เกิดอะไรขึ้น:
วันที่ 29 พฤษภาคม บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ได้จัดงานประชุมนักวิเคราะห์เพื่อแถลงภาพรวมธุรกิจรวมถึงแผนการลงทุนจากเงินสดส่วนเกินคงเหลือ โดยผู้บริหารเปิดเผยว่าปัจจุบันบริษัทมีเงินสดส่วนเกินจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ขายบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ (AJM) ออกไปแล้ว โดยเงินสดส่วนนี้บริษัทได้เตรียมไว้ใช้สำหรับ
- การเพิ่มทุนของ บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) จากการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น อัตรา 2 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่
- เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) สู่ระดับ 22.9% จากระดับ 20.12%
- ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเพื่อต่อยอดธุรกิจบริหารหนี้
- ขยายธุรกิจการเงินเพิ่มเติม
ทั้งนี้ผู้บริหารคาดว่าผลประกอบการของบริษัทย่อยในเครือยังมีแนวโน้มที่อ่อนแอจากผลกระทบของโควิด-19
กระทบอย่างไร:
ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา (1-8 มิถุนายน) ราคาหุ้น TCAP ปรับขึ้น 11.18% สู่ระดับ 42.25 บาท จาก 38.00 บาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากทิศทาง Fund Flow ที่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย รวมถึงมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นกลุ่มธนาคารซึ่งเป็นหุ้น Laggard ในช่วงก่อนหน้านี้ และมีมูลค่าพื้นฐาน (Valuation) อยู่ในระดับที่น่าสนใจ จึงเป็นสาเหตุให้ราคาหุ้นของ TCAP ปรับตัวขึ้นมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา ขณะที่ด้านแนวโน้มผลประกอบการที่อ่อนแอ ตลาดได้รับรู้มาก่อนหน้านี้แล้ว
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/63 ของ TCAP จะลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 เนื่องจากไม่มีกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนใน AJM เหมือนในไตรมาส 1/63 จำนวน 3.74 พันล้านบาทเกิดขึ้นอีก รวมถึงส่วนแบ่งกำไรในบริษัทย่อยที่มีแนวโน้มลดลง หลักๆ เกิดจาก TMB และ THANI เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจขาลง โดยเฉพาะในไตรมาส 2/63 ซึ่งจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้
มุมมองระยะยาว:
สำหรับแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2563 ของ TCAP นั้น SCBS คาดการณ์ไว้ที่ 7.3 พันล้านบาท ลดลง 31.95%YoY ซึ่งเกิดจากแนวโน้มกำไรของบริษัทย่อยที่อ่อนแอ โดย SCBS คาดว่ากำไรสุทธิของ TMB อยู่ที่ 1.34 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะสร้างส่วนแบ่งกำไรใน TCAP จำนวน 2.7 พันล้านบาท และกำไรสุทธิของ THANI อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งจะสร้างส่วนแบ่งกำไรให้ TCAP จำนวน 852 ล้านบาท
สำหรับการจ่ายเงินปันผลปี 2563 SCBS คาดว่าจะเป็นอีกปีที่ TCAP สามารถจ่ายเงินปันผลที่ดี เนื่องจากมีกำไรสุทธิจำนวนมากและกระแสเงินสดอิสระที่สูง เมื่อวิเคราะห์บนสมมติฐานอัตราการจ่ายเงินปันผล 70% (จาก 75% ในปี 2562) ทำให้ SCBS คาดว่า TCAP จะจ่ายเงินปันผลปี 2563 ที่อัตรา 4.4 บาทต่อหุ้น ซึ่งคิดเป็นอัตราเงินปันผล (Dividend Yield) 10%
ทั้งนี้ SCBS คาดว่า TCAP จะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากจะไม่มีกำไรพิเศษจากเงินลงทุนเกิดขึ้นอีก และสภาพคล่องก็จะลดลง หากอิงประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 จำนวน 5.3 พันล้านบาท TCAP จะเงินปันผลปี 2564 ที่อัตรา 3.2 บาทต่อหุ้น (อิงสมมติฐานอัตราการจ่ายเงินปันผล 70%)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์