×

บันทึกเหตุการณ์สงครามราคาน้ำมัน ถล่มตลาดหุ้นไทย ลบ 108 จุด ทะลุจุดต่ำสุดเดิมในรอบ 5 ปี

โดย SCB WEALTH
09.03.2020
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

การประชุม (Organization of the Petroleum Exporting Countries: OPEC) เมื่อวันที่ 5-6 มีนาคม 2563 สร้างความผิดหวังต่อตลาดการเงินอย่างมาก หลังจากที่รัสเซียได้ปฏิเสธการลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มตามที่ทางกลุ่ม OPEC เสนอ 

 

โดยรัสเซียให้เหตุผลว่าการลดกำลังการผลิตเพิ่มจะทำให้สหรัฐฯ เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดน้ำมันดิบ ซึ่งทำให้รัสเซียสูญเสียรายได้ จึงทำให้การประชุม OPEC ในครั้งนี้ล้มเหลว และไม่ได้มีการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มตามที่ตลาดคาดหวังไว้

 

เช้าวันอาทิตย์ (8 มีนาคม 2563) ซาอุดีอาระเบียสร้างเซอร์ไพรส์ต่อตลาดอย่างมาก โดยประกาศว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ พร้อมประกาศลดราคาน้ำมันดิบทุกประเภท ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ตลาดกังวลว่าจะเกิดอุปทานล้นตลาดของน้ำมันดิบ ท่ามกลางอุปสงค์ที่ยังคงอ่อนแอจากผลกระทบของโควิด-19 

 

จึงเป็นเหตุให้วันนี้ (9 มีนาคม) ราคาน้ำมันดิบ (WTI) ดิ่งลงอย่างรุนแรงทำจุดต่ำสุดที่ 27.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับลง 34.26% จากระดับ 41.53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในวันก่อนหน้า

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ SET Index ปรับตัวลงแรง โดยสิ้นวันปิดตลาดที่ระดับ 1,255.94 จุด ลดลง 108.63 จุด หรือลดลง 7.96% DoD ทำจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยหุ้นหลักที่กดดันต่อดัชนีในวันนี้ คือ หุ้นกลุ่มพลังงานที่มีผลประกอบการอิงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบ ได้แก่ 

– บมจ.ปตท. (PTT) ลดลง 25.33% DoD มีผลต่อดัชนี -25.22 จุด 

– บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ลดลง 29.81% DoD มีผลต่อดัชนี -11.72 จุด

– บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ลดลง 26.63% DoD มีผลต่อดัชนี -4.71 จุด

– บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ลดลง 21.56% DoD มีผลต่อดัชนี -1.70 จุด

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่าสงครามราคาน้ำมันจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อมีการเจรจากันระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเคยหั่นราคาน้ำมันดิบเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเมื่อปี 2554 ซึ่งครั้งนั้นใช้เวลา 1.5 ปีก่อนที่ราคาน้ำมันจะฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ 

 

โดย SCBS เชื่อว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้สงครามราคาน้ำมันเกิดขึ้น และจะใช้เวลาที่สั้นลงจนกระทั่งกลุ่ม OPEC และพันธมิตรสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้

 

ทั้งนี้ ต้นทุนเงินสดของซาอุดีอาระเบียอยู่ที่ประมาณ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดังนั้นซาอุดีอาระเบียจะสามารถรับมือกับราคาน้ำมันในระดับต่ำได้นานกว่าผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ แม้ซาอุดีอาระเบียจะต้องรับภาระขาดดุลงบประมาณการคลัง (ซึ่งอิงกับราคาน้ำมันที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การหั่นราคาน้ำมันดิบลงยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แย่ลงของ Saudi Aramco ซึ่งจดทะเบียนไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

 

SCBS คาดว่าผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานต้นน้ำอย่าง PTTEP จะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากมีราคาขายสินค้าที่ต่ำลง ขณะที่ต้นทุนยังเท่าเดิม ส่วนผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันจะได้รับผลกระทบระยะสั้นจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน สำหรับผู้ประกอบการปิโตรเคมีได้รับผลกระทบเชิงลบเช่นกันจากการขาดทุนสินค้าคงคลัง

 

สำหรับหุ้นที่คาดจะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำกัด ได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้างที่มีพลังงานอย่างน้ำมันเป็นต้นทุนหลักในการผลิตอย่าง บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ (TASCO) และกลุ่มค้าปลีกที่มีต้นทุนน้ำมันสำหรับการขนส่งสินค้า รวมถึงค่าไฟฟ้าที่จะปรับลงตามค่า FT ที่ลดลงตามราคาน้ำมัน ได้แก่ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL)

 

มุมมองระยะยาว:

สงครามราคาน้ำมันในครั้งนี้เป็นความเสี่ยงครั้งใหม่อย่างไม่คาดคิดของตลาดการเงินทั่วโลก และยังทำนายได้ยากว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อไร ดังนั้นนักลงทุนจึงควรติดตามการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงการผลิตน้ำมันระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซียอย่างใกล้ชิดต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม:

หมายเหตุ % DoD คือ % การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับวันทำการก่อนหน้า

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising