เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 12-19 มิถุนายน 2567 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ สำหรับปี 2567-2580 โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้:
- การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า: คาดว่าความต้องการไฟฟ้าในปี 2567-2580 จะเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 3.5% ต่อปี โดยได้แรงหนุนจาก GDP ที่เติบโตเฉลี่ย 3.1% ต่อปี รวมถึงความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รถไฟความเร็วสูง และโครงการ Green Data Center ที่เพิ่มขึ้น
- เน้นการจัดหาไฟฟ้า: สนพ. วางแผนให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยตั้งเป้าให้แหล่งพลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 51% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2580 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ตั้งเป้าผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพียง 36% ภายในปี 2580
นอกจากนี้ สนพ. ยังตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ สปป.ลาว เป็น 15% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2580 จากเดิม 9% ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด/สีเขียว และแก้ไขปัญหาอุปทานก๊าซที่ลดลง รวมถึงปริมาณสำรองที่ลดลงในอ่าวไทย สนพ. จึงวางแผนที่จะลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยคาดว่าจะลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลงจาก 53% เหลือ 41% ภายในปี 2580
- การกำหนดเพดานอัตราค่าไฟฟ้า: สนพ. ตั้งเป้ากำหนดเพดานอัตราค่าไฟฟ้าไม่เกิน 4 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่คาดการณ์สำหรับแผน PDP 2024 ฉบับใหม่อยู่ที่ ~3.8704 บาทต่อหน่วย ในปี 2567-2580 ซึ่งต่ำกว่า 3.9479 บาทต่อหน่วยที่คาดการณ์ไว้ในแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1
- เกณฑ์โอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE): เพื่อวัตถุประสงค์ด้านความน่าเชื่อถือ แผน PDP 2024 ฉบับใหม่จึงใช้เกณฑ์ LOLE แทนเกณฑ์กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) โดย LOLE ไม่ควรเกิน 0.7 วันต่อปี หรือ 17 ชั่วโมงจาก 8,760 ชั่วโมง
InnovestX Research คาดว่าแผน PDP 2024 ฉบับใหม่จะส่งผลดีต่อกลุ่มสาธารณูปโภคไทยในระยะกลางถึงระยะยาว แผนฉบับใหม่นี้มุ่งเน้นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศไทย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีความเสี่ยงต่ำกว่า ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม และติดตามได้อย่างใกล้ชิดมากกว่าโครงการในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอาจผิดหวังกับประเด็นสำคัญสองประเด็น ได้แก่: 1. ไทม์ไลน์ที่นานกว่าคาดสำหรับการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยกำลังการผลิตล็อตใหญ่ชุดแรกจะเริ่มดำเนินงานได้ในปี 2575
และ 2. สัดส่วนการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้นในระยะยาว ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนก๊าซสำหรับโรงไฟฟ้า SPP ที่ขายไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันต่อมาร์จิ้น ราคา LNG ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงสู่ 12.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านหน่วยความร้อนบริติช (mmBTU) เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าก๊าซ LNG ราว 20% ของก๊าซทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค (SETENERG) ปรับลง 7.39%, GULF ปรับลง 5.45% ขณะที่ SET Index ปรับลง 5.09%
กลยุทธ์และคำแนะนำการลงทุน:
InnovestX Research เลือก GULF เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มสาธารณูปโภค โดยคงคำแนะนำ Tactical Call ระยะ 3 เดือนไว้ที่ Outperform ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่บริษัทจะเป็นผู้ชนะการประมูลทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (35GW ในแผน PDP 2024) และโครงการทดแทนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (2.6GW) ที่กำลังจะมีขึ้น และคาดว่ากำไรของ GULF จะแข็งแกร่งใน 2Q67 จากการรับรู้รายได้จากโครงการใหม่ GPD และ HKP เต็มไตรมาส
สำหรับ GPSC และ BGRIM คงคำแนะนำ Neutral แม้คาดว่ากำไร 2Q67 จะปรับตัวดีขึ้นจากการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ อย่างไรก็ตาม มี Sentiment เชิงลบเกี่ยวกับแนวโน้มที่ต้นทุนก๊าซจะปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 3Q67 ซึ่งเป็นผลมาจากราคา LNG ที่สูงในปัจจุบัน
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ต้นทุนก๊าซสูงกว่าคาด ปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญคือ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การบริหารจัดการพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง และผลกระทบต่อชุมชนใกล้เคียง