกเถียงกัน แม้เราจะพยายามให้รีบใช้ แต่ก็มีขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนในขั้นตอนการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) น่าจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาในแต่ละมาตราว่าจะมีความล่อแหลมหรือไม่ ซึ่งเราจะต้องหาคำตอบให้กับ สว. โดยเตรียมตอบจุดบอดในแต่ละหมวดของสภาที่แล้วไว้ เช่น พี่น้องชาวมุสลิม เราจะใช้มาตรา 66 ในการยึดโยงกับกฎหมายอิสลาม ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายฉบับนี้
‘สมรสเท่าเทียม’ ถือเป็นหมุดกระดุมเม็ดแรกที่อัครนันท์เชื่อว่าจะตอบประเทศไทยในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ทั้งนี้ หากกฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ มีผลบังคับใช้ จะมีส่วนช่วยในหลายเรื่อง ไม่ใช่แค่สิทธิ แต่ช่วยในเรื่องของเศรษฐกิจ และเมืองไทยจะเป็นเมืองที่เฟรนด์ลีกับกลุ่ม LGBTQIA+ มากขึ้น คนจะมาเที่ยวมากขึ้น เพื่อเดินทางเข้ามาจดทะเบียนสมรส และกระตุ้นหลายๆ อย่าง
คนไทยต้องได้ใช้ กฎหมายต้องไม่ถูกเตะถ่วง
สส. กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของรัฐบาล ยังกล่าวด้วยว่า นี่เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล และเป็นหนึ่งในสิ่งที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะทำในสิ่งที่ประกาศ เพราะสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลง คนยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น คนอยากเห็นความเท่าเทียมมากขึ้น และส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่มีความหวังว่ากฎหมายนี้จะผ่าน ไม่ถูกเตะถ่วง ในฐานะผู้แทนราษฎรก็อยากเห็นกฎหมายฉบับนี้ออกมาให้คนไทยได้ใช้ ได้ให้สิทธิในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
“ในส่วนของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติก็จะพยายามทำให้กฎหมายนี้เกิดขึ้นได้จริงในสมัยเรา แล้วผมเชื่อว่าถ้าเป็นไปได้วาระที่ 2 และวาระที่ 3 ก็คงอยู่ในกรอบของปีหน้า จะไม่ให้มีการถูกเตะถ่วงอีกแล้ว มันถึงเวลาที่เราต้องยอมรับความต่างของทุกคน” อัครนันท์กล่าว
เส้นทางกว่าจะมาเป็น ‘สมรสเท่าเทียม’
ขณะที่ ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อธิบายผ่านบทความ ‘คลี่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเวอร์ชันปี 66 ต้องรออีกนานเท่าไรกว่าจะได้ความเท่าเทียม?’ ว่ายกตัวอย่างภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Case Against 8 ซึ่งเป็นเรื่องราวก่อนที่ศาลสูงสหรัฐอเมริกาจะพิพากษาในคดี Obergefell v. Hodges ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาทั่วทุกรัฐต้องอนุญาตให้ LGBTQIA+ จดทะเบียนสมรสกันได้ในปี ค.ศ. 2015
ในสารคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในระหว่างปี ค.ศ. 2009-2013 คู่รัก LGBTQIA+ 2 คู่ คือ Jeffrey J. Zarrillo & Paul T. Katami และ Kristin M. Perry & Sandra B. Stier ฟ้องศาลสูงสหรัฐอเมริกาเพื่อให้ได้สมรสเท่าเทียมในมลรัฐแคลิฟอร์เนียอีกครั้ง หลังจากถูกยกเลิกโดยญัตติที่ 8 (Proposition 8) โดยใช้เวลาต่อสู้ทางกฎหมายกว่า 4 ปี จนกระทั่งได้รับชัยชนะในปี ค.ศ. 2013 ศาลสูงสหรัฐอเมริกาพิพากษาให้มลรัฐแคลิฟอร์เนียอนุญาตให้คู่รัก LGBTQIA+ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียสามารถจดทะเบียนสมรสได้อีกครั้ง
เหตุการณ์ที่น่าประทับใจหลังมีคำพิพากษาให้สามารถจดทะเบียนสมรสได้อีกครั้งคือทั้งสองเดินทางไปยังสำนักงานเขตเพื่อขอจดทะเบียนสมรส เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตแจ้งว่ายังไม่ได้รับคำสั่งใดๆ องค์กร American Foundation for Equal Rights ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมผลักดัน จึงประสานไปยังผู้นำสูงสุดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (Attorney General) Kamala Harris (ปัจจุบันเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ) เพื่อต่อโทรศัพท์ไปยังผู้อำนวยการเขต แจ้งว่าทั้ง 2 คู่ และทุกคู่รัก LGBTQIA+ สามารถจดทะเบียนสมรสได้ทันที และ Kamala Harris เป็นผู้ประกอบพิธีสมรสให้กับ Kristin & Sandra อีกด้วย
ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรสของทั้ง 2 คู่นี้ และอีกหลายคู่เกิดขึ้นภายใน 2 วันหลังศาลสูงสหรัฐฯ มีคำพิพากษา ได้แต่หวังใจว่าความรวดเร็วเช่นนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยเช่นกัน