×

KTC – เติบโตเล็กน้อยและมีแรงกดดันด้านกฎระเบียบ

07.12.2023
  • LOADING...

เกิดอะไรขึ้น:

 

บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) คาดว่าสินเชื่อจะเติบโตมากกว่า 10% ในปี 2566 (เพิ่มขึ้น 10%YoY ใน 9M66) แต่ต่ำกว่าเป้าที่บริษัทวางไว้ที่ 15% สำหรับปี 2567 บริษัทตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 10% InnovestX Research ปรับประมาณการการเติบโตของสินเชื่อปี 2566 และปี 2567 ของ KTC ลดลงปีละ 1 ppt สู่ 11% ในปี 2566 และ 10% ในปี 2567 เพื่อสะท้อนเป้าหมายล่าสุดของบริษัท 

 

โดยการเติบโตที่พลาดเป้าหลักๆ เกิดจากสินเชื่อจำนำทะเบียน (KTC พี่เบิ้ม) เนื่องจากการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มเป้าหมายต่ำ บริษัทคาดว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจะเติบโต 12-13% ในปี 2566 (เพิ่มขึ้น 13.7% ใน 9M66) และตั้งเป้าเติบโต 15% ในปี 2567 บริษัทคาดว่าสินเชื่อส่วนบุคคล (KTC PROUD) จะเติบโตตามเป้าที่ 7% ในปี 2566 (เพิ่มขึ้น 6.2%YoY ณ 3Q66) และตั้งเป้าเติบโต 5% ในปี 2567 ยอดปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถ (KTC พี่เบิ้ม) ใหม่คาดว่าจะอยู่ที่ 2.6-2.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ต่ำกว่าเป้าที่บริษัทวางไว้ที่ 9 พันล้านบาทค่อนข้างมาก แต่บริษัทหวังว่าจะเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดเป็น 6 พันล้านบาทในปี 2567

 

ในปี FY2567 คาดว่า NIM ของ KTC จะได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวของ ธปท. เพื่อแก้ปัญหาหนี้เรื้อรัง (PD, ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) สำหรับลูกหนี้ที่มีรายได้น้อย (รายได้ต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาทสำหรับนอนแบงก์ และ 20,000 บาทสำหรับธนาคารพาณิชย์รวมถึงนอนแบงก์ภายใต้การกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารพาณิชย์) โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ลูกหนี้ที่มีหนี้เรื้อรังจะได้รับทางเลือกในการเปลี่ยนสินเชื่อหมุนเวียนมาเป็นแบบมีระยะเวลา (Term Loan) และคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี (เทียบกับอัตราเพดาน 25%) โดยจะกำหนดให้การผ่อนชำระสามารถปิดจบภายใน 5 ปี 

 

หากลูกค้าที่เข้าเกณฑ์ทุกรายเข้าร่วมมาตรการแก้หนี้เรื้อรัง KTC ประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของบริษัทประมาณ 18 ล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากลูกหนี้ที่เลือกเข้าร่วมเข้ามาตรการแก้หนี้เรื้อรังจะถูกแจ้งต่อเครดิตบูโร ดังนั้นลูกค้าที่เข้าเกณฑ์บางรายอาจจะไม่เข้าร่วมมาตรการดังกล่าว แรงกดดันจากมาตรการแก้หนี้เรื้อรังและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้คาดว่า NIM จะลดลง 21 bps ในปี 2567 (เทียบกับ -11 bps ในปี 2566)

 

ส่วนคุณภาพสินทรัพย์มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการทยอยปรับเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิต โดยคาดว่า Credit Cost จะเพิ่มขึ้นในปี 2567 และปี 2568 หลังจากมีการปรับเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตจาก 5% ในปี 2566 สู่ 8% ในปี 2567 และ 10% ในปี 2568 Credit Cost ที่ต่ำผิดปกติในปี 2563-2566 ของ KTC อาจเกิดจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้และนโยบายปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งคาดว่า Credit Cost จะเพิ่มขึ้นจาก 5.5% ในปี 2566 (เพิ่มขึ้น 43 bps QoQ ใน 4Q66) สู่ 5.75% ในปี 2567 และ 6% ในปี 2568

 

กระทบอย่างไร:

 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น KTC ปรับขึ้น 1.08%MoM สู่ระดับ 46.75 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลง 1.95%MoM สู่ระดับ 1,389.55 จุด 

 

แนวโน้มผลประกอบการ 4Q66-2567:

 

ใน 4Q66 คาดว่ากำไรของ KTC จะลดลง 1%QoQ (รายได้ที่ดีขึ้นจะถูกหักล้างโดย ECL และ OpEx ที่สูงขึ้น) แต่จะเพิ่มขึ้น 8%YoY (รายได้ดีขึ้น) และคาดว่ากำไรจะเติบโตเล็กน้อยที่ 5% ในปี 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากสินเชื่อที่เติบโต 10%NIM ที่แคบลง และ Credit Cost ที่สูงขึ้น

 

InnovestX Research ยังคงเรตติ้ง Underperform สำหรับ KTC และคงราคาเป้าหมายไว้ที่ 44 บาทต่อหุ้น (PBV ปี 2567 ที่ 2.8 เท่า) เนื่องจากมองว่า Valuation แพง

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์จากการทยอยปรับเพิ่มอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับบัตรเครดิตจาก 5% สู่ 8% ในปี 2567 และ 10% ในปี 2568 และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง, ความเสี่ยงด้าน NIM จากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก และมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนของ ธปท.

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X