เกิดอะไรขึ้น:
วานนี้ (14 มกราคม) ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมมีมติเห็นชอบปรับขึ้นอัตราค่าบริการทางการแพทย์ ปี 2563 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3,959 บาทต่อคนต่อปี จากเดิม 3,700 บาทต่อคนต่อปี โดยรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงค่าบริการทางการแพทย์ประกอบด้วย
1. ค่าบริการทางการแพทย์ที่เหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญา แบ่งเป็น 3 รายการ
1.1 ค่าบริการเหมาจ่ายรายหัว ปรับขึ้นเป็น 1,640 บาทต่อคนต่อปี จากเดิม 1,500 บาทต่อคนต่อปี
1.2 โรคที่มีภาระเสี่ยงทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ปรับขึ้นเป็น 453 บาทต่อคนต่อปี จากเดิม 447 บาทต่อคนต่อปี
1.3 ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) ปรับขึ้นเป็น 746 บาทต่อคนต่อปี จากเดิม 640 บาทต่อคนต่อปี
2. ค่าบริการนอกเหนือการเหมาจ่าย ปรับขึ้นเป็น 1,120 บาทต่อคนต่อปี จากเดิม 1,113 บาทต่อคนต่อปี
การปรับขึ้นค่าบริการทางการแพทย์ในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากสำนักงานประกันสังคมมีผู้ประกันตนที่สูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงขึ้น รวมถึงสภาวะเงินเฟ้อ ค่าแรงที่สูงขึ้น และการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนรักษาเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้โรงพยาบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คณะกรรมการประกันสังคมจึงมีมติปรับขึ้นค่าบริการทางการแพทย์ดังกล่าว
กระทบอย่างไร:
วันนี้ (15 มกราคม) ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลปรับขึ้นโดดเด่นในช่วงเช้า นำโดย
- บมจ.ศรีวิชัยเวชวิวัฒน์ (VIH) เพิ่มขึ้น 5.98% DoD
- บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) เพิ่มขึ้น 2.5% DoD
- บมจ.โรงพยาบาลราชธานี (RJH) เพิ่มขึ้น 1.21% DoD
- บมจ.โรงพยาบาล ลาดพร้าว (LPH) เพิ่มขึ้น 0.83% DoD
- บมจ.โรงพยาบาลเอกชล (AHC) เพิ่มขึ้น 0% DoD
- บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) เพิ่มขึ้น 0.59% DoD
- บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) ราคาเปิดในช่วงเช้าเพิ่มขึ้น 2.66% DoD และเริ่มย่อตัวลงมาเท่ากับราคาปิดวันก่อนหน้าในช่วงพักการซื้อขายช่วงเช้า
มุมมองระยะสั้น:
SCBS มองว่าประเด็นนี้เป็นปัจจัยหนุนให้ราคาหุ้นโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้มาจากการบริการผู้ป่วยประกันสังคมสูงปรับตัวขึ้น รวมถึงทำให้ตลาดคลายความกังวลต่อหุ้นกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น หลังก่อนหน้านี้ (6 มกราคม) สำนักงานประกันสังคมส่งจดหมายถึงโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมว่าได้ปรับลดค่ารักษาผู้ป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง (RW>2) ในไตรมาส 4/62 ลงสู่ 7,100 บาท/RW ซึ่งต่ำกว่าที่ประกาศใช้อย่างมากที่ 12,800 บาท/RW เนื่องด้วยงบประมาณรวมที่ไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลปรับตัวลงแรง
มุมมองระยะยาว:
SCBS คาดว่าการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์ประกันสังคมจะเป็นปัจจัยหนุนต่อทิศทางผลการดำเนินงานปี 2563 ของหุ้นโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนรายได้มาจากการบริการประกันสังคมสูง เช่น BCH และ CHG ซึ่งมีรายได้ 1 ใน 3 มาจากการบริการผู้ป่วยประกันสังคม และ RJH ซึ่งมีรายได้จากการบริการผู้ป่วยประกันสังคมประมาณ 40%
ทั้งนี้ SCBS ประเมินว่าการเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์ของประกันสังคมครั้งนี้จะช่วยให้ประมาณการกำไรปี 2563 ของ BCH, CHG และ RJH เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 4-5%
ข้อมูลเพิ่มเติม
ค่าน้ำหนักสัมพันธ์ (Relative Weight – RW) คือค่าเฉลี่ยของการใช้ทรัพยากรในการรักษาผู้ป่วยตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnostic Related Group)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์