SCBS ได้จัดทำบทวิเคราะห์พรีวิวผลประกอบการ 4Q64 ของบริษัทกลุ่มท่องเที่ยว ภายใต้การวิเคราะห์จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW), บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) และ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC)
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มการท่องเที่ยว (TOURISM) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.8%MoM โดยราคาหุ้น MINT ไม่เปลี่ยนแปลง MoM อยู่ที่ระดับ 29.50 บาท ราคาหุ้น ERW ไม่เปลี่ยนแปลง MoM อยู่ที่ระดับ 3.00 บาท ราคาหุ้น AWC ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3%MoM สู่ระดับ 4.60 บาท และราคาหุ้น CENTEL ปรับเพิ่มขึ้น 4.6%MoM สู่ระดับ 34.50 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2565)
พรีวิวผลประกอบการ 4Q64:
SCBS คาดการณ์ไตรมาส 4Q64 จะเป็นไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดของปี 2564 โดยผู้ประกอบการโรงแรมจะมีผลขาดทุนรายไตรมาสต่ำที่สุด เนื่องจากอัตราการเข้าพักจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด QoQ (28-52% ใน 4Q64 เทียบกับ 10-47% ใน 3Q64) โดยได้รับแรงหนุนจากการกลับมาเดินทางภายในประเทศได้ตามปกติหลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเดือนกันยายน 2564 การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศเสี่ยงต่ำโดยไม่ต้องกักตัวในเดือนพฤศจิกายน 2564 (เป็นบวกต่อผู้ประกอบการโรงแรมทุกราย) และความต้องการเดินทางที่แข็งแกร่งในยุโรป (เป็นบวกสำหรับ MINT) ก่อนที่จะกลับมามีความกังวลเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในเดือนธันวาคม 2564
AWC จะรายงานขาดทุนปกติ 4Q64 ที่ 1,044 ล้านบาท ดีขึ้นทั้ง YoY และ QoQ โดยจะประกาศวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565
ERW จะรายงานขาดทุนปกติ 4Q64 ที่ 249 ล้านบาท ดีขึ้นทั้ง YoY และ QoQ โดยจะประกาศวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565
MINT จะรายงานขาดทุนปกติ 4Q64 ที่ 1,657 ล้านบาท ดีขึ้นทั้ง YoY และ QoQ โดยจะประกาศวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
CENTEL จะรายงานขาดทุนปกติ 4Q64 ที่ 803 ล้านบาท แย่ลง YoY แต่ดีขึ้น QoQ โดยจะประกาศวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
แนวโน้มผลประกอบการปี 2565:
ส่วนโมเมนตัมจะอ่อนตัวลง QoQ ใน 1Q65 โดยเชื่อว่าอัตราการเข้าพักจะลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอน สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รัฐบาลไทยได้ประกาศระงับมาตรการคัดกรองคนเข้าประเทศแบบ ‘Test & Go’ เป็นการชั่วคราว มีผลตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2564 จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความว่าผู้ที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยทุกคนจะต้องเข้ากระบวนการกักตัวตามโครงการ Sandbox (ซึ่งในวันที่ 11 มกราคม 2565 มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมคือ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสุราษฎร์ธานีในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) บรรยากาศการเดินทางภายในประเทศสะดุดลงบ้างอันเป็นผลมาจากการยกเลิก/เลื่อนการจอง
อย่างไรก็ดี SCBS มองว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายเหมือนใน 1Q64 (อัตราการเข้าพัก 14-18%) ซึ่งการดำเนินงานได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกที่สองของโควิด เนื่องจากในปัจจุบันอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับที่สูงขึ้น
สำหรับแนวโน้มปี 2565 ฟื้นตัวด้วยความไม่แน่นอนสูง โดย SCBS ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยไว้ที่ 8 ล้านคน ในปี 2565 (20% ของระดับก่อนเกิดโควิด) โดยส่วนใหญ่จะเดินทางเข้ามาใน 2H65 เพิ่มขึ้นจาก 3 แสนคน ในปี 2564 การท่องเที่ยวไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้นจะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมมีผลขาดทุนลดลงในปี 2565 อย่างไรก็ดี จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมาตรการกักตัวของรัฐบาลเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยไม่ได้รับความสะดวก
ประเด็นหลักที่กังวลคือ ระยะเวลาในการใช้มาตรการกักตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงในการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งอาจสร้าง Downside ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยและผลประกอบการของผู้ประกอบการโรงแรมที่เราคาดการณ์ไว้ในปี 2565
ขณะที่ปัจจัยกระตุ้นกลุ่มท่องเที่ยวคือ สถานการณ์โควิดดีขึ้นและการท่องเที่ยวไทยมีทิศทางฟื้นตัว แต่มีความไม่แน่นอนสูง เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา