×

SET ฟื้นตัวจากแรงหนุนข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีนลุล่วง หยุดขาลงต่อเนื่อง 10 วันทำการ

โดย SCB WEALTH
16.12.2019
  • LOADING...
MARKET FOCUS SET

เกิดอะไรขึ้น:

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 จากดัชนีระดับ 1,614.80 จุด สู่ 1,551.82 จุด (เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ลดลงกว่า 63 จุด หรือ 3.9%) ทั้งนี้การปรับตัวของดัชนีลง 10 วันทำการติดต่อกัน ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ลดลงจาก 17.1 สู่ 16.2 ล้านล้านบาท หรือหายไปกว่า 5.8 แสนล้านบาท 

 

โดยปัจจัยกดดันดัชนีนอกจากจะมาจากประเด็นในประเทศแล้ว ยังมาจากประเด็นต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟส 1 ที่ยังไม่มีความชัดเจนและใกล้จะถึงกำหนดเส้นตายที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน มูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 15% ส่งผลให้เกิดแรงขายสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น เข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำและพันธบัตร

 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางปัจจัยลบก็เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกขึ้น โดยช่วงเย็นวันที่ 11 ธันวาคม บริษัทจัดอันดับ S&P Global Ratings (S&P) ได้มีการปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจไทยจากระดับ ‘มีเสถียรภาพ’ (Stable) เป็น ‘เชิงบวก’ (Positive) โดย S&P กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองไทยที่มีเสถียรภาพมากขึ้นหลังการเลือกตั้ง หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับต่ำ ฐานะการเงินระหว่างประเทศที่ยังแข็งแกร่ง และการใช้นโยบายการเงิน-การคลังอย่างเหมาะสม คือสาเหตุในการปรับมุมมองในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและสถานการณ์การเมืองในอนาคต

 

หลังจากนั้นวันที่ 12 ธันวาคม ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า สหรัฐฯ และจีนบรรลุในหลักการข้อตกลงการค้าเฟส 1 แล้ว แม้ในช่วงรอยต่อก่อนจะถึงวันที่ 15 ธันวาคม ซึ่งเป็นกำหนดที่สหรัฐฯ ต้องจัดเก็บภาษีจีนมูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์ ในอัตรา 15% จะมีกระแสข่าวที่สร้างความไม่แน่นอนขึ้นบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วสหรัฐฯ ก็ตัดสินใจยกเว้นการจัดเก็บภาษีสินค้าจีนวันที่ 15 ธันวาคม และลดภาษีที่เก็บไปก่อนหน้ามูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านดอลลาร์ลงเหลือ 7.5% จาก 15% กระบวนการถัดไปคือ การลงนามของตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2563

 

กระทบอย่างไร:

วันที่ 12 ธันวาคม SET Index ปิดที่ 1,563.85 จุด เพิ่มขึ้น 12.03 จุด หรือ 0.8%DoD ระหว่างวันปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดกว่า 17 จุด และปรับขึ้นได้ต่อเนื่องในวันที่ 13 ธันวาคม โดยดัชนีปิดที่ 1,573.91 จุด เพิ่มขึ้น 10.06 จุด หรือ 0.6%DoD ระหว่างวันปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดกว่า 18 จุด รวม 2 วันดัชนีปรับเพิ่มขึ้น 1.4% 

 

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหุ้นวัฏจักร (Cyclical) ซึ่งช่วงก่อนหน้าปรับลดลงด้วยแรงกดดันจากข้อตกลงการค้าที่ยังไม่มีความชัดเจน อาทิ กลุ่มปิโตรเคมี (PETRO) เพิ่มขึ้น 6.4% กลุ่มพลังงาน (ENERG) เพิ่มขึ้น 3.1% กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) เพิ่มขึ้น 2.1% ตรงข้ามกับกลุ่มหุ้นปลอดภัยอย่างกลุ่มกองทุนรวมฯ และกองทรัสต์ฯ (PF&REIT) ลดลง 4.5% สะท้อนถึงตลาดหุ้นเข้าสู่ภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-on) อีกครั้ง

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS ประเมินว่าปัจจัยหนุนดังกล่าวเป็นเพียงปัจจัยขับเคลื่อนระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งตลาดหุ้นค่อนข้างสะท้อนไปอย่างรวดเร็ว โดยมองว่าปัจจัยผลักดันดัชนีจากนี้ยังคงเป็นปัจจัยพื้นฐานของหุ้น โดยเฉพาะแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะฟื้นตัวได้จากไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลของหลายกลุ่มอุตสาหกรรม

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS มีมุมมองเชิงบวกต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เนื่องจากความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยลดน้อยลงไป ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้น รวมทั้งการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนน่าจะจบลงแล้ว ทำให้ตลาดหุ้นมีความเสี่ยงทางลง (Downside risk) ที่ค่อนข้างจำกัด โดยคาดว่าหุ้นวัฏจักรมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ครึ่งปีหลังของปี 2563 มีมุมมองเชิงลบจากความเสี่ยงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายบางอย่าง การสิ้นสุดนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายและกลับไปใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว และการผิดชำระหนี้หุ้นกู้ในจีนอาจส่งผลกระทบทางลบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจจีน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X