เกิดอะไรขึ้น:
วันที่ 26 กันยายน 2562 อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญแก่การส่งเสริมนวัตกรรมและศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ตลอดจนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอันก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศ
โดยปีที่ผ่านมามีการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 3.42 ล้านครั้ง สร้างรายได้ให้แก่ประเทศกว่า 28,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.02%YoY ตลอดจนประเทศไทยยังมีสถานบริการสุขภาพที่ผ่านมาตรฐาน JCI มากที่สุดในอาเซียนกว่า 68 แห่ง พร้อมทั้งได้กำหนดให้ในปี 2563 ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางสุขภาพของโลก (Medical Hub) และติด Top 10 ของโลกในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยทำงานร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ทั้งนี้ในที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบใน 3 หลักการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อันได้แก่
1) ให้เพิ่มสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เข้าในรายชื่อประเทศการเข้ามารักษาในไทยโดยไม่ต้องทำวีซ่าระยะเวลา 90 วัน สำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตามรวมไม่เกิน 4 คน
2) ให้เพิ่มประเทศเกาหลีใต้ เบลเยียม ออสเตรีย และนิวซีแลนด์ เข้าในรายชื่อประเทศที่สามารถขอวีซ่าแบบพำนักระยะยาว 10 ปี (Long Stay Visa)
3) เพิ่มประเภทการขอวีซ่าแบบใหม่เป็นประเภทการรักษาพยาบาล (Medical Visa) ชนิดใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง (Multiple Entry) คราวละไม่เกิน 1 ปี
โดยกระบวนการต่อไปคือ นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบหลักการดังกล่าวต่อไป
กระทบอย่างไร:
ประเด็นข้างต้นถือเป็นปัจจัยบวกกระตุ้นราคาหุ้นในกลุ่มการแพทย์ในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา โดย
- BCH: วันที่ 27 กันยายน ราคาหุ้นปิดที่ 15.70 บาท เพิ่มขึ้น 2.61%DoD และวันนี้ (30 กันยายน) ปรับขึ้นต่อไปทำจุดสูงสุดที่ 15.90 บาท เพิ่มขึ้น 1.27%DoD
- BDMS: วันที่ 27 กันยายน ราคาหุ้นปิดที่ 24.10 บาท เพิ่มขึ้น 0.42%DoD และวันนี้ (30 กันยายน) ปรับขึ้นต่อไปทำจุดสูงสุดที่ 24.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.83%DoD
- BH: วันที่ 27 กันยายน ราคาหุ้นปิดที่ 128 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า แต่วันนี้ (30 กันยายน) ปรับขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 130 บาท เพิ่มขึ้น 1.56%DoD
- CHG: วันที่ 27 กันยายน ราคาหุ้นปิดที่ 2.42 บาท เพิ่มขึ้น 1.68%DoD และวันนี้ (30 กันยายน) ปรับขึ้นต่อไปทำจุดสูงสุดที่ 2.46 บาท เพิ่มขึ้น 1.65%DoD
มุมมองระยะสั้น:
SCBS ประเมินว่า หาก ครม. พิจารณาอนุมัติให้สหรัฐฯ และญี่ปุ่นเข้ารักษาในไทยได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า และเพิ่มประเทศขอวีซ่าแบบอยู่ยาว 10 ปีได้ รวมทั้งเพิ่มวีซ่าแบบใหม่ Medical Visa ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมนำเสนอดังหลักการข้างต้น จะเป็น Sentiment เชิงบวกต่อราคาหุ้นกลุ่มการแพทย์ในช่วงสั้นนี้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่มีฐานผู้ป่วยเป็นลูกค้าชาวต่างชาติ อาทิ BH, BDMS, BCH, CHG (โดยช่วงครึ่งแรกของปีนี้ BH, BDMS, BCH, CHG มีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติราว 65%, 30%, 10% และ 4% ตามลำดับ) เพราะคาดจะช่วยอำนวยความสะดวกและทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติตัดสินใจเดินทางเข้ามาใช้บริการทางแพทย์ได้มากขึ้น เป็นผลดีต่อผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มการแพทย์ในระยะยาวต่อไป
มุมมองระยะยาว:
แม้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ในอาเซียน เนื่องจากมีจุดแข็งทั้งด้านคุณภาพการรักษาที่มีชื่อเสียงดีและได้มาตรฐานระดับสากล การให้บริการดูแลผู้ป่วยที่มี Service Mind การมีอัตราค่ารักษาที่มีความเหมาะสม รวมทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายเป็นที่รู้จักกันดี ซึ่งน่าจะดึงดูดผู้ป่วยต่างชาติให้ตัดสินใจเดินทางมารักษาในไทยได้มากขึ้น ช่วยหนุนให้ผลการดำเนินงานของหุ้นกลุ่มการแพทย์ยังเติบโตสดใสในระยะยาว
แต่อย่างไรก็ดี SCBS มองกลุ่มการแพทย์ยังมีความเสี่ยงต้องติดตามทั้งจากความคืบหน้าของรัฐบาลไทยในการขับเคลื่อนนโยบาย Medical Hub อย่างจริงจัง รวมทั้งนโยบาย Medical Hub ของประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน และทิศทางการแข็งของค่าเงินบาท ซึ่งล้วนแล้วแต่อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจมารักษาในไทยของผู้ป่วยต่างชาติ
ข้อมูลพื้นฐาน:
- บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลในไทยและกัมพูชารวม 48 แห่ง ภายใต้ชื่อโรงพยาบาล 6 กลุ่ม คือ 1. โรงพยาบาลกรุงเทพ 2. โรงพยาบาลสมิติเวช 3. โรงพยาบาลบีเอ็นเอช 4. โรงพยาบาลพญาไท 5. โรงพยาบาลเปาโล 6. โรงพยาบาลรอยัล
- บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเดียวภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
- บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาล 12 แห่ง ภายใต้ 4 กลุ่มโรงพยาบาล คือ 1. โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล 2. กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล 3. กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ 4. กลุ่มโรงพยาบาลการุญเวช
- บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลรวม 9 แห่ง ภายใต้ชื่อ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ และโรงพยาบาลรวมแพทย์
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์