ดิฉันได้อยู่ญี่ปุ่นตอนสมัยที่ AKB48 กำลังรุ่งโรจน์ รุ่งถึงขั้นเห็นคนเป็นพันคนเบียดกันขึ้นรถไฟเพื่อไปงานจับมือของน้องๆ ทุกคนพูดถึง AKB48 แม้แต่หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจเครียดๆ ก็ยังนำเรื่อง AKB48 ไปศึกษา
และขณะนี้ ดิฉันกำลังสัมผัสปรากฏการณ์คล้ายกันที่ประเทศไทย จากน้องๆ วง BNK48 ที่ลูกศิษย์ดิฉันเต้นให้ดูในคลาส เพื่อนผู้ชายพูดถึง และทุกวันไทม์ไลน์ในเฟซบุ๊กต้องมีคนแชร์อะไรสักอย่างเกี่ยวกับวง BNK48 นี้
สารภาพว่าดิฉันเคยคิดว่าโมเดล AKB48 คงจะไปได้ดีแค่กับคนเฉพาะกลุ่ม หรือแค่ในญี่ปุ่นหรือเปล่า แต่วันนี้น้องๆ BNK48 ทำให้พวกเราเห็นว่า คอนเซปต์นี้ก็สามารถทำให้คนไทยส่วนใหญ่อมยิ้มและสนุกสนานไปกับเพลงของพวกเธอได้เช่นเดียวกับญี่ปุ่นจริงๆ
เหตุใดทั้ง 2 วงตลอดจนวงตระกูล 48 ในประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย ถึงประสบความสำเร็จเช่นนี้?
ต้นแบบ AKB48 & BNK48
ผู้ก่อตั้งและผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวง AKB48 คือ อากิโมโตะ ยาสุชิ (Akimoto Yasushi) นักแต่งเพลงชื่อดังของญี่ปุ่น
จริงๆ แล้ว AKB48 ไม่ใช่วงแรกที่มีจำนวนสมาชิกในวงมากขนาดนี้
ในปี ค.ศ. 1985 อากิโมโตะก่อตั้งวง Onyanko Club ซึ่งมีสมาชิกในวงถึง 52 คน แถมยังสามารถผลักดันให้สมาชิกของวงหลายคนสามารถออกผลงานร้องเดี่ยว และกลายเป็นดาราชื่อดังได้ ในปี ค.ศ. 1986 นั้น ซิงเกิลต่างๆ ของวง Onyanko Club ติดอันดับ 1 ของ Oricon Chart ในประเทศญี่ปุ่นรวมแล้ว 36 สัปดาห์เลยทีเดียว
แม้อากิโมโตะจะสามารถปลุกปั้นศิลปิน ตลอดจนแต่งเพลงฮิตออกมาหลายเพลง เขายังมีความ ‘อิจฉา’ คณะละครเวทีเล็กๆ กับศิลปินวงร็อกอยู่นิดๆ เพราะศิลปิน 2 กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่แฟนๆ ติดตามอย่างเหนียวแน่นด้วยการไปชม ไปเชียร์ ถึงสถานที่อย่างใกล้ชิด นี่เป็นสิ่งที่วง Onyanko Club ไม่มี แฟนๆ ส่วนใหญ่ติดตามผ่านวิทยุและโทรทัศน์มากกว่า
นั่นคือจุดเริ่มต้นของความรู้สึก ‘อยากสร้างไอดอลที่ใครๆ ก็ไปเจอเมื่อไรก็ได้’ ในใจของอากิโมโตะ
ไอดอล ‘ที่ใครๆ ก็ไปพบได้’
วันหนึ่งอากิโมโตะสังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจในสายตาเขา คือ คนที่ไปอากิฮาบาระ
อากิฮาบาระเป็นย่านจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า การ์ตูน เกม ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุด คนที่ไปเดินซื้อของในย่านนี้จึงมักเป็นผู้ชาย ซึ่งชื่นชอบสินค้าไอที เกม และแอนิเมชันเป็นอย่างยิ่ง
อากิโมโตะเห็นว่าคนกลุ่มนี้มี ‘พลัง’ อะไรบางอย่าง เมื่อพวกเขาชอบใคร พวกเขาจะทุ่มให้กับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ เช่น ถ้าติดการ์ตูนเรื่องใด คนกลุ่มนี้ก็จะซื้อดีวีดี ซื้อของสะสม ตลอดจนตุ๊กตาเวอร์ชันต่างๆ พวกเขาชอบศึกษา ให้เวลากับสิ่งที่ตัวเองสนใจเต็มที่
เมื่อคอนเซปต์ที่อยู่ในใจมาเจอกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม อากิโมโตะก็เริ่มลงมือทันที
เขาเริ่มสร้างเวทีบนชั้น 8 ของตึก Don Quijote ใกล้สถานีอากิฮาบาระ ซึ่งเป็นสถานที่ที่แฟนๆ สามารถไปพบปะสาวๆ ได้ทุกวัน
ว่ากันว่าคอนเสิร์ตครั้งแรกของวง AKB48 นั้นมีผู้ชมเพียง 7 คนเท่านั้น แต่ปัจจุบัน อัตราการแข่งขันจองตั๋วในแต่ละรอบนั้นสูงถึง 100-300 เท่า ยิ่งวันสำคัญๆ ที่สมาชิกหลักของวงออกมาประกาศจบการศึกษา (ลาออก) มีคนแย่งกันจองตั๋วกว่า 900 เท่าของจำนวนตั๋วที่ขายเลยทีเดียว
อะไรคือเสน่ห์ของ AKB48? ทำไมพวกเธอถึงสามารถชนะใจแฟนคลับได้ล้นหลามขนาดนี้
คัดคนที่เพอร์เฟกต์ออก
วิธีการคัดเลือกสมาชิกของอากิโมโตะและกรรมการนั้นก็ไม่ธรรมดา ในเมื่อคอนเซปต์ของวงคือ กลุ่มไอดอลที่แฟนๆ สามารถไปพบได้ (บ่อย ๆ) ไอดอลแต่ละคนจึงต้องมีเสน่ห์อะไรบางอย่างที่อยากให้แฟนๆ ไปหา
กฎเหล็กข้อแรกของอากิโมโตะในการคัดเลือกสมาชิก คือ ‘คัดคนที่เพอร์เฟกต์ออก’
เด็กสาวคนไหนหน้าตาสวย เต้นเก่ง ร้องเพลงดี… เด็กเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้เป็นสมาชิก AKB48 เลย
สิ่งที่คณะกรรมการพิจารณาเป็นหลักคือ เสน่ห์เฉพาะตัวและความมุ่งมั่น
กรณีของ มาเอดะ อัตสึโกะ สมาชิกที่เคยเป็นเซนเตอร์และเป็นหนึ่งในสมาชิกวงที่ได้รับความนิยมสูงสุดนั้น ตอนออดิชันเธอไม่สามารถเต้นเข้าจังหวะกับเพลงได้เลย หน้าตาก็ดูเคร่งเครียด กังวล แต่ตอนตอบคำถามในช่วงท้ายๆ เธอยิ้มเขินๆ ออกมา กรรมการทุกคนรู้สึกประทับใจในรอยยิ้มอันมีเสน่ห์นั้นมาก จึงให้เธอผ่าน และมาเอดะก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวังจริงๆ เธอตั้งอกตั้งใจซ้อมจนสามารถเต้นและร้องเพลงได้อย่างคล่องแคล่วในที่สุด
สมาชิก AKB48 ส่วนใหญ่ไม่มีใครเต้นหรือร้องเพลงเก่งเลย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สาวๆ ค่อยๆ เติบโต พัฒนาทักษะการร้องการเต้นขึ้นเรื่อยๆ
และด้วยจำนวนสมาชิกที่มากถึงร้อยกว่าคน (ขึ้นเวทีจริงประมาณ 20 กว่าคน) ก็จะมีสมาชิกวงอย่างน้อย 1 คน ที่ถูกใจแฟนๆ
‘ความไม่เพอร์เฟกต์’ และ ‘เสน่ห์เฉพาะตัว’ นี้เอง ที่กลายเป็นเสน่ห์ของวง AKB48
จากวันแรกที่พวกเธอขึ้นเวที ตั้งใจร้อง ตั้งใจเต้น ทั้งๆ ที่มีคนดูแค่ 7 คน สาวๆ ยังเต้นไม่พร้อมเพรียงกัน เสียงร้องก็ยังไม่มีพลังนัก แต่ผู้ชมทั้ง 7 คนนั้นก็เห็นความตั้งใจของพวกเธอ และอยากที่จะกลับมาให้กำลังใจพวกเธออีก
คนดูบางคนมาดูทุกสัปดาห์ จึงเห็นพัฒนาการของสาวๆ ยิ่งเห็นเด็กๆ ตั้งอกตั้งใจซ้อมและเต้น แฟนๆ จึงยิ่งต้องการที่จะให้กำลังใจ สมาชิกวงจึงมีกำลังใจมากขึ้น และหมั่นซ้อมมากขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก AKB48 กับแฟนๆ จึงเริ่มเกิดขึ้นเช่นนี้นี่เอง
ไอดอลที่เราใกล้ชิดได้
เมื่อวง AKB48 เริ่มมีแฟนคลับมากขึ้นเรื่อยๆ อากิโมโตะก็เริ่มจัดงานต่างๆ เพื่อให้แฟนคลับสามารถใกล้ชิดไอดอลในใจตัวเองได้
กิจกรรมหนึ่งในนั้น คือ งานจับมือ
สาวๆ จะยืนประจำโต๊ะ และแฟนคลับก็จะมาเข้าแถวจับมือ ทั้งสองฝ่ายมีเวลาเพียงไม่ถึง 10 วินาที แฟนคลับอาจมีโอกาสบอกไอดอลแค่ว่า ‘ดูอยู่นะ’ หรือ ‘เป็นกำลังใจให้นะ’ แต่นั่นก็มีความหมายสำหรับพวกเขาแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีงานถ่ายภาพ งานแจกลายเซ็นให้แก่แฟนๆ อีกด้วย
ส่วนอีเวนต์ที่หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นทุกหัวพาดหัวข่าวถึง และเป็นที่พูดถึงกันมากนั้น คงหนีไม่พ้นเซมบัตสึ หรืองานเลือกตั้งนั่นเอง
อากิโมโตะ ตลอดจนผู้จัด จะไม่ได้เป็นผู้กำหนดตำแหน่งเซนเตอร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เด่นที่สุด ตรงกลางวง หรือไอดอลที่จะมาออกซิงเกิลเพลงใหม่ แต่จะเปิดโอกาสให้แฟนๆ โหวต
วิธีโหวตคือ แฟนๆ ต้องซื้อซีดี ในซีดีจะมีบัตรลงคะแนนเสียงอยู่ อยากเชียร์คนไหนก็สามารถโหวตและเชียร์ได้ แฟนคลับบางคนถึงกับซื้อซีดีเป็นร้อยแผ่น เพื่อจะเชียร์ไอดอลที่ตนเองชื่นชอบให้เป็นที่ 1 ให้ได้ แฟนคลับจึงช่วยเหลือกัน รวมตัวกัน และพยายามแสดงความรักและกำลังใจให้กับไอดอลของตนเอง อีเวนต์นี้จึงเป็นอีเวนต์ที่เต็มไปด้วยหยาดน้ำตา ทั้งจากตัวไอดอลเอง และแฟนๆ
ไอดอลธรรมดาๆ ที่ไม่ธรรมดา…สาเหตุที่เป็นที่รัก
ด้วยคอนเซปท์ที่ว่า ‘ไอดอลที่ใครๆ ก็ไปพบได้’ AKB48 ได้กลายเป็นโมเดลใหม่ในวงการไอดอล ความแปลกใหม่นี้เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไอดอลหรือศิลปินดาราที่มีชื่อเสียง
ไอดอลทั่วไปนั้นต้องดูเพอร์เฟกต์ ต้องร้องเพลงเป๊ะ เต้นเนี้ยบ ไม่ผิดจังหวะ
แต่ AKB48 นั้นเปรียบเสมือนก้อนเพชร ก่อนจะค่อยๆ ถูกเจียระไน พวกเธอไม่ได้เพอร์เฟกต์ตั้งแต่แรก แต่ค่อยๆ พัฒนาฝีมือขึ้นไปเรื่อยๆ
การคัดเลือกไอดอลทั่วไปนั้นต้องเลือกคนที่ ‘ดีที่สุด’ หรือ ‘เป๊ะที่สุด’ ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา ความสามารถในการแต่งเพลง หรือเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์
ส่วน AKB48 นั้น เป็นการคัดคนที่ ‘ไม่เป๊ะ’ แต่มุ่งมั่นและมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง
นักร้องชื่อดังทั่วไปนั้นมีกลุ่มแฟนๆ เป็นคนทั่วไป เช่น จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) ก็มี Belieber ซึ่งเป็นสาววัยรุ่นทั่วโลก หรือ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ก็มีสาวๆ Swifties ทั่วโลกที่ชื่นชมเสียงร้อง หน้าตา ท่าเต้นของเธอ
แต่ AKB48 มีกลุ่มแฟนๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะกว่า นั่นคือกลุ่มคนที่ชื่นชอบไปอากิฮาบาระ (ในสายตาคนญี่ปุ่นนั้น แฟนคลับ AKB48 ก็คือกลุ่มโอตาคุนี่เอง) จำนวนอาจจะน้อยกว่าศิลปินชื่อดังทั่วไปมาก แต่คนกลุ่มนี้มีความจงรักภักดี รักใคร รักสุดหัวใจ
สำหรับแฟนๆ ของศิลปินทั่วไป พวกเขาหรือเธอชื่นชอบศิลปินคนนั้น เพราะอยากเป็นเช่นนั้นบ้าง หรือศิลปินมีอะไรบางอย่างที่แฟนๆ ไม่มีแต่อยากมี เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ หน้าตาสวย ร้องเพลง แต่งเพลงเก่ง หากเป็นศิลปินเพศตรงข้าม แฟนๆ อาจปลื้ม อยากได้เป็นแฟน หลงรักในเสน่ห์ของศิลปินคนนั้นๆ
แต่สำหรับแฟนๆ AKB48 นั้น ความรู้สึกของพวกเขาอาจไม่ได้เริ่มจากความประทับใจในหน้าตาหรือฝีมือของน้องๆ นักร้อง แต่พวกเขา ‘เอ็นดู’ ต้องการให้กำลังใจ ต้องการเห็นการเติบโตของสมาชิกในวงมากกว่า กล่าวคือ แฟนคลับศิลปินทั่วไปนั้น อาจรู้สึกเชิดชู มองว่าศิลปินเหนือกว่าตน เป็นดาวอยู่บนฟ้า แต่สำหรับแฟนคลับ AKB48 (ส่วนใหญ่) นั้นจะรู้สึกว่าศิลปินอยู่ใกล้ชิดกับตน เท่าเทียมกัน หรือตนเองกำลังยื่นมือไปช่วยเหลือศิลปินมากกว่า
ศิลปินชื่อดังทั่วไป มักจะเข้าถึงยาก นานๆ จัดคอนเสิร์ตที แต่ AKB48 นั้น แฟนๆ สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากคอนเสิร์ตที่มีทุกวัน ตลอดจนเข้าถึงตัวได้ในงานจับมือ หรืองานถ่ายภาพ AKB48 แถมยังให้แฟนๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญๆ อย่างการเลือกเซนเตอร์ของวงด้วย
แฟนๆ วง AKB48 จึงรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของวง รู้สึกผูกพันกับไอดอลตนเอง คลั่งไคล้จนเพื่อนรอบตัวเห็น เกิดความสงสัย ศึกษา จนกลายมาเป็นแฟนคลับไปด้วย
สรุปโมเดลธุรกิจไอดอลทั่วไปกับ AKB48
บทเรียนการตลาดจาก AKB48 สำหรับทุกธุรกิจ
- I’m not perfect but I have a belief.
ผู้ประกอบการหลายท่านพยายามทำสินค้าที่ดีที่สุด เพอร์เฟกต์ที่สุด แต่พอออกสู่ตลาด กลายเป็นว่าผู้บริโภคอาจไม่ถูกใจบ้าง หรือเสียเวลาพัฒนานาน เมื่อสินค้าติดตลาด ก็โดนแบรนด์อื่นลอกเลียนแบบไป
สิ่งที่เรียนรู้ได้จากวง AKB48 คือ เราอาจไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟกต์ตั้งแต่แรก (คล้ายหลัก Lean Startup) แต่เราต้องมีความเชื่อ ความฝันอะไรบางอย่างที่มุ่งมั่นต้องการทำให้สำเร็จ เหมือนน้องๆ AKB48 หรือ BNK48 ที่มุ่งมั่นฝึกซ้อม พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
หากเรามีความฝันหรือความเชื่อที่ชัดเจน แม้จะยังทำสินค้าได้ไม่ดี แต่จะมีลูกค้าบางกลุ่มที่มีความเชื่อเดียวกับเรา และอยากเห็นการเติบโตของแบรนด์เรา ความไม่เพอร์เฟกต์ ตลอดจนความมุ่งมั่นนั้น ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และทำให้ลูกค้าอยากช่วยเหลือก็เป็นได้ (แต่ถ้าไม่เพอร์เฟกต์ แล้วแถมไม่มีความเชื่อความฝันอะไรอีก อย่างนี้ลูกค้าจะมีแต่เดินหนีค่ะ)
- Customer Engagement to Brand Loyalty
ศิลปินนักร้องที่ประสบความสำเร็จนั้น ยิ่งโด่งดังก็จะยิ่งวางตัวไกลจากแฟนๆ อาจเผยความเป็นตัวตนของตนเองยาก เพราะต้องเพอร์เฟกต์ ต้องรักษาภาพลักษณ์
แต่สิ่งที่ AKB48 (และ BNK48) ทำได้ดียิ่ง คือ การใกล้ชิดกับลูกค้า หาโอกาสพูดคุย ฟังฟีดแบ็กแฟนๆ หมั่นพัฒนาตัวเองตลอดเวลา (เพราะถ้าหยุดนิ่งอยู่กับที่อาจเจอเมมเบอร์คนอื่นแซงได้) กลายเป็นว่า ยิ่ง AKB48 และ BNK48 โด่งดัง ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนอีเวนต์ต่างๆ และยิ่งใกล้ชิดแฟนๆ มากขึ้น
ยิ่งใกล้ชิดก็ยิ่งกลายเป็นความผูกพัน และนำไปสู่ความจงรักภักดีจากลูกค้า
ในตอนนี้ หากมีวงอื่นตั้งกลุ่มเลียนแบบ เช่น BNK38 หรือ BKN48 เชื่อว่า แฟนๆ คงไม่หนีไปหากลุ่มใหม่ง่ายๆ
เช่นเดียวกับแบรนด์สินค้า หากแบรนด์ของคุณประสบความสำเร็จจนติดตลาดแล้ว คุณเขยิบตัวเองห่างจากลูกค้าแล้วหรือเปล่า ยังฟังเสียงบ่นหรือคำชมของลูกค้าอยู่หรือไม่ จัดกิจกรรมพบปะลูกค้า อาจจะเป็นทางออนไลน์หรือออฟไลน์บ้างหรือเปล่า
ยิ่งสามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าได้เท่าไร ก็จะนำไปสู่ความจงรักภักดีในแบรนด์ของท่านเช่นนั้น สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่คู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบแบรนด์คุณได้ง่ายๆ เลย
- Very Clear Target & Clear Concept
สิ่งหนึ่งที่ดิฉันพบบ่อยๆ จากการให้คำปรึกษาธุรกิจ SMEs คือ ผู้ประกอบการต้องการจะนำเสนอสินค้าตนเองให้กับทุกคน เช่น หากทำสบู่ เมื่อถามว่าต้องการขายใคร คำตอบที่ดิฉันได้รับบ่อยๆ คือ ‘ใครก็ได้’
เราเชื่อกันว่า ยิ่งขายมาก ยิ่งตลาดใหญ่ ยิ่งดี
