เกิดอะไรขึ้น:
SCBS ได้จัดทำบทวิเคราะห์พรีวิวผลประกอบการ 2Q22 ของ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ซึ่งคาดว่าจะรายงานผลประกอบการวันที่ 11 สิงหาคม 2022
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น MINT ปรับตัวลดลง 1.45%MoM อยู่ที่ระดับ 34.00 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวลดลง 4.84%MoM อยู่ที่ระดับ 1,552.97 จุด
พรีวิวผลประกอบการ 2Q22:
SCBS คาดว่า 2Q22 จะเป็นไตรมาสที่ดีสำหรับ MINT โดยคาดการณ์กำไรปกติที่ 1.4 พันล้านบาท ฟื้นตัวจากขาดทุนปกติ 3.4 พันล้านบาทใน 2Q21 และขาดทุนปกติ 3.6 พันล้านบาทใน 1Q22 โดยได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจโรงแรมในยุโรปภายใต้การดำเนินงานของ NH Hotel Group (NHH) ที่แข็งแกร่งขึ้น
สำหรับกำไรปกติ 2Q22 ของ NHH คาดการณ์ที่ 43 ล้านยูโร (ราว 1.5 พันล้านบาท) ฟื้นตัวจากขาดทุนใน 2Q21 และ 1Q22 โดยได้แรงหนุนจาก RevPAR ที่ฟื้นตัวขึ้น (เพิ่มขึ้น 348%YoY และ 127%QoQ ใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิดโควิด) ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดสู่ 68% เพราะไตรมาส 2 เป็นช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวในยุโรป แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด ส่วนอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยก็แข็งแกร่งขึ้นและสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดแล้ว
สำหรับธุรกิจร้านอาหาร คาดว่ายอดขายของสาขาเดิม (SSS) จะเติบโตที่ 5% ใน 2Q22 (เทียบกับเติบโต 4.2% ใน 1Q22) เนื่องจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นในประเทศไทยและออสเตรเลีย จะช่วยชดเชยการดำเนินงานที่อ่อนแอในจีนสืบเนื่องมาจากการล็อกดาวน์
นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน ทริสเรทติ้งได้ปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของ MINT เป็น ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ จาก ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ ซึ่งสะท้อนถึงการคลายความกังวลจากผลกระทบของโควิด และความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานของ MINT จะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า
ซึ่งสอดคล้องกับมุมมอง SCBS ที่ว่า อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนของ MINT จะลดลงจากจุดสูงสุดที่ 1.79 เท่าในปี 2020 สู่ 1.59 เท่าในปี 2022 และ 1.50 เท่าในปี 2023 ต่ำกว่าเพดานของเงื่อนไขการกู้ยืม (Debt Covenant) ที่ 1.75 เท่า หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยประมาณ 52% ของ MINT มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยจากการวิเคราะห์ความอ่อนไหวบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 1% จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำไรปี 2023 ของ MINT ราว 9%
แนวโน้มผลประกอบการปี 2022:
SCBS ประมาณการผลประกอบการปี 2022 โดยคาดการณ์ขาดทุนปกติที่ 2.9 พันล้านบาท (ซึ่งจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากขาดทุนปกติ 9.3 พันล้านบาท ในปี 2021) สะท้อนว่าผลประกอบการจะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 2H22
โดยได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจโรงแรมที่ปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในยุโรป เพราะมีความต้องการเดินทางที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (Pent Up Demand) และการดำเนินงานที่ดีขึ้นในประเทศไทยหลังจากไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง รวมถึงธุรกิจร้านอาหารที่ดีขึ้นในประเทศไทยจากฐานต่ำใน 2Q-3Q21 ซึ่งได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด และในประเทศจีนจากการเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ
อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาในปี 2022 คือ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจะส่งผลกระทบต่อความต้องการเดินทางและต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น ขณะที่ MINT เปิดเผยว่าบริษัทมีต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง ซึ่งจะสามารถสนับสนุนการดำเนินงานใน 2Q22 และบริษัทได้ลดผลกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารด้วยการจัดเมนูใหม่ ปรับราคาเพิ่มขึ้น และปรับปรุงประสิทธิภาพของพนักงาน