เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวานนี้ (17 พฤษภาคม) บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) รายงานกำไรสุทธิ 1Q64 ที่ 15 ล้านบาท ลดลง 25%YoY และลดลง 56%QoQ หากตัดรายการพิเศษจากอัตราแลกเปลี่ยนออกไป กำไรปกติ 1Q64 จะอยู่ที่ 6 ล้านบาท ลดลง 59%YoY และลดลง 85%QoQ หากเทียบ YoY รายได้ 1Q64 เติบโตก้าวกระโดด 78%YoY จากการรวมผลการดำเนินงานของ City Food
รายได้ที่สูงขึ้นเกิดจากธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช และรายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ แต่ไม่อาจชดเชยปัจจัยฉุดรั้งจากค่าเสื่อมราคาที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายภาษีที่สูงขึ้น และส่วนแบ่งขาดทุนที่สูงขึ้น จึงทำให้กำไรปกติ 1Q64 ลดลง YoY สำหรับกำไรปกติที่ลดลง QoQ ถูกฉุดรั้งจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายภาษีที่สูงขึ้นจากการลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
สำหรับบริษัทร่วมทุน P&B ในสหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชสร้างส่วนแบ่งขาดทุนให้ NRF จำนวน 10 ล้านบาทใน 1Q64 เทียบกับขาดทุน 6 ล้านบาทใน 4Q63 โดยส่วนแบ่งขาดทุนที่เพิ่มขึ้นมากจากความล่าช้าในการผลิตของโรงงานแห่งใหม่เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทวีปยุโรป
ทั้งนี้บริษัทร่วม P&B กำลังรอการอนุมัติใบอนุญาตมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารจาก British Retail Consortium (BRC) ซึ่ง NRF คาดว่าโรงงานแห่งใหม่จะเริ่มการผลิตได้ใน 2Q64 และได้ใบอนุญาตจาก BRC ใน 3Q64
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (18 พฤษภาคม) ราคาหุ้น NRF ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น 13.84%DoD สู่ระดับ 9.05 บาท ขานรับประเด็นบวกหลังจากบริษัทมีการเปิดเผยแผนการลงทุน 3 โครงการ ขณะที่ SET Index ปรับตัวขึ้น 17.64 จุด หรือเพิ่มขึ้น 1.14%DoD สู่ระดับ 1,566.80 จุด
มุมมองระยะสั้น:
ด้านแนวโน้มกำไรปกติ 2Q64 จะปรับตัวดีขึ้น YoY และ QoQ โดยได้รับการสนับสนุนจากส่วนแบ่งขาดทุนที่ลดลงจากบริษัทร่วมทุน P&B และการกลับมาขนส่งสินค้าสำหรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารไทยและอาหารท้องถิ่น (Ethnic Food) ที่ถูกเลื่อนออกไปเป็น 2Q-3Q64 เนื่องจากปัญหาขาดแคลนตู้สินค้าในเดือนเมษายน รวมถึงกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารไทยและอาหารท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น 15%
นอกจากนี้บริษัทร่วมทุน Boosted NRF USA ซึ่ง NRF ถือหุ้น 55% กำลังพิจารณาเข้าซื้อแบรนด์ 4-5 แบรนด์เพิ่มเติมจากการเข้าซื้อสินทรัพย์ภายใต้แบรนด์ SOL Trading โดยผู้บริหารเชื่อมั่นว่าการเช้าซื้อแบรนด์เพิ่มเติมจะช่วยหนุนให้รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นผ่านทางประโยชน์ที่ได้รับจากการมีสัดส่วนต้นทุนคงที่สูง นอกจากนี้ Wicked Food ซึ่ง NRF ถือหุ้น 1.6% วางแผนใช้ NRF เป็นผู้ผลิต OEM ผลิตภัณฑ์ของบริษัท และ NRF มีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Wicked Food เพื่อพัฒนาแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืชในอนาคต
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดกำไรปี 2564 จะเติบโต 98%YoY สู่ระดับ 245 ล้านบาท และเติบโต 37%YoY สู่ระดับ 336 ล้านบาทในปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุน 5 ประการ
- การขยายกำลังการผลิตกลุ่ม Ethnic Food เพิ่มขึ้น 95%YoY ในปี 2564
- รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เส้นบุกและน้ำเต้าหู้ตราชินโป
- การรับรู้รายได้โรงงานผลิตอาหารโปรตีนแห่งใหม่ในปี 2565
- รายได้เพิ่มเติมจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ภายใต้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน
- ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม (P&B) ในสหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช
ในระยะยาวผลประกอบการของ NRF ยังมีแนวโน้มเติบโตตามกระแสเมกะเทรนด์การบริโภคอาหารโปรตีนจากพืชที่เริ่มได้รับความนิยมในต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ดี ธุรกิจนี้ยังมีความเสี่ยงจากการยอมรับของผู้บริโภคต่ออาหารโปรตีนจากพืชที่คาดการณ์ได้ยาก และความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านอาหารในแต่ละประเทศ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า