×

MAKRO – พรีวิว 1Q66 แนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

07.04.2023
  • LOADING...
Makro

เกิดอะไรขึ้น:

InnovestX Research ได้จัดทำบทวิเคราะห์พรีวิวผลประกอบการ 1Q66 ของ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ซึ่งคาดว่าจะประกาศผลประกอบการวันที่ 8 พฤษภาคม 2566

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น MAKRO ปรับลดลง 3.77%MoM อยู่ที่ระดับ 38.25 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 2.22%MoM อยู่ที่ระดับ 1,571.13 จุด 

 

พรีวิวผลประกอบการ 1Q66:

InnovestX Research คาดว่ากำไรสุทธิ 1Q66 อยู่ที่ 2.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% YoY แต่ลดลง 15%QoQ หากไม่รวมขาดทุนพิเศษจากค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้คืนก่อนกำหนดในธุรกิจ B2C จำนวน 260 ล้านบาท ประเมินกำไรปกติได้ที่ 2.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%YoY เนื่องจากยอดขายที่ดีขึ้นทั้งจากธุรกิจ B2B และธุรกิจ B2C จะมากเกินพอชดเชยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่ลดลง 12%QoQ จากปัจจัยฤดูกาล

 

โดยธุรกิจ B2B (ธุรกิจค้าส่ง, MAKRO) ประเมินกำไรปกติที่ 2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%YoY แต่ลดลง 16%QoQ กำไรปกติที่เพิ่มขึ้น YoY จะได้รับการสนับสนุนจากยอดขายที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชย EBIT Margin ที่ลดลง ซึ่งประเมินได้ว่ายอดขายจะเติบโต 15%YoY หลักๆ ได้แรงหนุนจาก SSS ที่เติบโต 12%YoY และการขยายสาขา EBIT Margin มีแนวโน้มที่จะลดลง 10 bps YoY เนื่องจากยอดขายสินค้ากลุ่มอาหารสดมาร์จิ้นสูงที่เพิ่มขึ้นจะไม่สามารถชดเชยอัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A ต่อยอดขายที่สูงขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากการปรับปรุงร้านสำหรับธุรกิจ O2O และต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงขึ้น

 

ส่วนธุรกิจ B2C (ธุรกิจค้าปลีก, Lotus’s) กำไรปกติคาดว่าจะอยู่ที่ 350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%YoY และ 19%QoQ กำไรปกติที่เพิ่มขึ้น YoY จะได้รับการสนับสนุนจากยอดขายและ EBIT Margin ที่สูงขึ้น ซึ่งจะมากเกินพอชดเชยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยคาดว่ารายได้รวมใน 1Q66 จะเติบโต 5%YoY โดยรายได้จากการขายปลีกจะเติบโต 3%YoY (SSS เติบโต 2%YoY) และรายได้ค่าเช่าจะเติบโต 30%YoY 

 

EBIT Margin มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น 50 bps YoY เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมที่ดีขึ้น (มาร์จิ้นที่ดีขึ้นในธุรกิจให้เช่าอันเป็นผลมาจากอัตราการเช่าพื้นที่และอัตราค่าเช่าที่สูงขึ้น จะมากเกินพอชดเชยมาร์จิ้นที่ลดลงในธุรกิจค้าปลีกอันเป็นผลมาจากการมียอดขายสินค้ากลุ่มอาหารแห้งมาร์จิ้นต่ำเพิ่มขึ้น) 

 

และรายได้อื่นที่สูงขึ้นจะมากเกินพอชดเชยอัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A ต่อยอดขายที่สูงขึ้น ซึ่งหลักๆ เกิดจากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.75 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 30%YoY แต่ทรงตัว QoQ โดยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น YoY เกิดจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐที่ปรับขึ้นมาก

 

นอกจากนี้ ความคืบหน้าในการรีไฟแนนซ์หนี้ในเดือนเมษายนใน 1H66 MAKRO ตั้งเป้ารีไฟแนนซ์เงินกู้ส่วนที่เหลืออีก 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.7 หมื่นล้านบาท) ต้นทุนทางการเงิน ~7.0% ต่อปี (LIBOR+1.95%) และเงินกู้ 1.75 หมื่นล้านบาท ต้นทุนทางการเงิน ~4.7% ต่อปี (MLR-2.25%) ให้แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (MAKRO ถือหุ้น 99.9%) ได้ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อออกหุ้นกู้ 5 ชุด อัตราดอกเบี้ย 2.8-4.15% ต่อปี และอายุ 1.5-10 ปี 

 

โดยจะทราบจำนวนหุ้นกู้ที่ออกครั้งสุดท้าย ซึ่งประเมินอย่างคร่าวๆ ได้ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท (ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด) และต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการจองซื้อในวันที่ 17-19 เมษายน เมื่อใช้สมมติฐานว่าต้นทุนทางการเงินของหุ้นกู้ชุดใหม่อยู่ที่ 3.5% ต่อปีโดยเฉลี่ย (ในกรณีที่หุ้นกู้มีน้ำหนักเท่ากันในแต่ละชุด)

กำไรของ MAKRO จะปรับขึ้นได้อีก ~600 ล้านบาทต่อปี (ช่วยหนุนให้กำไรเติบโต 8% จากฐานกำไรปี 2565) เพราะประหยัดต้นทุนดอกเบี้ย (หลังภาษี) ได้จากการรีไฟแนนซ์หนี้

 

แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:

สำหรับปี 2566 คาดว่ากำไรปกติจะเติบโต โดยเกิดจากยอดขายและมาร์จิ้นที่ดีขึ้น และการผนึกกำลังทางธุรกิจมากขึ้น การรีไฟแนนซ์หนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐเสร็จในปี 1H66 จะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น

 

ขณะที่ 2Q66 คาดว่ากำไรปกติจะเติบโต YoY เนื่องจากยอดขายปลีกและรายได้ค่าเช่าที่ดีขึ้นจะมากเกินพอชดเชยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่จะลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล

 

อย่างไรก็ดี ปัจจัยกระตุ้นในระยะถัดไปคือ การรีไฟแนนซ์หนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐเสร็จจากการออกหุ้นกู้สกุลบาทในเดือนเมษายน ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับลดลงจาก 4.7-7.0% ต่อปี สู่ 2.8-4.15% ต่อปี และจะช่วยขจัดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น โดยกลยุทธ์การลงทุนให้เรตติ้ง Outperform สำหรับ MAKRO ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 อ้างอิงวิธี DCF (WACC 7% และอัตราการเติบโตระยะยาวที่ 2.5%) ที่ 46 บาทต่อหุ้น

 

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ต้องติดตามคือ การเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังซื้อและต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising