เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (11 พฤษภาคม) บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ได้ประกาศโครงการขยายกำลังการผลิตในธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหาร 2 โครงการ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้ารายใหม่ในตลาดต่างประเทศด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 631 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. โครงการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากกระดาษเพิ่มขึ้น 1,615 ล้านชิ้นต่อปี ในประเทศไทยและเวียดนาม โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ใน 3Q64
2. โครงการขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารจากเยื่อธรรมชาติเพิ่มขึ้น 223 ล้านชิ้นต่อปีในประเทศไทย โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ใน 2Q65 ซึ่งบริษัทคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 35% จากกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารทั้งหมดที่มีอยู่ในปัจจุบัน
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (12 พฤษภาคม) ราคาหุ้น SCGP ปรับตัวลง 3.11%DoD สู่ระดับ 54.50 บาท ตามทิศทางตลาดหุ้นไทย (SET Index) ที่ปรับตัวลง 7.08 จุด หรือลดลง 0.45%DoD สู่ระดับ 1,571.85 จุด
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่าโครงการเหล่านี้จะช่วยหนุนให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่สูงกว่า 30% ของรายได้รวมในสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ จากระดับ 16% ใน 1Q64 และ 8% ใน 1Q63
นอกจากนี้การขยายกำลังการผลิตครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรในสายธุรกิจเยื่อและกระดาษ เนื่องจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารให้มาร์จิ้นสูงกว่าธุรกิจเยื่อกระดาษและกระดาษ จากประมาณการของ SCBS โครงการนี้จะช่วยหนุนให้รายได้ของ SCGP เพิ่มขึ้น 1.5 พันล้านบาทต่อปี และกำไรเพิ่มขึ้น 100 ล้านบาทต่อปี
สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในระยะสั้นคือ การเสร็จสิ้นดีล Merger & Partnership (M&P) ที่เกี่ยวกับการเข้าซื้อหุ้นของ Duy Tan ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูปในเวียดนาม โดยคาดว่าจะช่วยหนุนกำไรของ SCGP เพิ่มขึ้นอีก 2-5% (ยังไม่รวมการ Synergy) และการซื้อหุ้น Intan Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกชั้นนำในอินโดนีเซีย ซึ่งดีลนี้คาดว่าจะช่วยหนุนกำไรของ SCGP เพิ่มขึ้นอีก 1-2% (ยังไม่รวม Synergy)
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดแนวโน้มกำไรปี 2564 ของ SCGP จะเติบโต 23%YoY ซึ่งหลักๆ มาจากการขยายกำลังการผลิตในโครงการที่สร้างเสร็จและมีการรับรู้รายได้แล้ว และกำไรที่เติบโตดีขึ้น 7% จากดีล M&P ของ SOVI และ Go-Pak
ในระยะกลาง SCGP ตั้งเป้าเสริมสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำตลาดบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนผ่านทางการขยายกำลังผลิตของบริษัทหรือทำ M&P รวมถึงการทำธุรกิจแบบบูรณาการในแนวตั้งในประเทศไทยและนำไปใช้ในประเทศอื่นๆ เพื่อความสามารถในการเข้าถึงตลาดสู่กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่เติบโตสูง และสร้างสรรค์โซลูชันผลิตภัณฑ์และบริการนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้นให้สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์