เกิดอะไรขึ้น:
วันนี้ (26 พฤศจิกายน) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการลดภาระซื้อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ผ่านโครงการ ‘บ้านดีมีดาวน์’ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินลดภาระการดาวน์จำนวน 5 หมื่นบาทต่อราย จำนวน 1 แสนรายแรก โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1.2 ล้านบาทต่อปี และเป็นผู้ที่อยู่ในระบบฐานภาษีอากรของกรมสรรพากร โดยจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 ถึง 31 มีนาคม 2563
ทั้งนี้ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า มาตรการนี้คาดจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปีนี้ฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงสร้างแรงส่ง (Momentum) ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2563
กระทบอย่างไร:
ภายหลังจากมีการประกาศมาตรการดังกล่าว พบว่า วันนี้ราคาหุ้นกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวานนี้ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่หนาแน่น เช่น
- บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) (AP) ราคาปิดวันนี้ที่ 6.6 บาท เพิ่มขึ้น 5.30% DoD
- บมจ.ศุภาลัย (SPALI) ราคาปิดวันนี้ที่ 17.80 เพิ่มขึ้น 4.09% DoD
- บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) ราคาปิดวันนี้ที่ 0.82 บาท เพิ่มขึ้น 3.8% DoD
- บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ราคาปิดวันนี้ที่ 2.94 บาท เพิ่มขึ้น 3.52% DoD
- บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) ราคาปิดวันนี้ที่ 4.78 บาท เพิ่มขึ้น 2.14% DoD
- บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ (QH) ราคาปิดวันนี้ที่ 2.66 บาท เพิ่มขึ้น 1.53% DoD
- บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ (ORI) ราคาปิดวันนี้ที่ 7.10 บาท เพิ่มขึ้น 0.71% DoD และ
- บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) ราคาปิดวันนี้ที่ 15.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.64% DoD
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านตัดสินใจซื้อในตอนนี้ ผลักดันให้ความต้องการซื้อเลื่อนขึ้นมาเป็นเดือนธันวาคม 2562 ถึง มีนาคม 2563 โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยระดับต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งจะเอื้อต่อผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่มีสต๊อกผลิตภัณฑ์ระดับล่างสูง ดังนั้นมาตรการนี้จึงเป็น Sentiment เชิงบวกต่อราคาหุ้นกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยในระยะสั้น
มุมมองระยะยาว:
SCBS มีมุมมองว่า ระยะยาวมาตรการดังกล่าวไม่น่าจะช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อใหม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย เนื่องจากตลาดที่อยู่อาศัยยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากมาตรการลดเพดานเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) รวมทั้งมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (DSR) ซึ่งส่งผลให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้ซื้ออยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวได้มากนัก เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ บางรายต้องเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป หรือมีความระมัดระวังมากขึ้น โดยเลือกเปิดตัวเฉพาะโครงการที่คาดว่าได้กระแสตอบรับดี
ข้อมูลพื้นฐาน:
ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อป้องการเก็งกำไร และการเกิดอุปสงค์เทียมของอสังหาริมทรัพย์ก่อนจะเกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ โดย ธปท. ได้กำหนดเกณฑ์การวางเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยดังนี้
สำหรับที่อยู่อาศัยมูลค่าต่ำกว่า 10 ล้านบาท สัญญากู้ที่ 1ต้องวางเงินดาวน์ 0-10% สัญญากู้ที่ 2 ต้องวางเงินดาวน์ 10-20% และสัญญากู้ที่ 3 ขึ้นไปต้องวางเงินดาวน์ 30%
สำหรับที่อยู่อาศัยมูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป สัญญาที่ 1-2 ต้องวางเงินดาวน์ 20% และสัญญาที่ 3 ขึ้นไปต้องวางเงินดาวน์ 30%