×

หุ้นเครื่องดื่มร่วง หลังสรรพสามิตเดินหน้าขึ้น ‘ภาษีความหวาน Step 2’ 1 ต.ค. นี้

โดย SCB WEALTH
11.09.2019
  • LOADING...
ภาษีความหวาน Step 2

เกิดอะไรขึ้น: วันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2562 กรมสรรพสามิตเผยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2564 จะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีความหวานสำหรับเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลใน 3 เกณฑ์ ดังนี้ 

 

1) เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสมเกิน 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร จะเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร (เดิมเสียภาษี 0.50 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562) 

 

2) เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกิน 14-18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรจะเสียภาษี 3 บาทต่อลิตร (เดิมเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562) 

 

3) เครื่องดื่มที่ปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมต่อมิลลิลิตร จะเสียภาษี 5 บาทต่อลิตร (เดิมเสียภาษี 1 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562)

 

ทั้งนี้กรมสรรพากรคาดว่าการเพิ่มอัตราภาษีความหวานครั้งนี้จะหนุนรายได้เพิ่มเป็น 3.5 พันล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มอีกราว 1.5 พันล้านบาท (จากเดิมเก็บภาษีความหวานได้ราว 2 พันล้านบาทต่อปี) นอกจากนี้กรมสรรพากรยังมีแผนจัดเก็บภาษีความหวานเพิ่มขึ้นในอัตราขั้นบันไดทุก 2 ปี เพื่อหวังให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนสูตรในเครื่องดื่มเพื่อให้มีลดความหวานลง 

 

กระทบอย่างไร: ตั้งแต่มีข่าวออกมาพบว่า ราคาหุ้นกลุ่มเครื่องดื่มในช่วงวันที่ 9-10 กันยายน ปรับลงต่อเนื่อง นำโดย SAPPE ลดลง 3.7%, ICHI ลดลง 8.6%, TIPCO ลดลง 4.9%, OSP ลดลง 2.0%, CBG ลดลง 2.8% และยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มดังกล่าว

 

มุมมองระยะสั้น: แม้การเก็บภาษีความหวานเพิ่มขึ้นจะกดดันราคาหุ้นกลุ่มเครื่องดื่มแต่คาดเป็นเพียงผลกระทบเชิงลบทางจิตวิทยาระยะสั้น เพราะช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตเครื่องดื่มหลายแห่งได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเครื่องดื่มใหม่ๆ ที่เป็นสูตรน้ำตาลน้อยลง หรือไม่มีน้ำตาลเลยมาเพื่อรองรับมาตรการนี้ไว้แล้ว อาทิ บมจ. โอสถสภา (OSP) ได้ปรับสูตรเครื่องดื่ม M-150 ให้มีความหวานในเกณฑ์ 10-14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร ลดลงจากเดิมที่มีความหวานในเกณฑ์ 14 -18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และ บมจ. โออิชิ (OISHI) ได้ปรับสูตรพอร์ตเครื่องดื่มชาเขียวหลักในไทยที่เดิมมีน้ำตาลอยู่ในช่วง 10-14 กรัมต่อ100 มิลลิลิตร มาเป็นสูตรไม่มีน้ำตาล หรือน้ำตาลลดลงมาอยู่ในช่วง 8-10 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เพื่อทำให้บริษัทไม่ต้องแบกต้นทุนภาษีความหวานมากเกินไป 

 

มุมมองระยะยาว: SCBS เชื่อว่าช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างมีการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์รักสุขภาพด้วยการหันมาผลิตและบริโภคเครื่องดื่มที่มีความหวานน้อยลงไปแล้ว ดังนั้นการเดินหน้าจัดเก็บภาษีความหวานที่จะเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี จึงไม่น่าจะกระทบต่อผลประกอบการของกลุ่มเครื่องดื่มอย่างมีนัยดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงแรกที่เริ่มจัดเก็บภาษีความหวานในปี 2560 ทั้งนี้กำลังซื้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวและภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นมากในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มน่าจะเป็นประเด็นที่นักลงทุนควรจับตามองมากกว่าในระยะยาว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X