การผลิตทองคำโดยรวมทั้งโลกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างจำกัด และยังต้องจับตาหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาทองคำมีความผันผวน และมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การผลิตแร่ทองคำโดยรวมทั้งโลกขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียง 0.3% ต่อปี ซึ่งการผลิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของจีนเป็นแรงกดดันต่ออุปทานทองคำ
นอกจากนี้การเข้าถือครองทองคำอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ประกอบกับ SCB EIC ประเมินว่า Fed มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ โดยผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะส่งผลให้นักลงทุนหันมาลงทุนในทองคำมากขึ้น จะส่งผลให้ราคาทองคำโลกมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี
การสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจทองคำของไทยยังจำกัดอยู่ที่การผลิตสินค้าขั้นปลาย
ปัจจุบันโรงงานสกัดทองคำในไทยแม้จะมีความสามารถสกัดทองคำให้มีความบริสุทธิ์ได้ที่ 99.99% แต่ยังมีทองคำบางส่วนถูกส่งออกไปยังโรงงานสกัดทองคำในต่างประเทศ โดยเฉพาะสวิตเซอร์แลนด์ ที่สามารถสกัดทองคำให้มีความบริสุทธิ์ตามมาตรฐานสากล หลังจากนั้นจึงนำเข้าทองคำบริสุทธิ์กลับเข้ามาผลิตที่ไทยเป็นสินค้าขั้นปลาย
ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง การสร้างมูลค่าเพิ่มของธุรกิจทองคำของไทยจึงยังจำกัดอยู่ที่การผลิตสินค้าขั้นปลาย เช่น เครื่องประดับที่มีส่วนประกอบของทองคำ ทองคำแท่ง เหรียญทองคำ
ผู้ประกอบการธุรกิจทองคำยังเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุนจากราคาทองคำที่พุ่งสูงขึ้นมาก แต่ความนิยมถือครองทองคำของคนไทยยังเป็นโอกาส
- แม้ว่ารายได้ของธุรกิจค้าทองในช่วงปี 2019-2022 โดยรวมจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 17% ต่อปี แต่ผู้ค้าทองต้องเผชิญกับความท้าทายด้านต้นทุนขายที่ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลให้อัตรากำไรต่ำมาก อย่างไรก็ดี ในภาพรวมธุรกิจค้าทองยังมีสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจที่สูง ซึ่งปริมาณการซื้อขายทองคำที่หมุนเวียนในตลาด ทั้งจากผู้บริโภคและนักลงทุนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจค้าทอง
- ความนิยมถือครองทองคำของคนไทย ทั้งเครื่องประดับและการลงทุน ยังเป็นโอกาสของธุรกิจการผลิตและธุรกิจค้าทอง โดย SCB EIC ประเมินว่า ตลาดทองคำในประเทศที่ถือครองโดยผู้บริโภคในปี 2023 มีมูลค่าแตะระดับ 91,000 ล้านบาท ปรับตัวสูงขึ้นจากราว 66,000 ล้านบาท ในปี 2021 จากราคาทองคำโดยเฉลี่ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ปริมาณการถือครองทองคำที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการถือครองทองคำต่อประชากรของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น การออกแบบลวดลาย รวมถึงการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ เป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับผู้ผลิตและผู้ค้าทอง
- ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งออกเพื่อสกัดทองคำให้มีความบริสุทธิ์ตามมาตรฐานสากล และนำเข้าทองคำกลับมาที่ไทย เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้าทองคำขั้นปลาย อีกทั้งต้นทุนยังมีความผันผวนไปตามราคาทองคำในตลาดโลกและค่าเงินบาท ที่ต้องอาศัยประสบการณ์ในการบริหารจัดการต้นทุนราคาทองคำและสต็อกวัตถุดิบทองคำ รวมถึงบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย
- ผู้ผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องประดับทองคำควรมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เช่น การออกแบบลวดลายทองรูปพรรณให้มีเอกลักษณ์ เพื่อดึงดูดกำลังซื้อจากผู้ซื้อเครื่องประดับทองคำเพื่อสะท้อนความมั่งคั่งและเก็บสะสม รวมถึงขยายฐานลูกค้า ทั้งผู้บริโภคในประเทศ เช่น ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีการเติบโตของรายได้แบบก้าวกระโดดแต่รายได้ไม่แน่นอน จึงต้องการสะสมสินทรัพย์เพื่อเป็นหลักประกันในอนาคต คนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อ รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคในประเทศเพื่อนบ้านที่นิยมเครื่องประดับทองคำจากไทย และนักท่องเที่ยวจากต่างชาติอย่างชาวตะวันออกกลาง ชาวฮ่องกง
- ผู้ค้าทองรายใหญ่ยังสามารถขยายการให้บริการด้วยการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น สถาบันการเงิน การขายทองคำผ่าน e-Wallet รวมถึงอาจเป็นพันธมิตรกับธุรกิจการท่องเที่ยว เพื่อขยายช่องทางการขายไปสู่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มที่มีศักยภาพ ขณะที่ผู้ค้าทองรายกลางและเล็กอาจขยายธุรกิจสู่การให้บริการออมทอง โดยเฉพาะกับผู้ซื้อรายย่อยและกลุ่มนักลงทุนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มหรือบัญชีการซื้อขายออนไลน์ของผู้ค้าทองรายใหญ่ได้
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่นี่: