สัปดาห์นี้ตลาดหุ้นไทยเผชิญกับความผันผวนอย่างมากจากปัจจัยภายนอกครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยเหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 ราคาน้ำมันดิบ (WTI) ปรับตัวลงราว 34.26%DoD หลังจากรัสเซียไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงการลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มของกลุ่ม OPEC เนื่องจากไม่ต้องการสูญเสียรายได้และส่วนแบ่งตลาดให้แก่สหรัฐฯ จึงทำให้การประชุม OPEC ที่ผ่านมา (5-6 มีนาคม) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าว
ขณะที่ทางซาอุดีอาระเบียได้ตอบโต้รัสเซียด้วยการประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน พร้อมปรับลดราคาน้ำมันดิบทุกประเภทลง สร้างความกังวลว่าอุปทานของน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างมากท่ามกลางอุปสงค์ที่กำลังชะลอตัวลง เป็นเหตุให้ในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม ตลาดหุ้นไทยเกิดแรงเทขายในหุ้นกลุ่มพลังงานต้นน้ำ กดดันให้ SET Index ปรับตัวลงอยู่ที่ระดับ 1,255.94 จุด ลดลง 108.63 จุด หรือลดลง 8.0%DoD
เหตุการณ์ต่อมาเกิดขึ้นในคืนวันพุธที่ 11 มีนาคม องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคโควิด-19 เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดทั่วโลก หลังมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทะลุ 1.2 แสนราย รวมถึงช่วงเช้าวันต่อมา (12 มีนาคม) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์รับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยประกาศระงับการเดินทางจากทุกประเทศในยุโรป ยกเว้นอังกฤษ ในช่วง 30 วันข้างหน้า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้ SET Index ปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกสู่ระดับ 1,114.91 จุด ลดลง 134.98 จุด หรือลดลง 10.8%DoD พร้อมเกิดเหตุการณ์หยุดพักการซื้อขายชั่วคราว (Circuit Breaker) ของตลาดหุ้นไทยในช่วงบ่าย
ขณะที่วันนี้ (13 มีนาคม) ตลาดหุ้นไทยเปิดทำการซื้อขายในช่วงเช้าไม่ถึง 5 นาทีก็เกิดเหตุการณ์ Circuit breaker หลังจาก SET Index ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 1,003.39 จุด ลดลง 111.52 จุด หรือลดลง 10%DoD โดยปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกที่ยังคงกังวลด้านสถานการณ์โควิด-19 ภายหลังจากหยุดพักการซื้อขายชั่วคราวเสร็จสิ้น SET Index เคลื่อนไหวผันผวนตลอดทั้งวัน โดยเคลื่อนไหวในแดนบวกสลับกับแดนลบหลายครั้ง
ขณะที่ช่วงบ่าย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ประกาศปรับปรุงเกณฑ์การขายชอร์ตชั่วคราว จากเดิมที่กำหนดให้สมาชิกจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (Last Trading Price) เป็นขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายเท่านั้น เพื่อลดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์ ส่งผลให้วันนี้ SET Index สามารถปิดในแดนบวกที่ 1,124.43 จุด เพิ่มขึ้น 14.00 จุด หรือเพิ่มขึ้น 1.26%DoD
อย่างไรก็ดี ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ SET index ปรับลงอยู่ที่ระดับ 1,128.91 จุด ลดลง 235.66 จุด หรือลดลง 17.3%DoD จากระดับ 1,364.57 จุด ในวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม
ทั้งนี้นับจากนี้นักลงทุนคงต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกประเทศจีนว่าจะทวีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รวมถึงติดตามสถานการณ์ในประเทศไทย หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นและหากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้จนเกิดการแพร่ระบาดสู่ชุมชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงกดดันต่อตลาดหุ้นไทยต่อในระยะถัดไป
SCBS ได้รวบรวมสถิติน่าที่สนใจหลังตลาดหุ้นปรับลงแรงในสัปดาห์นี้:
10 อันดับหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด
- PTT มูลค่าตลาด 7.56 แสนล้านบาท (อันดับที่ 1 ณ ต้นปี 2563)
- AOT มูลค่าตลาด 7.53 แสนล้านบาท (อันดับที่ 2 ณ ต้นปี 2563)
- CPALL มูลค่าตลาด 5.54 แสนล้านบาท (อันดับที่ 3 ณ ต้นปี 2563)
- ADVANC มูลค่าตลาด 5.15 แสนล้านบาท (อันดับที่ 4 ณ ต้นปี 2563)
- SCC มูลค่าตลาด 3.34 แสนล้านบาท (อันดับที่ 6 ณ ต้นปี 2563)
- BDMS มูลค่าตลาด 3.09 แสนล้านบาท (อันดับที่ 8 ณ ต้นปี 2563)
- GULF มูลค่าตลาด 2.79 แสนล้านบาท (อันดับที่ 10 ณ ต้นปี 2563)
- PTTEP มูลค่าตลาด 2.38 แสนล้านบาท (อันดับที่ 5 ณ ต้นปี 2563)
- KBANK มูลค่าตลาด 2.26 แสนล้านบาท (อันดับที่ 9 ณ ต้นปี 2563)
- SCB มูลค่าตลาด 2.24 แสนล้านบาท (อันดับที่ 7 ณ ต้นปี 2563)
10 อันดับหุ้นที่มูลค่าตลาดลดลงสูงสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2563
- PTT มูลค่าตลาดลดลง 4.99 แสนล้านบาท
- AOT มูลค่าตลาดลดลง 3.07 แสนล้านบาท
- PTTEP มูลค่าตลาดลดลง 2.56 แสนล้านบาท
- SCB มูลค่าตลาดลดลง 1.89 แสนล้านบาท
- PTTGC มูลค่าตลาดลดลง 1.39 แสนล้านบาท
- SCC มูลค่าตลาดลดลง 1.35 แสนล้านบาท
- KBANK มูลค่าตลาดลดลง 1.35 แสนล้านบาท
- ADVANC มูลค่าตลาดลดลง 1.17 แสนล้านบาท
- BDMS มูลค่าตลาดลดลง 1.03 แสนล้านบาท
- BBL มูลค่าตลาดลดลง 1.02 แสนล้านบาท
มีหุ้นจำนวน 559 ตัวที่ราคาล่าสุดต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 200 วัน จากทั้งหมด 602 หุ้น
มีหุ้นจำนวน 366 ตัวที่ราคาหุ้นล่าสุดต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี จากทั้งหมด 602 หุ้น
อ้างอิง: Bloomberg ข้อมูล ณ วันที่ 13 มีนาคม 2563