เกิดอะไรขึ้น:
วันนี้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้น 12.20%DoD ทำจุดสูงสุดในรอบ 3 เดือน และมีปริมาณการขายซื้อที่หนาแน่นสูงสุดในรอบ 1 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่ 19 กันยายน 2563 นอกจากนี้ตลาดหุ้นไทยยังมีกระแสเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติติดต่อกัน 3 วันทำการ (29 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน) จำนวน 9 พันล้านบาท โดยพบว่าหุ้นกลุ่มธนาคารมีแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติจำนวน 833 ล้านบาท เข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว
กระทบอย่างไร:
วันนี้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับตัวขึ้นแรงกว่า 12.20%DoD นำโดย
- ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปรับขึ้น 15.00%DoD มีผลต่อดัชนี 3.34 จุด
- ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปรับขึ้น 14.71%DoD มีผลต่อดัชนี 3.55 จุด
- ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารกรงศรีอยุธยา (BAY) ปรับขึ้น 13.64%DoD มีผลต่อดัชนี 2.15 จุด
- ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) ปรับขึ้น 11.11%DoD มีผลต่อดัชนี 1.56 จุด
- ราคาหุ้น บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) ปรับขึ้น 10.83%DoD มีผลต่อดัชนี 0.46 จุด
- ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ปรับขึ้น 10.82%DoD มีผลต่อดัชนี 2.22 จุด
- ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) ปรับขึ้น 9.24%DoD มีผลต่อดัชนี 0.99 จุด
- ราคาหุ้น บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ปรับขึ้น 8.70%DoD มีผลต่อดัชนี 0.31 จุด
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่า สาเหตุที่ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้นมาแรงในครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารยังล้าหลัง (Laggard) ต่อ SET Index ที่ฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว รวมถึง Valuation ของหุ้นกลุ่มธนาคารยังอยู่ในระดับที่ถูก จึงทำให้นักลงทุนหันมาสนใจลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารมากขึ้น
นอกจากนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศได้ขยายเวลาให้ Thai NVDR ถือหุ้น BBL 35% ออกไปอีก 6 เดือน (สิ้นสุด) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้นต่อราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารให้เริ่มปรับตัวขึ้นมาในสัปดาห์ที่ผ่านมา
มุมมองระยะยาว:
สำหรับภาพรวมทิศทางผลประกอบการของหุ้นกลุ่มธนาคารยังคงไม่น่าสนใจมากนัก ในเบื้องต้น SCBS คาดว่ากำไรสุทธิปี 2563 ของกลุ่มธนาคารจะยังคงหดตัว YoY เนื่องจากยอดสินเชื่อมีแนวโน้มหดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ด้านส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) มีแนวโน้มแคบลงตามทิศทางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง ขณะที่ Credit Cost จะเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงจากผลกระทบของโควิด-19
ขณะที่ด้านฐานะทางการเงินของกลุ่มธนาคารยังคงแข็งแกร่งจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 19.32% (ณ ปี 2562) ซึ่งสูงกว่าช่วงวิกฤตทางการเงินปี 2540 ที่ระดับ 9.23% ด้านสภาพคล่องกลุ่มธนาคารยังคงดีกว่าช่วงวิกฤตปี 2540 ด้วยอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 92.6% (ณ ปี 2562) ซึ่งต่ำกว่าปี 2540 ที่ระดับ 134.8% (ณ ปี 2540)
ถึงแม้แนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มธนาคารจะเผชิญกับความท้าทาย แต่ด้วยฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องที่สูงเพียงพอจะช่วยให้กลุ่มธนาคารสามารถเผชิญกับวิกฤตครั้งนี้ไปได้