×

คลี่ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเวอร์ชันปี 66 ต้องรออีกนานเท่าไรกว่าจะได้ความเท่าเทียม?

19.12.2023
  • LOADING...
สมรสเท่าเทียม
  • ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเวอร์ชันปี 2566 ทั้ง3 ร่าง มีหลักการเหมือนกันคือขยายสิทธิการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง จากเดิมจำกัดเฉพาะชายกับหญิงให้ขยายสิทธิครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกเพศวิถี โดยมิได้ลดทอนสิทธิหน้าที่ใดๆ ของคู่สมรส บิดามารดา ชายหญิงทั่วไปทั้งที่มีอยู่เดิมและในอนาคต การแก้ไข ป.พ.พ. มิได้บังคับการจดทะเบียนสมรสกับประชาชนหรือศาสนิกชนใดๆ และมิได้เข้าไปแก้ไขหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกของพี่น้องชาวมุสลิม

 

  • ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของภาคประชาชนจึงมีบทเฉพาะกาลในมาตราที่ 64 และ 65 บัญญัติให้คู่สมรสและบุพการี LGBTQIA+ ได้รับสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมาย กฎระเบียบอื่นๆ ในประเทศไทยที่มีบทบัญญัติให้สิทธิ หน้าที่ สวัสดิการแก่สามีภริยา บิดามารดา ชายหญิงทั่วไป หรือคำอื่นในลักษณะเดียวกัน โดยมิต้องรอระยะเวลาไปเสนอร่างแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่ปัจจุบันมีถ้อยคำระบุเพศแบบ 2 เพศ (Binary) เช่น สามีภริยา บิดามารดา ฯลฯ ด้วยเป้าประสงค์ให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่จะประกาศใช้เป็น ‘ร่างที่ใช่ ใช้ได้จริง ใช้ได้เลย’ ไม่ต้องรอระยะเวลา อีกภายใน 6 เดือน

 

นับตั้งแต่เริ่มมีการผลักดันกฎหมายรับรองสถานะชีวิตคู่ LGBTQIA+ จนกระทั่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ริเริ่มร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ร่างแรกในปี 2556 จนถึงปัจจุบันมีปรากฏการณ์ที่น่ายินดีกับพี่น้อง LGBTQIA+ ในรอบทศวรรษคือ

 

รัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสนอร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เป็นครั้งแรก และคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการเพื่อรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรทั้งที่รัฐบาลก่อนหน้าเสนอแต่ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และเคยประกาศคว่ำร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

 

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของภาคประชาชนได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้นำไปบรรจุวาระรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก

 

สมรสเท่าเทียม

อ้างอิง: Facebook มนธ.เพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi)

 

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของ สส. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล ได้รับการบรรจุวาระและรอพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง หลังจากร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับเดิมที่เคยผ่านการพิจารณาวาระแรกตกไปจากการยุบสภาของรัฐบาลก่อน

 

ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเวอร์ชันปี 2566 ทั้ง 3 ร่าง มีหลักการเหมือนกันคือขยายสิทธิการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้อง จากเดิมจำกัดเฉพาะชายกับหญิงให้ขยายสิทธิครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ทุกอัตลักษณ์ทางเพศ และทุกเพศวิถี โดยมิได้ลดทอนสิทธิหน้าที่ใดๆ ของคู่สมรส บิดามารดา ชายหญิงทั่วไป ทั้งที่มีอยู่เดิมและในอนาคต การแก้ไข ป.พ.พ. มิได้บังคับการจดทะเบียนสมรสกับประชาชนหรือศาสนิกชนใดๆ และมิได้เข้าไปแก้ไขหลักกฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวมรดกของพี่น้องชาวมุสลิม

 

สมรสเท่าเทียม

อ้างอิง: Facebook บางกอก ไพรด์

 

ผู้เขียนขอสมมติว่าหากวันนี้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้ว นอกจากคู่รัก LGBTQIA+ ต้องรอให้ผ่านพ้นระยะเวลา (ตามร่างของรัฐบาล และ สส. คือ 120 วัน หรือประมาณ 4 เดือน) หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากประสงค์จะใช้สิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายอื่นบางฉบับต้องรอให้หน่วยงานภาครัฐพิจารณาทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบและเสนอร่างแก้ไขกฎหมายอื่นที่ยังมีถ้อยคำที่ให้สิทธิและสวัสดิการแก่เฉพาะสามีภริยา บิดามารดา ชายหญิง เช่น ชายหญิง สามีภริยา บิดามารดา ฯลฯ อีกภายใน 180 วัน (ประมาณ 6 เดือน) และต้องรอจนกว่าร่างแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภา จึงจะสามารถได้รับสิทธิและสวัสดิการของคู่สมรสตามกฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ, พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ, พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการฯ เป็นต้น

 

ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมของภาคประชาชนจึงมีบทเฉพาะกาลในมาตราที่ 64 และ 65 บัญญัติให้คู่สมรสและบุพการี LGBTQIA+ ได้รับสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมาย กฎระเบียบอื่นๆ ในประเทศไทย ที่มีบทบัญญัติให้สิทธิ หน้าที่ สวัสดิการแก่สามีภริยา บิดามารดา ชายหญิงทั่วไป หรือคำอื่นในลักษณะเดียวกัน โดยมิต้องรอระยะเวลาไปเสนอร่างแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ที่ปัจจุบันมีถ้อยคำระบุเพศแบบ 2 เพศ (Binary) เช่น สามีภริยา บิดามารดา ฯลฯ ด้วยเป้าประสงค์ให้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมที่จะประกาศใช้เป็น ‘ร่างที่ใช่ ใช้ได้จริง ใช้ได้เลย’ ไม่ต้องรอระยะเวลา อีกภายใน 6 เดือน

 

การมีบทเฉพาะกาลในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) เคยมีบทบัญญัติที่อาจเทียบเคียงได้ เช่น พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 บรรพ 1 หุ้นส่วนบริษัท ซึ่งแก้ไขให้หนังสือบริคณห์สนธิ (เอกสารก่อตั้งบริษัทฯ) ให้มีอายุเพียง 3 ปี หากไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนบริษัทถือว่าหนังสือบริคณห์สนธิสิ้นผล

 

บทเฉพาะกาลในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ 23) ให้ผู้ยื่นขอจดทะเบียนบริษัท ‘ได้รับสิทธิ’ ยืดอายุหนังสือบริคณห์สนธิก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติฯ อีก 180 วัน ผู้เขียนเห็นว่าแม้เป็นเรื่องหุ้นส่วนบริษัทยังมีบทเฉพาะกาลให้สิทธิประโยชน์ เหตุใดการเป็นหุ้นส่วนชีวิตของคู่สมรส LGBTQIA+ จึงมีบทเฉพาะกาลที่ให้สิทธิต่างๆ ไม่ได้

 

ผู้เขียนเคยชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Case Against 8 ซึ่งเป็นเรื่องราวก่อนที่ศาลสูงสหรัฐอเมริกาจะพิพากษาในคดี Obergefell v. Hodges ทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกาทั่วทุกรัฐต้องอนุญาตให้ LGBTQIA+ จดทะเบียนสมรสกันได้ในปี ค.ศ. 2015

 

ในสารคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในระหว่างปี ค.ศ. 2009-2013 คู่รัก LGBTQIA+ 2 คู่ คือ Jeffrey J. Zarrillo & Paul T. Katami และ Kristin M. Perry & Sandra B. Stier ฟ้องศาลสูงสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ได้สมรสเท่าเทียมในมลรัฐแคลิฟอร์เนียอีกครั้ง หลังจากถูกยกเลิกโดยญัตติที่ 8 (Proposition 8) โดยใช้เวลาต่อสู้ทางกฎหมายกว่า 4 ปี จนกระทั่งได้รับชัยชนะในปี ค.ศ. 2013 ศาลสูงสหรัฐอเมริกาพิพากษาให้มลรัฐแคลิฟอร์เนียอนุญาตให้คู่รัก LGBTQIA+ ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียสามารถจดทะเบียนสมรสได้อีกครั้ง

 

เหตุการณ์ที่น่าประทับใจหลังมีคำพิพากษาให้สามารถจดทะเบียนสมรสได้อีกครั้งคือ Jeffrey & Paul และ Kristin & Sandra เดินทางไปยังสำนักงานเขตเพื่อขอจดทะเบียนสมรส เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตแจ้งว่ายังไม่ได้รับคำสั่งใดๆ จากมลรัฐแคลิฟอร์เนีย องค์กร American Foundation for Equal Rights ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ร่วมผลักดัน ประสานไปยังผู้นำสูงสุดของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (Attorney General) Kamala Harris (ปัจจุบันเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ) เพื่อต่อโทรศัพท์ไปยังผู้อำนวยการเขต

 

แจ้งว่าทั้ง 2 คู่ และทุกคู่รัก LGBTQIA+ สามารถจดทะเบียนสมรสได้ทันที และ Kamala Harris เป็นผู้ประกอบพิธีสมรสให้กับ Kristin & Sandra อีกด้วย ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรสของทั้งสองคู่นี้และอีกหลายคู่เกิดขึ้นภายใน 2 วันหลังศาลสูงสหรัฐฯ มีคำพิพากษา ผู้เขียนได้แต่หวังใจว่าความรวดเร็วเช่นนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

 

สมรสเท่าเทียม

อ้างอิง: https://www.hbo.com/movies/the-case-against-8

 

คู่รัก LGBTQIA+ หลายคู่ในประเทศไทยพวกเขาต่อสู้และรอสมรสเท่าเทียมมานานมากกว่า 10 ปี และบางคู่กำลังรอการใช้สิทธิเพื่อดำเนินการมีบุตรโดยอาศัยเทคโนโลยี บางคู่กำลังรอสิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาลให้กับคู่อีกฝ่ายที่กำลังป่วยในวาระสุดท้าย หรือบางคู่กำลังรอรับสิทธิในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการในชีวิตบั้นปลาย พวกเขาและเธอเหล่านั้นต้องรอนานอีกเท่าไรกว่าจะมีศักดิ์ศรี สิทธิ สวัสดิการ เท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป หรือต้องรอให้เวลาของพวกเขาหมดลงเสียก่อน

 

อ้างอิง:

FYI

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565

 

สืบค้นได้จาก:

  • https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2565/A/069/T_0001.PDF
  • ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของภาคประชาชน ฉบับรวบรวมรายชื่อ ในเดือนพฤศจิกายน 2566 และของรัฐบาล ฉบับผ่านมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ของ สส. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ฉบับรับฟังความคิดเห็นในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566 ผู้เขียนรวบรวมไว้ที่: http://bit.ly/4aq9Aoo
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X