แต่ในยุคที่ใครๆ ก็ผลิตสินค้าได้ แถมมีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ทำให้ใครๆ ก็กลายมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าได้ การเจาะตลาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับบริษัทเล็กๆ หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มกิจการ สุดท้าย สินค้าที่เกิดจากการพยายามทำให้ทุกคนชอบ ก็จะกลายเป็นสินค้ากลางๆ ไม่โดดเด่น และไม่ได้โดนใจใครสักคนเลย
กรณี AKB48 นั้น อากิโมโตะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดมากๆ คือ กลุ่มคนที่ชอบไปอากิฮาบาระ คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมคล้ายกัน บุคลิกลักษณะนิสัย การแต่งกายคล้ายกัน แม้จะเป็นกลุ่มเล็ก แต่เมื่อทำแบรนด์ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว คนกลุ่มนี้ก็ทำให้เกิดกระแสในสังคมได้เช่นกัน
ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างคือ แบรนด์ Supreme แบรนด์แฟชั่นชื่อดังก้องโลก Supreme มีกลุ่มเป้าหมายที่เล็ก แต่ชัดมากคือ กลุ่มนักสเกตบอร์ด คนกลุ่มนี้ต้องการทำสิ่งที่แตกต่างจากผู้อื่น ชอบความท้าทาย ความนอกกระแส แม้เป็นกลุ่มเล็กมากๆ ก็ตาม แต่ในที่สุด ก็สามารถจุดแบรนด์นี้ให้กลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกได้
เมื่อกลุ่มเป้าหมายชัดเจนแล้ว ก็ต้องมีคอนเซปต์ที่ชัดเจน
คอนเซปต์นี้ควรเป็นคอนเซปต์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และเป็นสิ่งที่แตกต่างจากคู่แข่ง
กรณีของ AKB48 นั้น ในขณะที่ไอดอลกลุ่มอื่นเน้นขายหน้าตาหรือเสียงร้อง แต่ AKB48 กลับมีคอนเซปต์ว่า ไอดอลที่ใครๆ ก็ไปพบได้
กลุ่มเป้าหมายและคอนเซปต์ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของธุรกิจ ไอเดียงานจับมือ งานเลือกตั้งเซนเตอร์ของวง AKB48 นั้น ก็มีที่มาจากคอนเซปต์ที่ชัดเจนมากนั่นเอง
เมื่อ AKB48 โด่งดัง สมาชิกก็ไปเป็นนางแบบบ้าง ถ่ายภาพลักษณะต่างๆ บ้าง หรือทางบริษัทก็ให้สาวๆ ในวงถ่ายภาพชุดว่ายน้ำบ้าง คนทั่วไปอาจมองว่าพวกเธอเป็นแค่สินค้าหรือเปล่า เป็นการหาโอกาสกับเด็กผู้หญิงไหม
บทความนี้ เขียนมาเพื่อถ่ายทอดความเชื่อของผู้สร้างวง ตลอดจนจุดเริ่มต้นของพวกเธอ
เมื่อใดที่บริษัทมุ่งทำแต่ยอดขาย จนลืมความเชื่อของตัวเอง ลืมสิ่งที่ตัวเองต้องการสร้าง เมื่อนั้นลูกค้าอาจรู้สึกว่าเสน่ห์ของแบรนด์ลดลง ไม่น่าสนใจอีกต่อไป แล้วก็เริ่มไปหาแบรนด์อื่นๆ แทน
วง BNK48 เป็นวงที่เดินตามรอย AKB48 ในด้านโมเดล และเพิ่งเริ่มมาได้ปีกว่าเท่านั้น ดิฉันหวังว่า ทางผู้จัดจะต่อยอดโมเดลเดิมให้ดีขึ้น และหวังว่าแฟนๆ จะให้กำลังใจน้องๆ ให้พวกเธอได้ฉายแสงและพลังที่พวกเธอมี คอยเฝ้าดูความพยายาม และการเติบโตของพวกเธอ