เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ. อาร์เอส (RS) มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงิน ภายในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 200 ล้านบาท และจำนวนหุ้นที่จะซื้อไม่เกิน 15 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 1.54% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยจะเป็นการเข้าซื้อใน ตลท. และมีกำหนดระยะเวลาซื้อหุ้นคืน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม ถึง 1 กรกฎาคม 2563
ทั้งนี้ บริษัทแจ้งเหตุผลสำหรับการซื้อหุ้นคืนในครั้งนี้ เพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการส่งสัญญาณที่ดีแก่ผู้ลงทุนตอกย้ำถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทว่ามีสภาพคล่อง และความเชื่อมั่นต่อแผนงาน รวมถึงความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ที่มูลค่าพื้นฐานน่าจะมีมูลค่าที่สูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบันที่ปรับลดลงจากภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวน
โดยผลกระทบภายหลังการซื้อหุ้นคืนที่มีต่อผู้ถือหุ้นคือ ทำให้อัตราส่วนทางการเงินปรับตัวดีขึ้นจากจำนวนหุ้นที่ลดลง โดยจะทำให้อัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) และอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบต่อบริษัท คือ เงินสดและมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นจะลดลง
กระทบอย่างไร:
ราคาหุ้น RS ยังไม่ตอบสนองกับประเด็นดังกล่าวเท่าใดนัก สะท้อนได้จากวันที่ 19 ธันวาคม ราคาหุ้นปิดที่ 12.10 บาท เพิ่มขึ้นเพียง 1.68% จากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 11.90 บาท ส่วนวันถัดมา 20 ธันวาคม ราคาปิดไม่เปลี่ยนแปลงที่ 12.10 บาท และล่าสุดเช้าวันนี้ (23 ธันวาคม) ราคาหุ้นลดลงมาอยู่ที่ 12.00 บาท ขณะที่มูลค่าการซื้อขายไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองการซื้อหุ้นคืนเป็นแค่ปัจจัยบวกเชิงจิตวิทยาต่อราคาหุ้น RS ระยะสั้นเท่านั้น หลังตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 ถึงปัจจุบัน พบว่า ราคาหุ้น RS เคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางขาลงมาโดยตลอด (ราคาหุ้นปรับลง 40% จากจุดสูงสุดที่ 20.30 บาท) เนื่องจากถูกกดดันจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอตามภาวะอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ดังนั้นการที่บอร์ดบริษัทมีมติซื้อหุ้นคืนครั้งนี้จึงเป็นเพียงการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น และทำให้ราคาหุ้นมี Downside ที่ลดลงจากความคาดหวังที่จะมีเม็ดเงินซื้อคืนของบริษัทมาช่วยพยุงราคาหุ้นไว้ในช่วงสั้นนี้
มุมมองระยะยาว:
SCBS มองแนวโน้มผลประกอบการของ RS จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางของราคาหุ้นในระยะยาวมากกว่า ซึ่ง SCBS คาดว่า 4Q62 RS จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น QoQ จากเข้าสู่ฤดูกาลจับจ่ายและการเปิดตัวสินค้าใหม่ อีกทั้งมีช่องทางขายที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจ MPC แต่ยังมีแนวโน้มหดตัว YoY ต่อเป็นไตรมาสที่สาม หลังบริษัทต้องทำโปรโมชันมากขึ้นกว่าปีก่อนเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้าภายใต้กำลังซื้อที่ชะลอตัว
โดยในส่วนของธุรกิจหลักอย่าง MPC แม้จะมีศักยภาพเติบโต หลัง RS มีความพยายามเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายใหม่ โดยจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการหลายราย ซึ่งทำให้มีฐาน Big Data ของลูกค้ามากขึ้น ทำให้นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้า ช่วยให้ทำการตลาดและหาสินค้าใหม่ตอบโจทย์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ธุรกิจยังมีความเสี่ยงหรือ Downside ที่ต้องรอเวลาพิสูจน์ความสำเร็จ ซึ่งนักลงทุนคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม
บมจ. อาร์เอส (RS) ดำเนิน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่
- ธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง (MPC) ดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงาม ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนตัว และเครื่องประดับภายใต้แบรนด์ MAGIQUE, Clear Expert, Revive และ S.O.M
- ธุรกิจสื่อโทรทัศน์และธุรกิจสื่อวิทยุ ได้แก่ ช่อง 8, สบายดีทีวี, ช่อง 2, Series Channel, เพลินทีวี และ FM93.0 MHz ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล
- ธุรกิจเพลงครบวงจร ทั้งในส่วนของการบริหารศิลปิน การบริหารคอนเทนต์เพลง และการวางกลยุทธ์สื่อและการตลาด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า