เกิดอะไรขึ้น:
บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ได้ประกาศแผนลงทุน 5 ปี ด้วยงบลงทุน 2.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยแบ่งเป็นรายจ่ายเงินลงทุน 61% และรายจ่ายดำเนินงาน 39% ซึ่งงบดังกล่าวสูงกว่าแผนเดิมอยู่ 15% เนื่องจากบริษัทตัดสินใจรวมการพัฒนาโครงการในมาเลเซียเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการ Sarawak SK410B แหล่ง Lang Lebah เข้ามา โดยโครงการนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนปริมาณการขายในอนาคต
ทั้งนี้ PTTEP เผยว่า ทรัพยากรปิโตรเลียมของแหล่งนี้มีขนาดใหญ่กว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า ดังนั้นบริษัทจึงปรับแผนการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 600-800mmfcd สู่ 800-1,000mmcfd ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัทที่จะเพิ่มสัดส่วนก๊าซในพอร์ตในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานทั่วโลก
นอกจากนี้ PTTEP ยังตั้งงบลงทุนจำนวน 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปี เพื่อลงทุนในธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจ E&P ด้วย เช่น โครงการโรงไฟฟ้า Gas to Power ในเมียนมา พลังงานหมุนเวียน และธุรกิจใหม่ๆ (การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บหรือนำไปใช้ประโยชน์) ซึ่งการลงทุนสำหรับธุรกิจเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจน บริษัทจึงไม่ได้นำมารวมไว้ในแผนลงทุนหลัก
PTTEP คาดว่าปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้นที่ CAGR 6% ในระหว่างปี 2564-2569 โดยได้มีการปรับเป้าปริมาณการขายสำหรับปี 2565 และ 2568 เพิ่มขึ้น 2-7% จากแผนลงทุน 5 ปีเดิม เพื่อรวมโครงการ Oman Block 61 ที่ซื้อมาช่วงต้นปี 2564 และเป้าปริมาณการขายมีโอกาสถูกปรับขึ้นได้อีกหากโครงการ G1/G6 ดำเนินการผลิตได้ตามสัญญา PSC ฉบับใหม่ได้ตามแผน
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาราคาหุ้น PTTEP ปรับตัวลดลง 0.8%MoM สู่ระดับ 118.00 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ธันวาคม 2564)
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่าแนวโน้มกำไรปกติ 4Q64 ของ PTTEP จะสามารถเติบโตได้ทั้ง YoY และ QoQ เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น และปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากโครงการที่ซื้อมาใหม่และไม่ได้ลดลง QoQ มากอย่างที่คาดไว้
มุมมองระยะยาว:
SCBS มีมุมมองเชิงบวกต่อแผนลงทุน 5 ปีของ PTTEP ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณการขายในอนาคตปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ทิศทางราคาน้ำมันมีแนวโน้มดีขึ้นในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า เมื่ออุปสงค์ฟื้นตัวหลังจากการสถานการณ์โควิดทั่วโลกคลี่คลายลง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนต่อทิศทางผลการดำเนินงานในระยะยาวของ PTTEP
แม้งบลงทุนของ PTTEP จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแผนลงทุน 5 ปี แต่ทาง PTTEP มั่นใจว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและความสามารถในการก่อหนี้จะมากพอที่จะสนับสนุนการลงทุนตามแผนที่วางไว้ โดยปัจจุบันอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของ PTTEP อยู่ที่ 0.3 เท่า ณ สิ้น 3Q64 แต่ SCBS คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในระยะ 5 ปีข้างหน้าหากไม่มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ
ทั้งนี้ต้องติดตามการค้นพบแหล่งก๊าซเพิ่ม ซึ่งหลักๆ มาจากโครงการในมาเลเซีย ซึ่งจะเป็น Upside ต่อปริมาณการขายในอนาคต