เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (19 พฤษภาคม) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของ บมจ.การบินไทย (THAI) ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลาย และ พ.ร.บ. ล้มละลาย รวมถึงเห็นชอบให้กระทรวงการคลังลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ต่ำกว่า 50% ซึ่งจะทำให้ THAI พ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ
สำหรับกระบวนการฟื้นฟูภายใต้ พ.ร.บ. ล้มละลายจะมี 10 ขั้นตอน* ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีในระหว่างดำเนินการฟื้นฟูภายใต้ พ.ร.บ. ล้มละลายนี้ สินทรัพย์ของบริษัทฯ จะได้รับความคุ้มครอง และบริษัทฯ จะยังคงสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ โดยเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมจะจัดตั้งคณะทำแผนฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 15 คน และจะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาอนุมัติในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้ง (ซึ่งเป็นบริษัทจัดเครดิตให้แก่บริษัทหรือองค์กรที่มีแผนจะระดมทุนในตลาดตราสารหนี้) ได้ปรับลดเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ์ ไม่มีหลักประกันของ THAI ลงสู่ระดับ ‘C’ จากเดิม ‘BBB’ (ที่เพิ่งปรับลดอันดับลงวันที่ 16 พฤษภาคม) โดยการปรับลดอันดับในครั้งนี้สะท้อนถึงการที่บริษัทฯ จะพักชำระหนี้ตามมติ ครม. ที่ให้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
ทั้งนี้เมื่อศาลล้มละลายกลางรับพิจารณาแผนฟื้นฟูฯ บริษัทฯ จะพักชำระหนี้กับเจ้าหนี้ตามกฎหมาย (Automatic Standstill) เมื่อการพักชำระหนี้เกิดขึ้นอันดับเครดิตของบริษัทฯ จะถูกปรับลงสู่ระดับ ‘D’ หรือ ‘Default’ ซึ่งหมายความว่าบริษัทอยู่ในสภาวะผิดนัดชำระหนี้
กระทบอย่างไร:
เมื่อวานนี้ราคาหุ้น THAI ปรับขึ้น 14.63%DoD ชนเพดานสูงสุดของวัน (Ceiling) สู่ระดับ 4.70 บาท ขานรับมติ ครม. ขณะที่วันนี้ (20 พฤษภาคม) ราคาหุ้น THAI ยังคงปรับขึ้นต่อ 14.89%DoD ชนเพดานสูงสุดของวัน (Ceiling) สู่ระดับ 5.40 บาท
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่าสาเหตุที่ราคาหุ้น THAI ปรับขึ้นชนเพดานสูงสุด 2 วันติดต่อกันในครั้งนี้ เนื่องจากตลาดตอบรับต่อความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ที่ดูชัดเจนและเข้มข้นยิ่งกว่าครั้งก่อนหน้าที่ทำไม่สำเร็จ โดยแผนการฟื้นฟูครั้งนี้จะมีการจัดตั้งคณะทำแผนฟื้นฟู ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมการฟื้นฟูให้เป็นจริงมากขึ้น
ทั้งนี้ต้องติดตามรายละเอียดของแผนฟื้นฟูกิจการ การปรับโครงสร้างธุรกิจ ผลกระทบต่อเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น วิธีระดมทุนในการฟื้นฟูกิจการ และระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้ในการฟื้นฟู นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาการรายงานผลประกอบการ Q1/63 ของบริษัทฯ ในวันที่ 14 สิงหาคม
มุมมองระยะยาว:
ในระยะยาว SCBS ยังคงมีมุมมองระมัดระวังต่อ THAI เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสายการบินยังคงเผชิญกับความท้าทายจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มหดตัวลงอย่างรุนแรงจากผลกระทบของโควิด-19 รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมสายการบินจะกดดันต่อความสามารถในทำกำไรของบริษัทฯ
ข้อมูลเพิ่มเติม:
5 อันดับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.การบินไทย (THAI)
- กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 1.11 พันล้านหุ้น สัดส่วนการถือหุ้น 51.03%
- กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 (บลจ.เอ็มเอฟซี) ถือหุ้น 165 ล้านหุ้น สัดส่วนการถือหุ้น 7.56%
- กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 (บลจ.กรุงไทย) ถือหุ้น 165 ล้านหุ้น สัดส่วนการถือหุ้น 7.56%
- ธนาคารออมสิน ถือหุ้น 46.4 ล้านหุ้น สัดส่วนการถือหุ้น 2.13%
- SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED ถือหุ้น 32.9 ล้านหุ้น สัดส่วนการถือหุ้น 1.51%
*10 ขั้นตอนการฟื้นฟูภายใต้ พ.ร.บ. ล้มละลาย
- ครม. อนุมัติการฟื้นฟูและลดการถือหุ้นลงต่ำกว่า 50% เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการยื่นแผนฟื้นฟูต่อศาลล้มละลาย
- การบินไทยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอตัวเองเป็นผู้จัดทำแผน โดยตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจากับเจ้าหนี้
- ยื่นคำร้องต่อศาล และเมื่อศาลรับคำร้อง การบินไทยจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 90/12 (สภาวะพักชำระหนี้) ทำให้สามารถหยุดจำนวนหนี้และดอกเบี้ยได้
- ส่งหมายให้เจ้าหนี้ และเจรจาเจ้าหนี้ทั้งหมด
- ประชุมเจ้าหนี้
- ศาลตั้งผู้จัดทำแผน ซึ่งนายกฯ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาบุคคลที่เหมาะสม
- เสนอแผนฟื้นฟู
- ประชุมเจ้าหนี้ อนุมัติแผนฟื้นฟู
- ศาลพิจารณาเห็นชอบแผนและตั้งผู้บริหารแผน
- ดำเนินการตามแผนฟื้นฟู
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum