ทันทีที่รองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศว่าเจ้าพ่อเฟซบุ๊ก ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ จะมาเยือนประเทศไทยและเข้าพบพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีวันที่ 30 ตุลาคมนี้ ทุกสำนักข่าวก็ฮือฮากับเรื่องนี้
เพราะเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ ริชาร์ด หลิว ผู้บริหารเบอร์ 1 ของอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อย่าง JD.com จะมาประเทศไทยในต้นเดือนพฤศจิกายนเพื่อกำหนดทิศทางการลงทุนในอาเซียนโดยใช้ไทยเป็นศูนย์กลาง ขณะที่ แจ็ค หม่า แห่ง Alibaba ก็จะมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเพื่อหารือเรื่องแนวทางการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยกำลังเนื้อหอมในเวทีโลก และเป็นจุดวัดกำลังสำคัญของมหาอำนาจดิจิทัลที่ฟาดฟันกันดุเดือด
Photo: Emesto Benavides/AFP
ทำไมมหาอำนาจโลกดิจิทัลอย่างเฟซบุ๊กต้องมาเยือนไทย?
หลังจากช่วง ‘พระราชพิธีสำคัญ’ ในเดือนนี้ ถือว่าเป็นเวลาที่น่าจับตาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นด้านธุรกิจและการลงทุน ประเทศไทยมีศักยภาพกับตลาดดิจิทัลอย่างมาก
จากสถิติเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจำนวน 38 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด และใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือถึงวันละ 3.9 ชั่วโมง ติดอันดับ 4 ของโลก
ขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากที่สุดถึง 24 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 1.3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ทั้งหมด ขณะที่ผู้ใช้งานทั่วประเทศมีถึง 47 ล้านบัญชี เฟซบุ๊กทำรายได้ในประเทศไทยในปีที่ผ่านมาเป็นเงินถึง 3 พันล้านบาท และกวาดเงินจากทั้งเอเชียได้ถึง 145,200 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่ ‘มาร์ก’ จะเห็นว่าไทยคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนที่จะมองข้ามไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมามีประเด็นระหว่างรัฐบาลไทยและเฟซบุ๊กอยู่บ่อยครั้ง โดย คสช. เปิดเผยว่าจะต้องจัดระเบียบเนื้อหาที่ ‘ไม่เหมาะสม’ ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงและความรู้สึกของคนทั้งชาติ และจะเข้มงวดมากขึ้นในการพิจารณาเรื่องโครงสร้างรายได้และการเสียภาษีให้กับประเทศไทย
ซึ่งเรื่องนี้เจ้าพ่อเฟซบุ๊กพยายามชี้แจงตลอดว่าให้ความสำคัญกับการจัดการเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังทั่วโลก แต่ดูเหมือนจะยังไม่เห็นผลที่ชัดเจนนัก หลายฝ่ายเล็งว่าเรื่องนี้จะต้องเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน รวมทั้งการใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการขยายธุรกิจในอาเซียน ซึ่งเชื่อว่าจะจบลงด้วยภาพที่ชื่นมื่นของผู้นำไทยกับมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ยืนจับมือและสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นตามระเบียบ แต่จะได้ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมหรือไม่ คงต้องติดตามต่อไป
Photo: FABRICE COFFRINI/AFP
ศึกแห่งศักดิ์ศรีชิงพื้นที่ประเทศไทยที่ต้องจับตามอง
นอกจากนี้ ศึกใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนที่ต้องจับตาคือ การประลองกำลังกันของผู้นำด้านอีคอมเมิร์ซแดนมังกร อย่าง Alibaba และ JD.com ซึ่ง ดร. คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้สัมภาษณ์กลางวงนักข่าวในช่วงที่พานักลงทุนญี่ปุ่นมาดูพื้นที่อีอีซีว่า แจ็ค หม่า จะมาเมืองไทยในเดือนพฤศจิกายน เพื่อพูดคุยกับรัฐบาลและหารือแนวทางการลงทุนในพื้นที่อีอีซีซึ่งเป็น ‘กล่องดวงใจ’ ของรัฐบาลในตอนนี้
หลังจากมีข่าวที่ทำให้ทีมเศรษฐกิจใจหายใจคว่ำเมื่อต้นปีว่า Alibaba จะเปลี่ยนแผนการสร้างศูนย์กระจายสินค้า (e-commerce hub) จากไทยไปที่มาเลเซีย พร้อมกับภาพของแจ็ค หม่า กับ นาจิบ ราซัค ผู้นำมาเลเซียเปิดเขตการค้าเสรีดิจิทัลมูลค่ากว่า 55,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ก็เพิ่งตั้ง แจ็ค หม่า เป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจดิจิทัลไปเมื่อปลายปี 2559
แม้ภายหลังจะออกมาชี้แจงว่ายังคงจะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าสำหรับประเทศซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยจะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ระยะยาว ส่วนมาเลเซียจะเป็นการเชื่อมโยงอีคอมเมิร์ซระหว่างจีนและมาเลเซีย จะโฟกัสที่ตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน แยกกันชัดเจน แต่ก็ถือว่าหมุดตัวแรกของ Alibaba ที่ปักในอาเซียนเป็นมาเลเซีย ไม่ใช่ประเทศไทย เพราะความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานตลอดจน ‘ความชัดเจน’ ของนโยบายทางด้านเศรษฐกิจด้วย การมาเยือนของแจ็ค หม่า รอบนี้จึงเป็นโจทย์สำคัญของทีมเศรษฐกิจของ ดร. สมคิด ที่จะพลาดไม่ได้
Photo: REUTERS
ขณะที่นักธุรกิจที่เติบโตจนหายใจรดต้นคอ Alibaba อย่าง ริชาร์ด หลิว แห่ง JD.com ก็ให้สัมภาษณ์ว่า จะใช้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางของอีคอมเมิร์ซเช่นเดียวกัน โดยมองไทยเป็นฐานสำหรับการทำตลาดอาเซียนฝั่งตะวันออก พร้อมประกาศจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ด้วย ทั้งระบบโดรน บิ๊กดาต้า และคลาวด์คอมพิวติ้งขนาดใหญ่
ดูเหมือนริชาร์ดจะเร่งเครื่องออกตัวได้เร็วกว่าแจ็ค หม่า เสียอีก ด้วยการจับมือกับเครือเซ็นทรัลทำธุรกิจด้วยดีลกว่า 15,000 ล้านบาทสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซและฟินเทค ซึ่งเป็นการประกาศชัดเจนว่าเขา ‘เอาจริง’ กับการสร้างฐานที่มั่นในไทย และงัดข้อกับ Alibaba เต็มตัว
ทั้งนี้ริชาร์ด หลิว มีกำหนดการมาเยือนไทยเพื่อหารือยุทธศาสตร์การลงทุนในไทยและภูมิภาคอาเซียนต้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
ภายในไม่กี่สัปดาห์นับจากนี้ เราคงเห็นนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ สมคิด ต้อนรับแขกคนสำคัญกันคึกคัก
ไม่ว่าใครจะมาก็ตามที ล้วนเป็นผลดีกับประเทศไทย เพราะแสดงว่าทุนระดับโลกยังมองเห็นศักยภาพของที่ตั้งประเทศ และโอกาสทางธุรกิจสำหรับการรุกฆาตตลาดอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดดเด่นที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก และรัฐบาลก็หวังเหลือเกินกับการ ‘ประเดิม’ การลงทุนจากยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในพื้นที่อีอีซีที่ชูจุดขายเรื่องของอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและนวัตกรรมมาโดยตลอด และจะถือเป็น ‘ผลงาน’ ของรัฐบาล คสช. ที่จะลดแรงกดดันจากกระแสวิจารณ์เรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจได้พอสมควร
อ้างอิง: